พลิกกลับไปกลับมา ภายในเวลาแค่ไม่กี่วันจนชักไม่แน่ใจว่าอีกเดือนเศษที่เหลือจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์อะไรอีกไหมกว่าจะถึงวันประมูลคลื่น 4G ความถี่ 900MHz รอบใหม่
เพราะหลังจาก “กสทช.” สรุปมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2559 ว่าจะจัดประมูลในเดือน มิ.ย. นี้ที่ราคาเริ่มต้นเท่าราคาที่ “แจส โมบายบรอดแบนด์” ชนะไปแต่ไม่มาจ่าย และเปิดให้ทุกรายเข้าประมูลได้ แม้แต่กลุ่มทรู ซึ่งชนะประมูลใบอนุญาตรอบแรกไปแล้ว
ไม่กี่อึดใจ (5 เม.ย.2559) ก็ปรับใหม่ โดยตัดสิทธิ “ทรู” พร้อมกับมีข้อเสนอใหม่จาก “เอไอเอส” แสดงเจตจำนงว่ายินดีใช้คลื่น 900MHz โดยยอมจ่ายในราคา “แจส”
ไม่มีใครคิดว่า “เอไอเอส” จะมามุขนี้ ก็ไม่กี่เดือนก่อน ตอนพ่ายศึกชิงคลื่น 900MHz ยืนยันแข็งขันว่าตัดสินใจไม่ประมูลต่อ เพราะพิจารณามูลค่าคลื่นมาแล้วอย่างรอบคอบ และว่า การไม่ประมูลต่อทำให้บริษัทยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง
เฉียด 8 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่เงินน้อยๆ
75,976 ล้านบาท คือราคาเคาะครั้งสุดท้ายของ “เอไอเอส” ในการประมูลรอบที่แล้ว ก่อนที่กลุ่มทรูจะชนะไปในราคา 76,298 ล้านบาท
ในขณะที่การต่อเวลาเยียวยาลูกค้า 2G คลื่น 900MHz ของ “เอไอเอส” ตามคำสั่งศาลปกครองกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 เม.ย.2559
ช่วงบ่ายของวันที่ 12 เม.ย.2559 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2559 เรื่องการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม
โดยระบุให้ “กสทช.” จัดประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่ ในวันที่ 27 พ.ค.2559 ที่ราคาเริ่มต้น 75,654 ล้านบาท และขยายเวลาเยียวยาลูกค้า 2G คลื่น 900 MHz ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2559 หรือจนกว่า “กสทช.” จะออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้
พร้อมกับขยายเวลาใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 900 MHz ในส่วนที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด ได้ใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ให้สิ้นสุดลงพร้อมใบอนุญาตที่จะประมูลใหม่ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ด้วย
ข้อเสนอขอเซ้งคลื่น “แจส” ของ “เอไอเอส” จึงตกไปโดยปริยาย แต่ได้ต่อเวลาเยียวยาลูกค้า 2G ไปถึงเดือนมิ.ย.
