เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนไปทั่วเกาะอังกฤษและวงการฟุตบอลทั่วโลก กับการขึ้นเถลิงบัลลังก์แชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษของ “เลสเตอร์ ซิตี้”
พาดหัวข่าวของแต่ละสำนักยกย่องให้ชัยชนะของพวกเขาเป็นเรื่อง “มหัศจรรย์” เป็นชัยชนะที่ไม่มีใครคาดคิดคาดฝันว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะในตอนต้นฤดูกาล อัตราการต่อรองการเป็นแชมป์ของพวกเขาอยู่ที่ 5,000 ต่อ 1 เท่านั้น
พูดง่ายๆ คือทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า “เป็นไปไม่ได้”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้คือการที่ทีมของ วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของธุรกิจ “คิง เพาเวอร์” กลับเดินหน้าคว้าชัยอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด
ด้วยงบประมาณที่ไม่อาจเทียบได้กับทีมยักษ์ใหญ่ นักเตะในทีมแทบไม่เป็นที่รู้จัก แต่ทั้งหมดกลับสร้างสรรค์ผลงานสุดอลังการชนิดหักปากกาเซียนหลายต่อหลายนัด
ก่อนที่ปิดท้ายจะคว้าแชมป์ไปได้อย่างยิ่งใหญ่ราวกับ “เทพนิยาย”
ทั้งหมดเกิดเป็นคำถามต่อปรากฏการณ์นี้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบเพื่อถอดบทเรียนนี้ และชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ได้รับจากปรากฏการณ์ “เลสเตอร์ ซิตี้”
ได้ถูกรวบรวมเอาไว้ในบรรทัดถัดไป
กำเนิด “เลสเตอร์ โมเดล”
ทีมสปิริต และการจัดการทีมที่ลงตัว
“อันดับแรกผมคิดว่าเป็นเรื่องของทีมสปิริต”
นี่คือสิ่งที่ “เอก ฮิมสกุล” กูรูลูกหนัง เจ้าของดีกรีสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2006 แฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลโลก 2002 แฟนพันธุ์แท้ฟุตบอลยูโร 2004 ได้เริ่มต้นขึ้น
“นับตั้งแต่ช่วงปลายฤดูกาลที่แล้วที่ต้องหนีตกชั้นมาจนถึงฤดูกาลนี้ สิ่งที่เลสเตอร์แสดงให้เห็นอยู่ตลอดคือ ทีมสปิริต เรื่องของการช่วยกันวิ่งช่วยกันไล่”
“ทีมใหญ่ๆ บางทีเวลาเจอทีมสไตล์อย่างเลสเตอร์จะไม่ชอบเลย เพราะเล่นด้วยยาก และวิ่งไล่บี้กันทีไม่มีหมด”
เอกเสริมต่อว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่นักเตะหลักแต่ละคนมาอยู่ในฟอร์มสุดยอดพร้อมๆ กัน และในช่วงเวลาที่สำคัญนักเตะทุกคนก็ยังคงรักษามาตรฐานของตัวเองเอาไว้ได้ตลอด
ที่สำคัญคือ นักเตะสำคัญเหล่านี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหนักจนมาลงช่วยทีมไม่ได้อีกด้วย
“นักเตะอย่างริยาด มาห์เรซ ที่ดูอ้อนแอ้นหน่อย น้อยครั้งมากที่ไม่ได้ลงสนาม หรือเจมี วาร์ดี้ ที่วิ่งไล่บอล เข้าชนเข้าสกัดหนักๆ ตลอดแม้ว่าจะเป็นกองหน้าก็ไม่เจออาการบาดเจ็บเล่นงาน”
