มันง่ายที่จะพูดว่า “ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไป” และง่ายที่จะยอมรับว่า “ความเปลี่ยนแปลง” คือความเป็นจริง
“ที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน” นั้นเป็นสัจธรรม ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจได้
ที่มักจะเป็นปัญหาคือ แม้คิดว่าตัวเองเข้าไปและยอมรับความเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่การดำเนินชีวิตไปตามความเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยเกิดขึ้น
เคยได้ยินคำเช่นนี้หรือไม่ “เด็กสมัยนี้มันแย่กว่าสมัยก่อน” ตามด้วยข้อตำหนิมากมาย อย่าง “ไม่มีความมานะพยายามเอาเสียเลย-กิริยามารยาทใช้ไม่ได้” หรืออื่นๆ อีกมากมาย
นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการเรียนรู้มาอย่างขึ้นใจว่าสรรพสิ่งยอมเปลี่ยนไป แต่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง
เห็นความเปลี่ยนแปลง เวลา วัน เดือน ปี ได้ง่าย แต่เห็นในยุคสมัยได้ยากกว่า
ดังนั้น จึงไม่ค่อยรู้ตัวว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การไม่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงย่อมเสี่ยงต่อการอยู่ไม่รอด
สินค้าหลายชนิดหายไปจากตลาด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่นานคือสินค้ายอดนิยม
โทรศัพท์โนเกียคือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาพูดถึงการเสนอ
เพราะผู้บริหารไม่เชื่อว่า มนุษย์จะพูดคุยกันน้อยลง จะสื่อสารกันในโลกออนไลน์มากขึ้น
โทรศัพท์ที่เขียนข้อความเพื่อแชตถึงกันได้ จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมมากกว่า
เพราะไม่เชื่อว่ามนุษย์จะลดความสำคัญของการพูดด้วยปาก มาเป็นการเขียน ทำให้ผู้บริหารโนเกียหลุดจากโลกของอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งที่ก่อนหน้านั้น โนเกียคือเจ้าตลาด
อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่เป็นห่วงเด็กๆ ที่เอาแต่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืน เล่นเกม สื่อสารออนไลน์ วันๆ ก้มหน้าอยู่แต่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน ไม่ใส่ใจที่จะเงยหน้าขึ้นมาพูดคุยกับผู้กับคน อยู่กับสังคมก้มหน้าแทบทุกเวลา ทุกสถานที่
เป็นห่วงกันมากว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่สื่อสารกับโลกของความเป็นจริงได้ เงยหน้าขึ้นมาเจอคนเป็นๆ แล้วไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะชินกับการแชตหน้าจอ จนน่าจะลืมเลือนวิธีสื่อสารด้วยการพูด
เป็นห่วงว่าเด็กๆ ที่เติบโตมาด้วยพฤติกรรมอย่างนี้จะไม่มีสังคมที่เป็นจริง
“จะทำมาหากินกันได้อย่างไร หากไม่รู้จักวิธีวิสาสะกับคนอื่น”
แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้กันมาตลอด
แต่ถึงวันนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว สังคมไม่ใช่อยู่ได้เพราะการพูดคุยกันด้วยปากอีกต่อไป
เมื่อพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เป็นเช่นนั้น การสื่อสารก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรับกระแสของส่วนใหญ่นั้น
จะพบว่า “ค่าตัว” ของ “มนุษย์ก้มหน้า” เริ่มชัดว่ามากกว่ามนุษย์ที่พูดเก่งๆ ก่อนหน้านั้น
เมื่อผู้คนในสังคมส่วนใหญ่เอาแต่ “ก้มหน้า” นักขายสินค้าจำต้องสนองสังคมแบบนั้น การออกแบบวิธีการขายผ่านโลกออนไลน์ทำให้ตลาดเปลี่ยนไป
ใครมีความเชี่ยวชาญในสังคมออนไลน์มากกว่า ทั้งเรื่องการสื่อสาร และการอ่านรสนิยมของคนใน “สังคมก้มหน้า” คนนั้นเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า
เด็กคนที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายเอาแต่เป็นห่วง เพราะไม่ยอมสังคมเสวนากับใคร วันนี้อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจออนไลน์
สังคมเปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์รูปแบบใหม่
สังคมปรับตัวไปตามพฤติกรรมของคนแต่ละยุค
เพราะเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง ที่มนุษย์บางจำพวก ทั้งที่ผ่านโลกมามาก สมควรจะต้องเข้าใจว่าทุกสิ่งอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีใครหยุดยั้งได้
แต่เพราะคนพวกนี้ไม่รู้ตัวเองว่ามีพฤติกรรมฝืนความเปลี่ยนแปลง ยังหลงอยู่กับคุณค่าเก่าๆ โดยไม่รู้ตัวเองว่าโลกไม่มีทางหยุดรอ
พยายามบังคับให้คนยุคใหม่ต้องรับคุณค่าแบบเก่าๆ
ยึดถือเอาการฝืนโลกเป็นภารกิจยิ่งใหญ่
น่าเศร้าที่คนแบบนี้ไม่มีทางมองเห็นว่า เป็นภารกิจที่มีความล้มเหลวรออยู่ข้างหน้า
ความเปลี่ยนแปลงของโลกและยุคสมัยมีพลังเกินกว่าจะหยุดยั้ง
คนที่หลับหูหลับตาฝืนความเป็นไปที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย มีแต่ต้องเผชิญความขึงเครียด
และที่สุดแล้วจะจบลงด้วยความเจ็บปวด
The post ฝืนความเปลี่ยนแปลง appeared first on มติชนออนไลน์.