งานฉลอง 90 พรรษาของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเพิ่งผ่านไป มีข่าว มีคลิป มีภาพให้คนทั่วโลกได้ร่วมยินดีไปด้วยกับพสกนิกรของพระองค์
ได้ชมแล้วอดนึกย้อนไปไม่ได้ว่า มงกุฎควีนนี้พระองค์ได้มาพร้อมอัสสุชล เพราะการจากไปอย่างกะทันหันของพระเจ้าจอร์จที่หก-พระราชบิดาอันเป็นสุดที่รัก ซึ่งแม้จะทรงประชวร แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะร้ายแรงจนถึงแก่สวรรคต (ค.ศ.1952)
เมื่อครั้งยังเป็นปรินซ์อัลเบิร์ต (เบอร์ตี้) ผู้คนทั้งในวังและนอกวังแอบเรียกพระเจ้าจอร์จที่หกว่า
“เบอร์ตี้ตะกุกตะกัก”
เพราะทรงติดอ่างขนาดที่ใครก็ตามที่จะฟังพระองค์ตรัสอะไร ก็ต้องทำใจไว้ก่อน
หากยังจำกันได้ภาพยนต์ The King”s Speech (ดำรัสราชา) ซึ่งกวาดรางวัลต่างๆ รวมทั้งรางวัลออสการ์ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ค.ศ.2010 เป็นภาพยนตร์ที่จับเอาความตะกุกตะกักอันเป็นจุดอ่อนของพระองค์มาสร้างได้อย่างประทับใจผู้ชม
ราวจะย้ำว่า?
โดยแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ความเก่งฉกาจ ไม่ใช่ความฉลาดล้ำ ไม่ใช่คำโฆษณา หรือการสรรเสริญเยินยอ แต่เป็นความอดทน มานะ ความเมตตา และความจริงใจต่อประชาชนต่างหาก ที่นำมาซึ่งความรัก-บูชาที่แท้จริงของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
ว่ากันว่าปรินซ์อัลเบิร์ตติดอ่างเพราะเป็นเด็กเงียบๆ ขี้อาย ขี้กลัว และที่ปรินซ์กลัวที่สุดคือพระราชบิดา–คิงจอร์จที่ห้า ซึ่งเข้มงวดกับพระราชโอรส-ธิดาทุกพระองค์
ในความจริงแล้ว ก่อนจะถึงยุค “ลูกบังเกิดเกล้า” พ่อแม่ส่วนใหญ่ทั่วโลกก็เข้มงวดกับลูกๆ กันทั้งนั้น แต่คิงจอร์จที่ห้าดูเหมือนจะทรงตั้งมั่นในการนี้โขอยู่ เพราะเมื่อมีผู้อาจหาญกระตุ้นเตือน ก็ทรงประกาศหนักแน่นว่า
“พ่อฉันก็กลัวย่าฉัน (ควีนวิคตอเรีย) จนหัวหด ฉันเองก็กลัวพ่อฉันจนหัวหด เพราะฉะนั้นฉันก็จะต้องทำให้ลูกๆฉันกลัวฉันจนหัวหดเหมือนกัน (ใครจะทำไม)”
เฮ้อ อย่างนี้แล้วใครจะกล้าทำไม
แต่คนใกล้ชิดแอบพูดกันว่า คิงจอร์จที่ห้านั้นเป็นเสือแต่เฉพาะกับลูกๆ แต่ไม่เคยทำเสือใส่ประชาชนเลย
ดูอย่างคราวที่ทรงแอบไปปะปนกับคนธรรมดาเพื่อทดลองข้ามถนน ตอนที่ลอนดอนเพิ่งมีทางม้าลายใหม่ๆ (สมัยนั้นยังไม่ทาสีขาวดำที่ถนน แต่เป็นเสาขาว-ดำให้คนรับรู้ว่าต้องมาข้ามตรงนี้นะ) เสร็จสรรพแล้วทรงเล่าให้พระมเหสีฟังอย่างครื้นเครงว่า
“โฮ้ย…ไอโดนพสกนิกรผู้จงรักภักดีของไอรายหนึ่งเรียกว่า “อีเดียท” เขาบอกว่า…ตาอีเดียทเอ๊ย จะข้ามถนนก็เดินเร็วๆ มัวงุ่มง่ามอยู่นั่นแหละ”
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าปรินซ์อัลเบิร์ต “หัวหด” ตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา
ยิ่งกลัวจน “หัวหด” เท่าไหร่ ก็ยิ่งทรงตรัสตะกุกตะกักมากขึ้นเท่านั้น
โชคดีที่เป็นพระโอรสองค์ที่สอง ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับหน้าที่มกุฎราชกุมาร ทำให้ทรงรอดพ้นจากความรับผิดชอบมากมายหลายอย่าง และในเมื่อไม่ทรงอยู่ในสปอตไลต์ ก็หมายถึงว่าไม่ต้องอยู่ในสายพระเนตรของพระราชบิดามากนัก
เมื่อคิงจอร์จที่ห้าสวรรคต ปรินซ์อัลเบิร์ตก็ทรงเข้าร่วมพิธีราชาภิเษกของพระเชษฐาด้วยความโล่งพระทัย
มหากวีเช็คสเปียร์เขียนไว้บรรทัดหนึ่งในบทละครเรื่องพระเจ้าเฮนรี่ที่สี่:
Uneasy lies the head that wears a crown.
