การพัฒนาวิทยาการในยุคไอที เป็นไปอย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีออกมามากมายนับไม่ถ้วน แต่มีงานวิจัยรูปแบบหนึ่งที่นำเรื่องพฤติกรรมของคนที่มีความหลากหลายต่างกันไป มาศึกษาร่วมกับเทคโนโลยี
ดังงานวิจัยล่าสุดของ “ผศ.ดร.ชัชพงศ์ ตั้งมณี” อาจารย์ประจำภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ความสำคัญของความไว้วางใจในตลาดการค้าบนโลกออนไลน์” ที่หยิบยกเรื่องธุรกิจในบริบทออนไลน์มาศึกษาอย่างน่าสนใจ จนคว้ารางวัล Excellence Paper Award ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Business Management Research Conference ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ
สร้างชื่อเสียงและเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยและคณะ ดังนั้น รางวัลชิ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในงาน “เรียง 100 ความภูมิใจ Chulalongkorn Business School” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเชิดชูเกียรติคณาจารย์ บุคลากรและนิสิต ที่สร้างชื่อเสียงแก่คณะฯ ในระดับชาติ และนานาชาติ ในวันที่ 19 เมษายนนี้
มีโอกาสได้พูดคุยกับชัชพงศ์แบบเจาะลึกตั้งแต่วัยเด็ก เขาเกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2507 เป็นปีสุดท้ายของยุค “เบบี้ บูมเมอร์”
เนื่องจาก “พ่อ” เป็นวิศวกร ดังนั้นหลังเรียนจบ มศ.5 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่บ้านก็พยายามโน้มน้าว ให้เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์
“ผมไม่ชอบวิศวกร เราก็เห็นการทำงาน เห็นเครื่องไม้เครื่องมือของพ่อตั้งแต่เด็กแต่รู้สึกไม่ชอบ ตอนนั้นอยากเป็นหมอ ตอนสอบเอนทรานซ์เลือกคณะแพทย์เป็นอันดับ 1 แต่ไม่ติดแพทย์เลยภาวนาว่าขอให้ไม่ติดวิศวะ (หัวเราะ)”
ผลการสอบปรากฏว่า ชัชพงศ์สอบติดสถิติศาสตรบัณฑิต (สต.บ.) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนจบด้วยการคว้าเกียรตินิยมอันดับสอง และเรียนต่อปริญญาโทสถิติศาสตรมหาบัณฑิต (สต.ม.) ที่เดิม
“ตอนเรียนปริญญาโท เหนื่อยมาก เลยเป็นแรงบันดาลใจและความท้าทายว่า อยากเรียนต่อปริญญาเอก แต่การจะเรียนต่อมันทำให้เราทำงานเอกชนไม่ได้ เพราะเอกชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนับสนุนให้บุคลากรเรียนต่อ แล้วเขาก็ไม่มีทุนให้เรียนปริญญาเอก ตอนนั้นคิดถึงการทำงานราชการและเป็นอาจารย์”
เป็นอาจารย์ที่เอกชน 1 ปี ก็ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เเละได้รับคำแนะนำจาก “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์” หัวหน้าภาควิชาในขณะนั้น เรื่องทุนเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ อินฟอร์เมชั่น (information) ที่ต่างประเทศ ในที่สุดก็ได้รับทุนเเต่ด้วยความที่ไม่เคยเรียนต่างประเทศมาก่อน เขาเลยตัดสินใจเรียนปริญญาโทอีกใบ ซึ่งคณะกรรมการทุนก็อนุมัติให้เรียนปริญญาโทและเอกเป็นระยะเวลา 5 ปี
เมื่อประมาณ 30 ปีก่อนเมืองไทยยังไม่คุ้นกับคำว่า “อินฟอร์เมชั่น” ไม่รู้ว่าการเรียนด้านนี้ต้องทำอะไรบ้าง ชัชพงศ์ เลยเลือกเรียนปริญญาโท Computer Science Syracuse University เป็นการเรียนเรื่อง วิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งยากกว่าที่ผ่านมามากเพราะมีเรื่องของคณิตศาสตร์เยอะมาก