ขณะที่ “ทรูมูฟ เอช” ได้ขยายเวลาในการใช้ใบอนุญาต และได้สิทธิเข้าประมูลได้ถ้าต้องการ
“รัฐบาล” ก็จะได้เงินจากการประมูลคลื่นรอบใหม่ไม่น้อยไปกว่าเดิม และเร็วขึ้นอีก หลังขยับเวลาจาก มิ.ย. เป็น พ.ค.แล้ว
งานนี้จึง “วิน-วิน” ทุกฝ่าย
พลันที่ “คสช.”มีคำสั่งข้างต้น “เอไอเอส” ไม่รอช้า จัดงานแถลงข่าวขอบคุณ “คสช.” ทันทีทันใด ในช่วงเย็นของวันที่ 12 เม.ย. (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ)
“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ “เอไอเอส” กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ในการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยการขยายเวลาซิมดับ ทำให้วันที่ 14 เม.ย. ลูกค้าเอไอเอสในระบบ 2G ซิมไม่ดับ เบอร์ไม่หาย และไม่ต้องย้ายค่าย
“ถือเป็นผู้ดูแลประเทศชาติจริงๆ ที่ให้ประชาชนได้ใช้บริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวที่ผู้คนต้องเดินทาง และการสื่อสารสำคัญมาก ถ้าซิมดับคงวุ่นวายมาก สำหรับผม คสช. วันนี้ คือ คืนความสุขให้ประชาชน อยากตะโกนดังๆ ว่ารัฐบาลทำเพื่อประชาชนแล้ว”
“สมชัย” ยังเท้าความด้วยว่า ที่ผ่านมา “เอไอเอส” ใช้ คลื่น 900 MHz มากว่า 25 ปี และดูแลลูกค้ามาอย่างยาวนาน เมื่อสัมปทานหมด มีการประมูล ไม่ว่าใครก็ต้องเข้าใจว่าเอไอเอสต้องเอาคลื่น 900MHz มาให้ได้ ซึ่งเอไอเอสก็ตั้งใจไว้แบบนั้น
“แต่การประมูลเกิดเหตุมหัศจรรย์มาก คลื่นราคาขึ้นสูงจนเราคาดไม่ถึง ซึ่งการจะเข้าประมูลได้ต้องให้บอร์ดอนุมัติลิมิตราคาอยู่แล้ว เมื่อเกิน bid limit แม้ว่าเราจะอยากได้แค่ไหน เราก็ต้องหยุด ขอยืนยันว่าการเคาะราคาในการประมูลครั้งที่แล้ว ไม่ใช่ความผิดพลาด เราดูราคาที่เหมาะสมไว้แล้ว”
ราคาที่เหมาะสมเมื่อ 4 เดือนก่อนกับตอนนี้เปลี่ยนไป
ซีอีโอ “เอไอเอส” อธิบายว่า สาเหตุที่ตัดสินใจยื่นข้อเสนอขอใช้คลื่น โดยยอมจ่ายราคาเท่าที่ “แจส” ประมูลได้ไป ก็เพราะ กสทช.ยืนยันชัดเจนว่า จะไม่มีคลื่นที่ราคาต่ำกว่านี้อีกแล้ว
ประมาณว่า ไหนๆ ก็จะต้องจ่ายในราคาที่เคยคิดว่าแพงแน่แล้ว ถ้าจ่ายตอนนี้ได้คลื่นมาใช้เลยจะดี (กว่า) ไม่ต้องรอประมูลรอบใหม่?
“เมื่อบริบทต่างๆ เปลี่ยนไป เราจึงยื่นข้อเสนอข้อใช้คลื่นนี้ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก ขณะที่การประมูลครั้งใหม่ยังต้องรอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา หากเข้าประมูลก็ต้องมีการปรับแผนธุรกิจใหม่”
“สมชัย” ย้ำว่า แม้ทุกปีเอไอเอสจะมีการลงทุนเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ในฐานะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ การทุ่มไม่อั้นแบบหน้ามืดจึงทำไม่ได้
ที่ผ่านมา นอกจากปีนี้จะประกาศลงทุนเพิ่มอีกหมื่นล้านบาท ขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นแล้วยังใช้เงินไปแล้ว 2.5 พันล้านบาท กับค่าเครื่องที่แจกให้ลูกค้าฟรีๆ รวมกับค่าโฆษณา
และถ้าจะเข้าประมูลคลื่นรอบใหม่ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เตรียมไว้ได้เลย อย่างน้อยๆ 75,654 ล้านบาท
ระหว่างชัยชนะของ “แจส” และความพ่ายแพ้ในศึกชิงคลื่นรอบที่แล้วของ “เอไอเอส” ล้วนมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย และส่งผลกระทบทั้งต่อตลาด และการแข่งขันมากทีเดียว
ถ้าไม่ใช่ “เศรษฐีตัวจริง” ก็คงไม่มีสิทธิ
The post เกม 4G เกมของเศรษฐี appeared first on มติชนออนไลน์.