Quantcast
Channel: ประชาชื่น –มติชนออนไลน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 6405

“ตักกุ้ง”ทาง”ตัวเลข”

$
0
0

คลิปวิดีโอกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนรุมแย่งตักกุ้งในบุฟเฟต์ ชนิดใครดูต้องอุทานปนขำ ใครซีเรียสอาจมองเชิงลบ และวิจารณ์ถึงความไม่มีระเบียบวินัยของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีข่าวมาเสิร์ฟรายวันเสมอ

กรณี “ตักกุ้ง” มีนักวิเคราะห์ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง หลายคนอธิบายถึงบริบทโครงสร้างดั้งเดิมของจีนที่มีการบริหารทรัพยากรในประเทศลักษณะ “กระจายไม่ทั่วถึง” ส่งผลให้เกิดการแย่งชิง ลัดคิว กักตุน ฯลฯ

กระทั่งถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ชาวจีนเขยิบสู่การเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น ทำให้ออกมาเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

ถัดจากบริบทประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม มามองในบริบท “เศรษฐศาสตร์” กันบ้าง

ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเป็นหนึ่งในตัวเลขสำคัญของจีดีพีโลก

ตัวเลขธุรกิจรวมการท่องเที่ยวของโลก คิดเป็น 10% ของจีดีพีโลก หรือ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขปี 2014) และจีน ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก เป็นเจ้าของตัวเลขส่วนแบ่งที่สูงมากในห้วง 10 ปีมานี้ โดยมีชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศเพิ่มขึ้น 17% รวมเดินทาง 120 ล้านทริปในปี 2558

ตัวเลขนี้เย้ายวนให้แม้แต่ประเทศตะวันตกก็หวังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนักท่องเที่ยวจีน อาทิ แคนาดา สหรัฐ อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

เอ่ยแบบนี้ไม่ได้หมายถึงเอาตัวเลขนำจนส่งผลกระทบ แต่วิธีการที่หลายคนเสนอคือ “การบริหารจัดการ” นักท่องเที่ยวจีน

หลายประเทศในอาเซียน อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ต่างมีตัวเลขรายได้ด้านการท่องเที่ยวที่สัดส่วนโดยมากมาจากนักท่องเที่ยวจีน ไม่ต่างจากไทย

แต่ทุกประเทศเหล่านี้มีปัญหาแบบเดียวกัน

ที่หนักมากคือ ฮ่องกง ที่แม้เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่เกาะเล็กขนาดประชากร 4 ล้านคน ต้องรับชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ข้ามเข้ามาปีละ 40 ล้านคน คาดกันว่าภายในปี 60 จะเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี!!

หลายคนกังวลว่ากรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ จะแออัดด้วยนักท่องเที่ยวจีนจนเกินรับ และเกิดสภาพแบบฮ่องกง คือ มีความแออัดทั้งระบบขนส่งมวลชน การเข้ามากว้านซื้อสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ตจนสินค้าขาดแคลน รูปแบบร้านค้าที่เน้นไปตอบสนองนักท่องเที่ยวแทนคนในพื้นที่

แต่ฮ่องกงมีวิธีบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่ข้อเสนอให้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ไม่ปล่อยเสรี แต่ที่เป็นรูปธรรมคือ กระจายนักท่องเที่ยวออกไปไปพื้นที่รอบนอก ไม่กระจุกตัวในใจกลาง อาทิ สร้างโรงแรมนอกเมือง ห้างสรรพสินค้ารอบนอก

เป็นภาพใหญ่ของการบริหารจัดการ นักท่องเที่ยวจีน ที่เรายังหวังพึ่งพิงทาง “ตัวเลข”

บ้านเราหากเอาเรื่อง คลิปตักกุ้งเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่ ควรใช้คลิปนี้มาเป็นอุทาหรณ์สร้างการบริหารจัดการ เริ่มจากจุดเล็กๆ คือการจัดระเบียบทัวร์จีนให้ได้ แค่บังคับให้ต้องเข้าแถว มีคนตักกุ้งให้ สร้างระเบียบขึ้นมาคลุมให้มากที่สุด

จากนั้นมองภาพใหญ่ว่าจะวางระบบ รับมือบริหารจัดการนักท่องเที่ยวจีนอย่างไร ให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพ กระทบคนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด ไม่ใช่ให้ท้องถิ่นหาวิธีตั้งรับกันแบบสุดโต่งจนดูเป็นการรังเกียจเดียดฉันท์

แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นภาพเชิงรุกนั้นชัดๆ เท่านั้นเอง…

The post “ตักกุ้ง”ทาง”ตัวเลข” appeared first on มติชนออนไลน์.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 6405