“คณิตศาสตร์ที่ผมเรียนเป็นภาคสถิติ คือคณิตศาสตร์ประยุกต์ พอมาเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผมเลยต้องใช้ความพยายามเยอะ คนอื่นใช้เวลาปีกว่า แต่ผมใช้เวลา 2 ปีเต็มถึงเรียนจบ และเรียนต่อปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ PhD Information Transfer Syracuse University”
“เทคโนโลยีสารสนเทศ กับวิทยาการคอมพิวเตอร์ มันมีความเหมือนกันและความต่างกันอยู่ แต่การที่ผมเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ มันทำให้ผมมีพื้นฐาน มีอาจารย์ท่านหนึ่งชอบผมมาก และรับเป็นที่ปรึกษาซึ่งผมมารู้ทีหลังว่า เขาชอบเป็นที่ปรึกษาให้คนเอเชีย เพราะเป็นคนมุมานะ โดนดุก็สู้ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และเพราะผมจบปริญญาโททั้งสถิติและปริญญาโทวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการคำนวณ ท่านก็แนะนำผมเรียนสาขาที่เกี่ยวกับเรื่อง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคอมพิวเตอร์กับมนุษย์ ตอนแรกผมก็แปลกใจว่ามีสาขานี้ด้วยเหรอ คือ สาขานี้เรียนเกี่ยวกับลักษณะการทำงานของคนกับคอมพิวเตอร์ ทำอย่างไรที่มนุษย์จะทำงานกับคอมพิวเตอร์แล้วทำงานได้แล้วรู้สึกสนุก ซึ่งทำให้ผมรู้สึกสนใจเรื่องนี้มาก”
ชัชพงศ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจศึกษาและค้นคว้าทำงานวิจัยเรื่องของ “คน” กับ “คอม”
“จนมีผลงานออกมาอีกมากมายนับไม่ถ้วน”
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ คืออะไร?
ทุกคนคงเคยเข้าเว็บไซต์แล้วหลงทาง คือตั้งใจจะคลิกซื้อของแล้วไปโผล่หน้าที่ให้เลือกของอยู่อีก หรือคลิกเลือกของชิ้นนี้แล้ว มันก็ไปที่จ่ายเงินเลย อยากซื้ออีกแล้วพอจะซื้อใหม่ของที่เลือกไว้หายไป นี่คือปฏิสัมพันธ์ แต่สาขาที่ผมเรียนเป็นเรื่องที่ผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศกับเรื่องธุรกิจ เป็นเรื่องการออกแบบเว็บไซต์ การทำ Interface หรือการเชื่อมต่อประสานระหว่างคอมพิวเตอร์ หรือการทำให้มีความสามารถในการใช้งาน
ตอนที่ผมเรียนจบ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะส่วนใหญ่ที่จบสาขาคล้ายผม จะทำงานวิจัยเกี่ยวกับพวกหุ่นยนต์ หรือเป็นไปในทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไม่ค่อยมีมาด้านนี้ ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อได้เปรียบในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเว็บไซต์ทางธุรกิจ
เทคโนโลยีสารสนเทศ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ตอนกลับมาประเทศไทยเริ่มต้นยังไง?
ตอนนั้นเรื่องนี้ถือว่ายังใหม่อยู่ จากการสอบถามจากผู้ประกอบการทุกคนก็จะบอกว่า งง ครับ ตอนนั้นต้องพยายามปรับตัว เขาออกแบบมาอย่างไร คลิกผิดก็ต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าพลาดที่ตรงไหน ต้องแก้ตรงไหน โชคดีที่ตอนนั้นได้มีการปรับปรุงหลักสูตร ผมก็เลยนำเสนอวิชานี้ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท
มันเป็นเรื่องของการบูรณาการ ทักษะทางคอมพิวเตอร์ ศาสตร์ทางจิตวิทยา การจัดการการตลาด เพื่อที่จะสร้างระบบสารสนเทศ วิชานี้ไม่ได้เรียนเขียนโปรแกรม แต่เป็นการอยู่ข้างหน้าคอยดูว่าการทำงานมันเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของ User หรือผู้ใช้งาน นักเรียนก็จะบอกว่าวิชานี้มันยากมาก เพราะมันเป็นวิชาของระบบสารสนเทศ ส่วนใหญ่ก็จะกลัว จะไม่อยากลงเรียนวิชานี้
มองการทำงานวิจัยอย่างไร?
