Quantcast
Channel: ประชาชื่น –มติชนออนไลน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 6405

กลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่า กับความสำเร็จที่เริ่มจาก’ศูนย์’

$
0
0

“ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นพิภพนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ประชากรของโลกได้เพิ่มจำนวนอย่างมากมายและรวดเร็ว ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดการขาดแคลน และทำให้การดำเนินชีวิตในโลกใบนี้ยากลำบากขึ้นทุกวัน ภาวะเช่นนี้มิใช่จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว หากแต่จะต้องเป็นไปโดยตลอด และอาจทวีความรุนแรงขึ้นต่อไป… ต่างฝ่ายตั้งใจที่จะค้ำจุนกัน ช่วยเหลือคนละไม้ละมือ ก็พอที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสะดวกสบาย”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับการอนุรักษ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2518

การเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้ทรงเห็นสภาพชีวิตที่ยากลำบากของประชาชนโดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร และเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรดีขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริ

pra01030559p35555

ปัจจุบันโครงการพระราชดำริกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ชั้นเยี่ยมที่ได้รับการยอมรับและการยกย่องจากนานาประเทศ เพราะแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงริเริ่มไว้ ควรค่าแก่การศึกษา เผยแพร่ และสานต่อ เป็นประโยชน์กับทุกคนหากรู้จักนำแนวคิดไปปรับใช้

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หรือทีเส็บ จึงร่วมกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) จัดโครงการ “ประชุมเมืองไทย อิ่มใจ ตามรอยพระราชดำริ” เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติทั้งสองพระองค์และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมหลังการประชุม (Post tour) โดยการไปศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้องค์กรต่างๆ น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในการทำงานหรือชีวิตประจำวัน

02

ภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ ทีเส็บ อธิบายว่า โครงการชวนประชุมเมืองไทยฯ เป็นการชวนไปศึกษาดูงาน ณ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ เฉลิมฉลองวาระมหามงคล 2559 ปีแห่ง “3 ปีติ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 70 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา และปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

ครั้งนี้ เราได้ร่วมเดินทางไปดูการเพาะและขยายพันธุ์หอยตลับที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์, การทอผ้าฝ้ายชั้นดีของศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์หน้าตาร่วมสมัยของศูนย์การเรียนรู้ป่านศรนารายณ์ จ.เพชรบุรี

แม้เป็นกิจกรรมสั้นๆ แต่ก็อัดแน่นด้วยความรู้ และยังอิ่มใจที่ได้สานต่อพระราชปณิธานของทั้งสองพระองค์ในการดำเนินแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรอย่างยั่งยืน

“ทีเส็บคาดหมายว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ภายในประเทศในปีงบประมาณ 2559 ให้เติบโตขึ้นทั้งด้านปริมาณและรายได้ประมาณร้อยละ 5 หรือคิดเป็นนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 24 ล้านคนซึ่งทำรายได้ 47,000 ล้านบาท” ภูริพันธ์กล่าว

โครงการที่น่าประทับใจเพราะเริ่มต้นจากศูนย์คือ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า

กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมจากการทอผ้าฝ้ายด้วยกี่กระตุก เพราะช่วงมรสุมที่มีคลื่นลมแรงนั้น ชาวประมงในหมู่บ้านที่มีอาชีพประมงเรือเล็กไม่สามารถออกหาปลา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงชักชวนให้หญิงชาวบ้านหัดทอผ้าฝ้ายเพื่อเป็นอาชีพเสริม จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาครูจากราชบุรีมาสอนทอผ้า ย้อมสี ออกแบบลายผ้า การตัดเย็บ พร้อมจัดหาอุปกรณ์ทอผ้าแลเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงสอนการจักสานจากป่านศรนารายณ์ อาศัยใต้ถุนศาลาวัดเขาเต่าในการฝึกทอ นับตั้งแต่ พ.ศ.2508 ลูกหลานชาวประมงบ้านเขาเต่าจึงได้เริ่มต้นอาชีพทอผ้า

ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมให้แก่ราษฎรแห่งแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงริเริ่มขึ้น

ระยะแรกเริ่มจากการทอผ้าขาวม้าและผ้าซิ่น กิจการดำเนินไปได้ดีพอสมควร ทว่าเมื่อถึง พ.ศ.2536 ได้หยุดการทอผ้าด้วยเหตุหลายประการ อาทิ ค่าแรงไม่เพียงพอ ปัญหาด้านการตลาด กระทั่ง พ.ศ.2545 นักเรียนทอผ้ารุ่นแรก นำโดย อมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานกลุ่ม ได้รวบรวมเพื่อนรุ่นเดียวกันที่แยกย้ายกันไปทำงานที่อื่นให้กลับมาทอผ้าอีกครั้ง

ขณะนั้นอมลวรรณในวัย 15 ปีก็เช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่นในหมู่บ้านที่ไร้ทักษะการทอผ้า รู้จักแต่อาชีพที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษคือประมงเรือเล็ก แต่เมื่อเธอตั้งใจและทุ่มเทกับ “อาชีพพระราชทาน” เธอจึงกลายเป็นหนึ่งในนักเรียนที่มีความขยันหมั่นเพียร ได้รับพระราชทานรางวัลเหรียญทองคำจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

อมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์
อมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์

อมลวรรณบอกว่า กลับมาฟื้นฟู “อาชีพพระราชทาน” เพราะเห็นว่าศูนย์ฝึกอบรมทอผ้าถูกทิ้งให้ร้าง ไม่มีใครดูแล จึงรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในขณะนั้น ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหัวหิน เทศบาลเมืองหัวหิน ได้พัฒนาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารทอผ้า อาคารจำหน่ายสินค้า และได้รับความอนุเคราะห์จากอุตสาหกรรมภาคที่ 8 นำอาจารย์มาสอนการทอผ้า