อีกหนึ่งปัจจัยคือ การดึง “เคลาดิโอ รานิเอรี่” ผู้จัดการทีมที่โชกโชนประสบการณ์เข้ามากุมบังเหียน
เอกเสริมว่า รานิเอรี่ถือว่าเป็นกุนซือที่เก่งคนหนึ่ง เพียงแต่เขาอาจจะโชคไม่ดีในช่วงที่ไปคุมทีมใหญ่ในยุโรป แต่การมาคุมเลสเตอร์ในครั้งนี้ถือว่าเขาได้ดึงเอาศักยภาพของนักเตะแต่ละคนออกมาได้เป็นอย่างดี
“ผมเคยสัมภาษณ์พูดคุยกับรานิเอรี่ในช่วงต้นฤดูกาลที่เลสเตอร์เริ่มชนะติดต่อกัน โดยถามเขาว่าปกติแล้วเรามักจะเห็นเขาคุมทีมโดยเน้นเกมรับเป็นส่วนใหญ่ แต่ทำไมเลสเตอร์ในช่วงนั้นถึงบุกแหลก เล่นบอลเร็ว”
“รานิเอรี่ตอบกลับมาว่า เขาจะจัดการวางระบบการเล่นของทีมโดยมองจากความเหมาะสมของนักเตะที่เขามี”
“คือเขาเห็นว่า นักเตะอย่างวาร์ดี้มีความเร็ว เขาก็เน้นวางบอลข้ามกองหลัง หรือริยาด มาห์เรซ ที่มีทักษะการเลี้ยงที่ดีก็จับไปยืนริมเส้น แต่เน้นให้ตัดเข้าในเพื่อที่จะยิงได้เลย”
ส่วนความรู้สึกที่เขาได้รับจากปรากฏการณ์นี้ เอกบอกว่า ส่วนตัวเขาประทับใจมากแม้ว่าเขาจะเป็นแฟนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ตาม
“ช่วงต้นฤดูกาลทีมรักของผมเล่นบอลได้น่าเบื่อ เน้นครองบอลเป็นหลัก พอมีโอกาสได้ดูเลสเตอร์ที่เล่นบอลได้น่าตื่นตาตื่นใจ ต่อบอล 3-4 จังหวะถึงหน้าประตู เหมือนอย่างแมนฯยูสมัยที่มีคริสเตียโน่ โรนัลโด้ อยู่ในทีม ดูแล้วสนุก เลยเอาใจช่วย เอาใจเชียร์”
เอกบอกว่า ความสำเร็จของเลสเตอร์ยังเป็นนิมิตหมายอันดีต่อวงการฟุตบอล เป็น
“เลสเตอร์โมเดล” ให้ทีมอื่นๆ เห็นว่าพวกเขาก็สามารถเป็นแชมป์ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนมหาศาลเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
“ฟุตบอลอังกฤษจะมีความตื่นเต้นมากขึ้น ต่อจากนี้จะไม่มีบิ๊กโฟร์ บิ๊กไฟว์ แต่ทีมอื่นๆ ก็คิดว่าตัวเองสามารถลุ้นแชมป์ได้ทั้งหมดจากสิ่งที่เลสเตอร์โมเดลได้สร้างเอาไว้” เอกทิ้งท้าย
แรงบันดาลใจของวงการฟุตบอล
พิสูจน์ว่า เงินไม่ได้การันตีความสำเร็จ
ด้าน วโรดม ปัญจวัฒนา หรือ “ต้น” แฟนพันธุ์แท้ลิเวอร์พูลคนล่าสุด กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเลสเตอร์ คือการเริ่มต้นได้ดีและไร้แรงกดดัน
“คือเลสเตอร์เริ่มต้นแบบไม่มีใครคาดหวัง แต่เริ่มต้นได้ดีมาก พอผ่านครึ่งฤดูกาลมา คู่แข่งแต่ละทีมดันตกม้าตายกันหมดอีก ความกดดันไม่มี แถมความมั่นใจยังมา”
ต้นเสริมต่อว่า อีกหนึ่งความดีความชอบต้องยกให้ทีมงานและแมวมองของทีม ที่เลือกซื้อนักเตะได้ในราคาที่เหมาะสม แถมซื้อมาแล้วสามารถใช้งานได้ในทันทีอีกต่างหาก