ความสนุกของผมคือการได้ทำงานวิจัย เป็นการวิจัยที่เรียนรู้ไปกับนักเรียน ต้องบอกเลยว่า คนที่สอนไอที กรุณายอมรับด้วยว่าเราไม่มีวันรู้เยอะ ถ้าเราไม่ทำวิจัย หรือเราไม่คุยกับลูกศิษย์ อย่างเขาเข้ามาคุยกับเราบอกว่ามีปัญหาตรงนี้ หลายเรื่องผมไม่รู้ ก็จะบอกลูกศิษย์ว่าถ้าอย่างนั้นเราก็มาทำวิจัยกัน
ทำงานวิจัยเยอะแค่ไหน?
ผมพยายามให้มีการตีพิมพ์อย่างน้อยปีละครั้ง มีทั้งงานวิจัยของผมเองและของลูกศิษย์ ทีนี้งานวิจัยของลูกศิษย์ส่วนใหญ่ทำเสร็จแล้วก็จบ ไม่ได้เอามานำเสนอกับสาธารณชน ผมก็เลยจะนำมาวิเคราะห์เพิ่มแล้วนำเสนอโดยมีชื่อของลูกศิษย์ที่ทำวิจัยอยู่ติดกันเวลาตีพิมพ์ เพราะผมถือว่าถ้าไม่มีลูกศิษย์การเก็บข้อมูลก็ทำไม่ได้
เวลาที่เอาผลงานที่จะตีพิมพ์ให้ลูกศิษย์ดู เขาก็จะบอกว่าไม่เหมือนงานที่เขาทำเลย มีหลายคนบอกให้ใส่ชื่อผมคนเดียวเลยก็ได้ แต่ผมบอกว่าไม่ได้ ผมต้องเคารพจริยธรรม ขณะนี้คุณกับผมเป็นศิษย์กับครู เรายังไม่ทะเลาะกันใครจะรู้ในสิบปีข้างหน้าคุณเกิดเกลียดผมขึ้นมา อาจจะบอกว่าผมขโมยข้อมูลก็ได้ (หัวเราะ)
การศึกษาวิจัยเด่นๆ ที่ผ่านมา?
แคปต์ชา (CAPTCHA) คือการทดสอบเพื่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อทดสอบว่าผู้ใช้งานเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่โปรแกรมอัตโนมัติ ระบบนี้ทำขึ้นเพื่อป้องกันโปรแกรมอัตโนมัติ หรือบอท ประมาณว่าต้องเป็นมนุษย์ที่จะทำกิจกรรมนี้ได้ ถ้าพิมพ์อักษรปกติเราอ่านง่าย บอทก็ง่ายเช่นกัน เลยมีการออกแบบดีไซต์แคปต์ชาให้มนุษย์เราอ่านได้ แต่บอทอ่านไม่ได้
แคปต์ชา ต้องมีการออกแบบว่าถ้าเอียงเท่าไรควรใช้ฟอนต์เป็นพิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์เล็ก ควรใช้แบ๊กกราวด์อย่างไร ลูกศิษย์ของผมทำงานวิจัยเรื่องนี้ ตอนนี้ก็เป็นอาจารย์อยู่ที่ ม.นเรศวร เมื่อปีที่แล้วเขาก็ส่งข่าวมาว่าได้ทุนไปเรียนปริญญาเอก เขาอยากเรียนเหมือนผม
เเล้วก็มีลูกศิษย์คนหนึ่งอยากทำงานวิจัยแคปต์ชา โดยใช้ฟอนต์ภาษาไทย ผมก็ตั้งคำถามว่าอยากทำเพื่ออะไร เขาตอบว่า อยากทำระบบที่คนเข้าไปใช้ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ผมก็บอกว่าฟังดูแล้วแปลกๆ เหมือนจะแอบเอาอะไรมาซ่อนไว้ในเว็บหรือเปล่า เลยแนะนำว่ามาทำเรื่องการยอมรับ เพื่อให้มีความเป็นธุรกิจขึ้น แล้วเขาก็ส่งแคปต์ชาภาษาไทยมาให้ สรุปแล้ว ฟอนต์ภาษาไทยไม่เหมาะแก่การทำแคปต์ชาอย่างมาก เพราะอักษรภาษาไทยมีความแตกต่างกันนิดเดียว เลยมีความเพี้ยนค่อนข้างมาก เช่น ผมเอาตัว บ.ใบไม้ มาบิด มองดูแล้วคล้าย ป.ปลา ตัว ท.ทหาร บิดไปคล้ายตัว ฑ.นางมณโฑ แถมลูกศิษย์ผมยังลองเอาสระมาใช้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะแยก สระอู กับ ข.ไข่ ไม่ได้
ผลงานวิจัยล่าสุด?