ยกดอกซึ่งมีความยากมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการทอผ้ามากขึ้น สร้างรายได้กับสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว ทั้งยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติอยู่เสมอ

“ท่านเห็นว่าประชาชนยากจนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงเรือเล็กซึ่งในฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรงก็จะไม่มีรายได้ พระองค์จึงอยากให้มีอาชีพเสริม โดยจัดหาครูมาสอน เพราะบรรพบุรุษของคนในชุมชนไม่เป็นเลยเรื่องการทอผ้า

“ช่วงแรกที่ชาวบ้านเขาเต่าเริ่มทำนั้นหาตลาดยาก มีช่วงที่คิดจะเลิก เพราะการทำงานรูปแบบกลุ่มนั้นเป็นงานยาก แต่ก็ทำเพื่อพระองค์ท่าน พยายามสานของพระองค์ให้ดีที่สุด เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯเยี่ยม มีพระดำรัสว่า ‘เขาพัฒนาแล้วนะ ทำลายสวย’ และเนื่องจากเป็นโครงการแรกของพระองค์ คิดว่าต้องสู้สุดใจ เป็นกำลังใจให้กันและกัน ที่พระองค์พระราชทานอาชีพแก่ประชาชน

“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากฝ้ายของกลุ่มมี 2 ชนิดคือ ผลิตภัณฑ์จากฝ้ายธรรมดากับผลิตภัณฑ์จากฝ้ายขัดมัน มีลักษณะคล้ายไหมคือมีความมัน เงากว่าฝ้ายทั่วไป ส่วนลายที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มคือ ‘ลายเต่า’ เราผลิตลักษณะกึ่งโรงงาน มีออเดอร์เข้ามาทุกเดือนซึ่งแต่ละเดือนไม่แน่นอน เฉลี่ยรายได้อยู่ระหว่าง 7,000-12,000 บาทต่อคนต่อเดือน กลุ่มอยู่ได้เพราะความซื่อสัตย์ของลูกค้าและด้วยคุณภาพของผ้า” อมลวรรณทิ้งท้าย

ปัจจุบันกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่านั้นมีหลากหลาย ได้แก่

1) ผ้าขาวม้าจากลายสก๊อตใหญ่ก็เปลี่ยนให้เป็นลายที่ทันสมัย ลูกค้าสามารถนำไปตัดเสื้อผ้า กระเป๋า และของตกแต่งบ้านนอกเหนือจากเป็นผ้าขาวม้า

2) ผ้าเมตรตัดเสื้อ มีทั้งลายผ้าและสีพื้น

และ 3) ผ้ายกดอก จากเดิมมี 3 ลายคือ ลายบานชื่น ลายดาหลา และลายแก้วสุวรรณสาร ขณะนี้มีการเพิ่มอีก 3 ลายคือ ลายเต่า ลายสี่ทิศ และลายดอกเกศ ซึ่งเป็นลวดลายที่เน้นจุดเด่นของชุมชนและจังหวัด กระทั่งได้ผ่านมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ผ่านการคัดสรรผลิตภัณฑ์โอท็อป ได้รางวัลโอท็อป 5 ดาวทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ และมีการพัฒนาเส้นฝ้ายธรรมชาติให้เป็นฝ้ายขัดมัน ที่มีลักษณะเส้นเล็ก ไม่มีขน และมีความมันเหมือนไหม ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือ สีไม่ตก ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ปัจจุบันยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาหาความรู้ในเรื่องการทอผ้า และสอนการทอผ้าให้กับนักเรียนชั้น ป.4-6 และชุมชน เปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาชมการทอผ้าตลอดทั้งปี เฉลี่ยเดือนละ 1,000-2,000 คน โดยในอนาคตจะมีการต่อยอดสู่กลุ่มเครือข่ายที่มีฝีมือด้านการทอผ้า เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการตลาดอีกด้วย

pra01030559p355552554

ระหว่างที่เดินชมผลิตภัณฑ์สายตาก็สะดุดกับเด็กหนุ่มร่างเล็กที่กำลังทอผ้าอยู่ที่กี่ตัวเขื่องอย่างขะมักเขม้น

ด.ช.นพดล ช่อจันทร์ หรือ “เงิน” ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนวังไกลกังวล บอกว่า สนใจและมาเรียนตั้งแต่อยู่ ป.4 โรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า

“ได้เรียนรู้ทักษะการทอผ้าเบื้องต้น ตั้งแต่การเหยียบกี่ การกระตุก การใส่กระสวย ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนที่มาจะทอลายพื้น หากฝีมือยังไม่ดีพอจะเจอปัญหาอย่างเส้นด้ายขาด ผ้าไม่สวย ส่วนผ้าที่ทอเสร็จแล้วนั้นผมเอาไปให้โรงเรียนไว้ตัดชุดสำหรับการแสดงของนักเรียน

“นอกจากทักษะการทอผ้าที่ได้รับและได้เพื่อนเพิ่มแล้ว การทอผ้ายังช่วยให้ใจเย็น มีสติ มีสมาธิ เพราะกว่าด้ายแต่ละเส้นจะประสานเป็นผ้าผืนงามได้นั้นต้องอาศัยความใจเย็นอย่างมาก” ด.ช.นพดลทิ้งท้าย

กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จที่เริ่มจากศูนย์ ล้มลุกคลุกคลาน ฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรค กระทั่งบรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจได้อย่างสวยงาม

The post กลุ่มสตรีทอผ้า บ้านเขาเต่า กับความสำเร็จที่เริ่มจาก’ศูนย์’ appeared first on มติชนออนไลน์.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 6405

Trending Articles