โดยเฉพาะ “สตีฟ วอล์ช” ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ที่เป็นผู้ค้นพบทั้ง ริยาด มาห์เรซ, เจมี่ วาร์ดี้, เอ็นโกโล่ ก็องเต้ 3 นักเตะคนสำคัญของทีมในฤดูกาลนี้
ต้นกล่าวอีกว่า ฤดูกาลหน้าจะเป็นปีที่ยากลำบากของเลสเตอร์อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไปคือจะต้องรักษามาตรฐานเดิมให้ได้นานที่สุด
“ปีหน้าคงเป็นแบบนี้ได้ยากนะ เพราะใครเจอเลสเตอร์คงเน้นเกมรับก่อนแน่นอน ที่สำคัญเลสเตอร์ไม่ใช่ทีมใหญ่ที่มีแม่เหล็กในการดึงดูดนักเตะให้อยู่กับทีมต่อได้ในระยะยาว โดยเฉพาะนักเตะที่เริ่มดังขึ้นมาแล้วอย่างมาห์เรซ และก็องเต้”
“ประเด็นที่อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือ นักเตะแกนหลักหลายคนเริ่มมีอายุมาก ไม่ว่าจะเป็นเวส มอร์แกน กัปตันทีมในวัย 32 ปี หรือกองหน้าตัวความหวังอย่างเจมี่ วาร์ดี้ ฤดูกาลหน้าก็จะมีอายุ 30 ปี”
“ดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือจะต้องรักษาแกนหลักไว้ต่อไปให้ได้ และหาตัวแทนเอาไว้ด้วย เพื่อความสำเร็จในระยะยาว”

ส่วนความสำเร็จของเลสเตอร์ ซิตี้ นั้น ต้นมองว่าเป็น “แรงบันดาลใจ” แก่วงการฟุตบอลทั่วโลก และทำให้เห็นว่าเงินไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ทีมฟุตบอลประสบความสำเร็จไปทั้งหมด
“สิ่งที่เลสเตอร์ทำได้ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งวงการ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะในทีมเล็กๆ ว่าพวกเขาก็มีความหวัง”
“และแม้ว่าเงินจะทำให้ประสบความสำเร็จ แต่ไม่สามารถสร้างความประทับใจแบบนี้ได้” ต้นทิ้งท้าย
เจาะลึกแผนการเล่นกับนักรัฐศาสตร์
รูปแบบ”สวนกลับ”ที่ตั้งคำถามกับ”บาร์ซาสไตล์”
เป็นอีกหนึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้ชื่นชอบวงการลูกหนังเป็นพิเศษ ตฤณ ไอยะรา ซึ่งได้กล่าวว่า ความอัศจรรย์ของ “จิ้งจอกสยาม” ในฤดูกาลอยู่ในระดับที่เทียบเท่าหรือมากกว่า น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ หรือ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดชนิดเหลือเชื่อเช่นเดียวกัน
“ที่ดูอัศจรรย์มากกว่าเป็นเพราะทั้งสองทีมล้วนกุมบังเหียนด้วยกุนซือที่เคยเป็นผู้ชนะแชมป์ลีกมาก่อน ไม่ใช่ ‘คนคิดมาก’ อย่างเคลาดิโอ รานิเอรี่ ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้จัดการทีมที่ไม่เด็ดขาด”
“อีกทั้งยังมีทีมที่ประกอบไปด้วยนักเตะที่สร้างชื่อติดทีมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ ซิลตัน ของเจ้าป่า หรือโคลิน เฮนดี้ ของกุหลาบไฟ ไม่ใช่ทีมที่มีนักเตะโนเนมหรือมีชีวิตค้าแข้งพเนจร อย่างแคสเปอร์ ชไมเคิล, เจมี่ วาร์ดี้, ริยาด มาห์เรซ หรือเอ็นโกโล่ ก็องเต้”