งานวิจัยเรื่อง “ความสำคัญของความไว้วางใจในตลาดการค้าบนโลกออนไลน์” เป็นการวิเคราะห์ตัวแปรที่มีผลต่อความศรัทธา ซึ่งผมดูอยู่ 2 ตัวแปร คือ ความเสี่ยง และการออนไลน์รีวิว โดยตัวแปรจะมีผลต่อความศรัทธาและจะส่งผลสืบเนื่องต่อความตั้งใจซื้อ
สำหรับความเสี่ยงจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ความศรัทธาจะยิ่งน้อย อาจทำให้ไม่ซื้อหรือซื้อน้อยลง ส่วนการออนไลน์รีวิว ปัจจุบันนี้เรื่องของการรีวิวมีผลมาก งานในอดีต งานต่างประเทศบอกชัดเจนว่างานออนไลน์รีวิวมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ผมใช้วิธีการวัดคุณค่าของออนไลน์รีวิว ถ้าออนไลน์รีวิวตรงไปตรงมาออนไลน์รีวิวนี้แปรยุติธรรมจะมีผลต่อความไว้ใจมาก ส่งผลสืบเนื่องต่อความตั้งใจซื้อ แต่ถ้าออนไลน์รีวิวมีผลทางลบมีผลให้ความศรัทธาน้อย ความต้องการซื้อก็จะน้อยด้วย
เก็บข้อมูลงานวิจัยชิ้นนี้ยังไง?
เริ่มต้นจากผลงานของนักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด เขาสนใจทำวิจัยเรื่องการตลาดออนไลน์ ผมให้คำแนะนำและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยการทดลองจะสร้างแบบสอบถาม ไปยังผู้ที่เคยมีประสบการณ์ซื้อของออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง ใช้เวลารวบรวมข้อมูลประมาณ 2 เดือน
งานวิจัยตัวนี้ให้ประโยชน์อะไร?
น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่จะเปิดร้านค้าออนไลน์ ในเรื่องของการสร้างศรัทธาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นสิ่งสำคัญ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเวลาเพื่อนฝากเราซื้อของ เขาให้เงินเรามาเลย เราก็ไปซื้อให้ หรือเพื่อนให้เราไปซื้อของให้ก่อนแล้วค่อยจ่าย มันเป็นเรื่องของความไว้วางใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
ทีนี้เมื่ออยู่ในบริบทออนไลน์ อำนาจอยู่ที่ผู้ขาย ที่จะนำเสนอ ดังนั้น ผู้ขายจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างร้านให้ดูแล้วน่าไว้ใจ ให้ผู้ซื้อรู้สึกศรัทธา
โดยเฉพาะเรื่องรีวิว ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะไม่ชอบเนกาทีฟรีวิวหรือในทางลบ เพราะรู้สึกเหมือนถูกว่า ซึ่งผมมองว่าการที่ลูกค้ามาว่า ต้องดูก่อนว่าเป็นการว่าแบบมีเหตุผลหรือเปล่า ถ้าเราทำผิดจริงอาจจะพิมพ์ขอโทษและแสดงความยินดีชดใช้ อย่าไปลบความเห็นของลูกค้า เพราะการที่เราตอบจะทำให้คนที่เข้ามาอ่านจะพัฒนาความรู้สึกที่มีต่อเว็บทันทีว่าได้รับการดูแล ใส่ใจและรับผิดชอบ แต่เท่าที่ได้ยิน เวลามีความเห็นแบบเนกาทีฟรีวิว มักจะลบรีวิวหมดเลย
เคยทำวิจัยอื่นที่เกี่ยวกับความไว้ใจบนโลกออนไลน์หรือเปล่า?
