พนมสารคาม บ้านดงยาง
พนมสารคาม (จ. ฉะเชิงเทรา) เป็นชื่อใหม่ตั้งขึ้นสมัย ร.4 เดิมน่าจะเขียนว่าพนมสาลคาม มาจากชื่อเดิมว่าบ้านดงยาง
คำว่า สาละ เป็นชื่อต้นไม้ชนิด Shorea robusta Roxb. ในวงศ์ Dipterocarpaceae.; วงศ์ยางนา ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับชื่อบ้านนามเมืองที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
นั่นคือพนมสารคามในอดีต มีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือน้ำมันยาง
น้ำมันยางเป็นผลผลิตจากต้นยางนาขนาดใหญ่ โดยชาวบ้านจะเจาะหรือถากบริเวณสูงจากโคนต้นยางนาขึ้นมา 70-80 เซนติเมตร ให้มีแผลกว้างพอสมควร แล้วใช้ไฟเผาบริเวณแผลของต้นยางที่เจาะหรือถากเอาไว้ น้ำมันจากต้นยางจะไหลออกมาเป็นน้ำมันใสๆ ขังอยู่ในหลุม หรือแผลของต้นยางนา
หากต้นยางนาจากพนมสารคามไม่ขึ้นหนาแน่นแล้วไซร้ น้ำมันยางจะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญได้อย่างไร
สอดคล้องกับแผนที่ของฌ็อง มารี โอกุสต์ ปาวี นักสำรวจ นักล่าอาณานิคมชาวฝรั่งเศส ผู้สำรวจดินแดนบริเวณฝั่งแม่น้ำโขง เคยเป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2435 ปาวีเขียนไว้บนแผนที่ว่า “Pnom Sarakam” ตรงเขาดงยาง

ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพนมสารคามควรจะร่วมกันอนุรักษ์ต้นยางนาที่มีอยู่ และเพิ่มการปลูกต้นยางนา ไม่ว่าจะปลูกที่บนเขาดงยาง พื้นที่รอบๆ เขา หรือวัดเขาสุวรรณคีรี หรือที่อื่นๆ ที่พอจะเพิ่มปริมาณเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองพนมสารคาม ให้เห็นถึงความรุ่งเรืองด้านสินค้าสำคัญในอดีตคือ น้ำมันยาง
เป็นตำนานบอกกล่าวให้ลูกหลานร่วมกันสืบค้นเล่าขานถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เห็นความสำคัญของชื่อบ้านนามเมือง “พนมสารคาม” ควบคู่กับการจัดกิจกรรมรักษาประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามในวันเพ็ญเดือน 3
เขาดงยาง
เขาดงยางในอดีต เป็นเนินเขาที่มีต้นยางนาขึ้นหนาแน่นเป็นดง
ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านเล่ากันว่าเดิมบริเวณเขาดงยางเป็นป่าทึบ พื้นที่ป่ามีต้นไม้นานาพันธุ์ โดยเฉพาะต้นยางนาจะขึ้นอยู่หนาแน่น มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่เล็กนานาชนิด เช่น ช้าง เสือ เก้ง กระทิง กวาง หมูป่า ลิง ชะนี กระต่าย ไก่ป่า เป็นต้น

ครูสุภาภรณ์ นนทเกษม (ครูอาวุโสโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา”) คนพื้นที่ เล่าว่า
สมัยเด็กๆ เดินขึ้นเขาดงยางทุกปี (ยังไม่มีบันไดเกือบ 700 ขั้นเช่นปัจจุบัน) ต้นไม้จะขึ้นหนาแน่นเป็นป่า ขณะเดินขึ้นเขาจะพบลูกไม้มีปีก ๒ ข้าง(ลูกยางนา) เด็กๆจะพากันเก็บลูกไม้มีปีกนี้โยนขึ้นแล้วให้ค่อยๆ ร่วงลงมา หรือเก็บรวบรวมขึ้นไปบนยอดเขาแล้วไปยืนริมๆ เขาขว้างออกไป สมัยเด็กๆ ไม่รู้ว่าลูกยางนา เดินไปตลอดทางก็จะเจอแต่ลูกไม้ชนิดนี้ เป็นของเล่นที่สนุกสนานของเด็กๆ
คำบอกเล่านี้เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเขาดงยางมียางนาขึ้นหนาแน่น

ปัจจุบันผู้เขียนพบต้นไม้ทั่วๆ ไป 2 ข้างทางขณะขึ้นบันไดไปยอดเขาดงยาง มีต้นยางนาต้นเล็กๆ อยู่บ้าง แต่ไม่พบต้นยางนาขนาดใหญ่เลยสักต้นแม้แต่พื้นล่างอย่างวัดเขาสุวรรณคีรีก็พบต้นไม้ที่ทางวัดปลูกไว้มากมาย (น่าจะเป็นต้นตะเคียน)
เป็นที่น่าเสียดายว่าบริเวณเขาดงยาง น่าจะเต็มไปด้วยต้นยางนาอย่างในอดีต แต่ไม่มี
ผู้เขียนพบต้นยางนาขนาดใหญ่ยังยืนต้นตระหง่านอยู่ในพื้นที่หลายๆ ตำบลของ อ. พนมสารคาม เช่น
วัดต้นตาล วัดหนองปาตอง ต. หนองยาว, ป่าชุมชนหมู่บ้านโคกหัวข้าว ต. ท่าถ่าน, และตำบลอื่นๆ เช่น ต. บ้านซ่อง ต.หนองแหน ก็จะมีต้นยางนาขนาดใหญ่อยู่มากพอที่จะเป็นประจักษ์พยานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มาของ อ. พนมสารคาม ได้เป็นอย่างดี

ขึ้นเขา เผาข้าวหลาม
วันมาฆบูชาที่เขาดงยาง หมู่ที่ 7 บ้านปากห้วย ต. หนองแหน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา ที่ตั้งของวัดเขาสุวรรณคีรี
มีประเพณีขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ของชาวบ้าน อ. พนมสารคาม และหมู่บ้านหัวสำโรง อ. แปลงยาว ซึ่งมีพื้นที่เขตติดต่อกับเขาดงยางที่ทำสืบต่อกันมานับ 100 ปี เป็นการผสมผสานระหว่างงานบุญข้าวหลามของชาวลาวพวนและปิดทองรอยพระพุทธบาทบนเขาดงยาง

อดีต…การเดินทางไปขึ้นเขาดงยางเพื่อขึ้นไปไหว้พระพุทธบาทบนยอดเขานั้น การคมนาคมไม่สะดวก ระหว่างทางก็นำข้าวหลามเป็นเสบียงพร้อมทั้งนำไปถวายพระด้วย
ปัจจุบันผู้มาขึ้นเขาดงยางมาจากหลากหลายพื้นที่ ส่วนมากจะเป็นวัยหนุ่มวัยสาว นิยมขึ้นเช้าหรือเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วันมาฆบูชา
บนยอดเขาดงยาง มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่และรอยพระพุทธบาทจำลองให้ชาวบ้านขึ้นไปกราบไหว้
เมื่อมองจากยอดเขาลงมา กลางวันจะพบทัศนียภาพกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเกตเวย์ อ. แปลงยาว (เขตติดต่อเขาดงยาง) และผืนไร่ผืนนา หากยามค่ำคืนจะเห็นแสงไฟจากเขตอุตสาหกรรมเกตเวย์ระยิบระยับ

The post ขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ตามหาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา appeared first on มติชนออนไลน์.