ตฤณกล่าวอีกว่า นอกจากนี้เลสเตอร์ยังมีการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลและวิเคราะห์แผนการเล่น
“เจมี วาร์ดี้ กล่าวไว้ว่า รานิเอรี่จะดูคลิปผู้เล่นที่ต้องลงแข่งด้วยในการเจอสุดสัปดาห์มากกว่าห้าสิบครั้ง ก่อนเลือกคลิปประมาณสิบรายการให้นักเตะในทีมดูเป็นการเตรียมตัว หรือการใช้ไอแพดในการอธิบายแทคติค”
“ซึ่งแทคติคในสนามของเลสเตอร์ดูผิวเผินแล้วคือ วิธีการเล่นของทีมเล็กทั่วไป คือตั้งรับลึกและรอจังหวะสวนกลับ แต่เลสเตอร์มีความโดดเด่นจากทีมเล็กอยู่หลายประการ 1.การเปิดเกมโต้กลับที่รวดเร็วของแคสเปอร์ ชไมเคิล ผู้รักษาประตู 2.การตัดบอล (intercept) กลางสนามที่คิดเป็นอัตราสูงสุดของลีก”
“3.การใช้บอลยาวในการจู่โจมเข้าสู่พื้นที่ 20-30 หลาหน้าปากประตูฝั่งตรงข้าม (final third) อย่างรวดเร็ว 4.การตั้งรับในแนวลึกที่เปรียบเสมือนการล่อให้คู่ต่อสู้เสียหลุดจากคุ้มครองพื้นที่หน้าประตูเพื่อเปิดโอกาสในการเล่นโต้กลับด้วยความเร็ว และการช่วยเกมรับของนักเตะแนวรุก”
“ในสายตาผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลในต่างประเทศ วิธีการเล่นของเลสเตอร์ในฤดูกาลนี้ มีความคล้ายคลึงกับทีมแอตเลติโก้ มาดริด ที่กำลังลุ้นแชมป์ลาลีกา และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก”
นอกจากนี้ในแง่ของความเป็นทีม ตฤณอธิบายว่า นักเตะทุกคนพร้อมจะเล่นอย่างมีวินัยและทุ่มเท โดยเฉพาะในการรักษาผลต่างของสกอร์ หลังจากขึ้นนำแล้ว และนักเตะพร้อมจะใช้การบีบพื้นที่ระหว่างกองหลังและกองหน้าในระยะห่างเพียง 25 หลา
ซึ่งเป็นการปิดพื้นที่ในการทำเกมรุกอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะโต้กลับด้วยการจ่ายบอลไปให้แนวรุกที่มีความเร็วสูง
“ด้วยสไตล์การเล่นของเลสเตอร์จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เป็นทีมแชมป์ที่มีสัดส่วนการเล่นบอลสั้นและครองบอลที่น้อยกว่าทีมอื่น”
“เป็นการตั้งคำถามต่อวิธีการเล่นแบบ บาร์ซาแจ็กซ์ (Barcajax) ที่เน้นการครองบอลให้มากที่สุด และการลำเลียงบอลสั้นเพื่อสร้างโอกาสทำประตู” ตฤณทิ้งท้าย
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์จำนวนมากที่มีต่อความสำเร็จของ “เลสเตอร์ ซิตี้” ในฤดูกาลนี้
ส่วนฤดูกาลหน้า พวกเขาจะทำได้อีกครั้งหรือไม่
คงต้องติดตามกันต่อไปกันอย่างใจจดจ่อ
The post ถอดบทเรียน’เลสเตอร์ ซิตี้’ จากหนีตายรอดตกชั้น สู่การเถลิงบัลลังก์แชมป์ appeared first on มติชนออนไลน์.