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวข้องกับเรื่องความไว้วางใจ ถ้าเราแวะเว็บไซต์รัฐบาลหรือเว็บไซต์อะไรก็ตามที่เอาตรารับรองมาติดจะทำให้เว็บน่าเชื่อถือขึ้น งานชิ้นนี้ทำเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว ทางคณะได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดูเรื่องอีคอมเมิร์ซมาที่คณะ ท่านก็นำเสนอว่ากระทรวงพาณิชย์กำลังจะทำตรารับรองของกระทรวงเพื่อให้เว็บไซต์น่าเชื่อถือและดูดีขึ้น
ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกัน เลยเป็นความท้าทายของผมให้เริ่มทำการทดลองเปรียบเทียบร่วมกับนักศึกษา ตั้งใจว่าจะทำงานวิจัยเพื่อเอาไปเรียนท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ว่า ตรารับรองไม่ได้ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ ท่านไม่จำเป็นต้องทำเลย
ผมเลยเริ่มต้นด้วยการทำเว็บไซต์ขายหนังสือเรียน ขายข้อมูลขึ้นมา 2 เว็บไซต์ ซึ่งมีทุกอย่างเหมือนกันหมด แต่เป็นการทดลองไม่ได้ให้ซื้อจริง แล้วเว็บหนึ่งมีตรารับรอง อีกเว็บไม่มีตรารับรอง แล้วให้หน่วยทดลองเข้ามา และตั้งโจทย์ว่า สมมุติว่าทำหนังสือเรียนของเพื่อนหาย ต้องซื้อไปคืนเพื่อน กลุ่มทดลองก็จะลองเข้าไปที่ 2 เว็บไซต์ให้ทดลองซื้อแล้วออกมาทำแบบสอบถามเรื่องความไว้วางใจ
ผลการทดลองผมรู้สึกเซอร์ไพรส์มาก คืองานนี้พิสูจน์ว่า เว็บที่มีตรารับรองคนเชื่อถือมากกว่าเว็บที่ไม่มี ซึ่งในบริบทต่างประเทศเขาก็บอกว่าการมีตรารับรองทำให้คนเชื่อถือมากขึ้น ความจริงผมไม่เชื่อเพราะในประเทศไทยมันมีความเชื่อที่ต่างวัฒนธรรม แต่การทดลองมันพิสูจน์ออกมาแล้วผมก็ต้องยอมรับ งานนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ผมก็เลยค่อนข้างสนใจในเรื่องของการไว้วางใจมาตลอด
มีงานวิจัยที่กำลังจะตีพิมพ์อีกหรือเปล่า?
มีเรื่องของออนไลน์ เควสชั่นแนร์ (Online Questionnaire) ตอนนี้เวลาจะทำแบบสอบถามหรือเก็บข้อมูลมีการทำผ่านออนไลน์ ผมทำออนไลน์เควสชั่นแนร์มา 2 ปี ก็พยายามหาวิธีที่ 1.มีคนตอบ 2.ตั้งใจตอบ ไม่ตอบแบบงี่เง่า
มีการวิจัยอยู่ครั้งหนึ่งใช้ดอกจัน คือการบังคับให้ตอบมาทำการทดลอง ปกติตามคำแนะนำจะให้ใช้ดอกจันเฉพาะคำถามที่จำเป็น คำถามที่สำคัญเท่านั้น แต่การทดลองที่ทำออกมา ลูกศิษย์ผมทำแบบสอบถาม 50 ข้อ 3 ชุด เนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด แต่ชุดแรกบังคับตอบทุกข้อ 100 เปอร์เซ็นต์ ชุดที่ 2 บังคับตอบครึ่งหนึ่ง คือ 50 เปอร์เซ็นต์ และ ชุดที่ 3 ไม่บังคับเลย คือ 0 เปอร์เซ็นต์
ถ้าคำแนะนำถูกแบบสอบถามชุดที่ 3 จะต้องออกมาดีที่สุด แต่ไม่ใช่ การทดลองปรากฏว่าชุดที่ 1 ดีที่สุด คือ มีคนตอบเยอะที่สุด ครบที่สุด ตอนแรกผมก็สงสัยว่าทำถูกต้องหรือเปล่า ผมก็พยายามพิสูจน์ พยายามควบคุมการทดลองทุกอย่างผลก็ออกมาตามนั้น
ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้กำลังจะตีพิมพ์ ผมเอางานวิจัยนี้ไปนำเสนองานวิจัยทางการตลาดก็โดนซักถามเยอะมากว่าเป็นไปได้ยังไง ไปบังคับเขาให้ทำเขาน่าจะไม่ชอบ ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า ให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นเพราะชาวเอเชียชอบการถูกบังคับ คนเอเชียเมื่อใดที่ถูกบังคับจะรู้สึกหงุดหงิด อาจจะไม่ชอบที่จะถูกบังคับแต่ก็ทำ ก็ตอบหมด ขณะเดียวกันถ้าทำแบบนี้กับคนตะวันตก เขาปิดทิ้งเลย เขาไม่ทำ แล้วคำแนะนำที่ออกมาไม่เคยทำวิจัยในบริบทไทย หรือเอเชียเลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ คอมพิวเตอร์เราสามารถควบคุมได้ กำหนดได้ เราเขียนโปรแกรมได้ แต่สิ่งที่มันน่าสนใจคือ ผู้ใช้ที่มันมีความหลากหลายมาก
นอกจากงานวิจัยมีโครงการจะทำอะไรอีกหรือเปล่า?
ตอนนี้มีโครงการจะเปิดวิชาใหม่ คือ วิชา วิชวลไลเซชั่น (visualization) บางคนอาจจะคิดว่าเป็นศัพท์ที่ดูใหม่ แต่ถ้าพูดถึง อินโฟกราฟิกส์ (Infographics) น่าจะคุ้นมากกว่า ตอนช่วงน้ำท่วมมีงานอินโฟกราฟิกส์ที่ลูกศิษย์ทำกับผมชิ้นหนึ่ง เป็นชิ้นที่เจ๋งมาก เล่าเรื่อง “ปลาวาฬน้ำท่วม” ตอนนั้นมีการเรียกน้ำท่วมว่ามวลน้ำ แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับปลาวาฬสีฟ้า นำเสนอผ่านอินโฟกราฟิกส์ว่า ขณะนี้มีปลาวาฬจำนวน 42 ล้านตัวอยู่ที่ภาคเหนือ ประเทศเรามีแม่น้ำที่มีความสามารถระบายปลาวาฬได้ 7 ตัวต่อชั่วโมง ถ้าเราเปิดเขื่อนทั้งหมดปลาวาฬจะออกไปได้ใช้เวลาประมาณ 45 สัปดาห์ปลาวาฬจะออกไปได้หมด เมื่อใช้เวลานานปลาวาฬจึงเล่นน้ำกันสนุกสนาน ปลาวาฬบางตัวจึงขอเข้าไปอยู่ในบ้านของบางคน อินโฟกราฟิกส์ตัวนี้ทำให้การรับรู้เรื่องน้ำท่วมปีนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ อีกทั้งอินโฟกราฟิกส์ตัวนี้ต่างจากตัวอื่นเพราะมีแอนิเมชั่น
“ลักษณะอย่างนี้ ผมมองว่าน่าสนใจและจะเปิดเป็นวิชาใหม่ปีการศึกษาหน้า”
The post ผศ.ดร.ชัชพงศ์ ตั้งมณี ชำแหละวิจัยพฤติกรรม ของ “คน” กับ “คอมพิวเตอร์” appeared first on มติชนออนไลน์.