แปลอย่างทื่อตรงว่า หัวที่สวมมงกุฎนั้นนอนไม่สบาย แปลอีกทีอย่างชาวบ้าน คือมันหนักกบาล ทุกวันนี้ใช้กันเป็นสำนวน มีความหมายว่า คนเรายิ่งใหญ่ยิ่งโตเท่าไหร่ความรับผิดชอบก็มากขึ้นเท่านั้น
แต่มือเก่าในเช็คสเปียร์แฟนคลับ เคยให้ข้อสังเกตว่า
“มงกุฎคิงน่ะ คงทำให้หนักทั้งหัว-หนักทั้งใจ”
เพราะในบทละคร คิงเฮนรีที่สี่นอนตาค้าง หลับไม่ลง–มีเรื่องกลุ้มแยะ คิงนึกริษยาประชาชนคนไพร่ทั้งหลาย ว่าคงนอนหลับสบายไร้กังวลในสภาพปุปะของตน ดีกว่าคิงบนแท่นอลังการที่มีมโหรีขับกล่อม
แม้จะเป็นปรินซ์ตะกุกตะกัก ที่คนส่วนใหญ่ตัดสินว่า “แหย” แต่ปรินซ์อัลเบิร์ตก็ทรงเข้าใจเรื่องราวความทุกข์และปัญหาสารพัดเบื้องหลังการครองบัลลังก์เป็นอย่างดี จึงไม่ทรงมีความปรารถนาจะเป็นคิงเลย
ทรงรักชีวิตเงียบๆ อยู่กับครอบครัวเล็กๆ ที่อบอุ่นใน “บ้านชนบท” ห่างไกลจากสังคมชั้นสูงในลอนดอน
แต่เมื่อพระเชษฐา-หรือคิงเอ็ดเวิร์ดที่แปด ทรงสละราชย์ไปสมรสกับนางซิมป์สันแม่หม้ายชาวอเมริกัน “เบอร์ตี้ตะกุกตะกัก” จึงต้องทรงจำพระทัยรับหน้าที่พระมหากษัตริย์แห่งเกรทบริเตนแทน
การตัดสินพระทัยของคิงเอ็ดเวิร์ดที่แปดทำลายความสุขสงบและชีวิตเงียบๆ ของปรินซ์อัลเบิร์ตไปในพริบตา ปรินซ์ทรงบันทึกไว้เองว่าถึงกับกรรแสงเมื่อเข้าเฝ้าพระมารดา
น้ำพระเนตรกับมงกุฎ–อีกแล้ว
จากนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาแก้ๆ ไขความตะกุกตะกัก ผู้วิเศษคนใดที่จะเสกให้ปรินซ์ตะกุกตะกักกลายเป็นคิงผู้สามารถดำรัสกับประชาชนของพระองค์ได้อย่างน่าฟัง
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่เมื่อได้ครูดี พระองค์ก็ทรงทำสำเร็จ
ในที่สุดปรินซ์อัลเบิร์ตก็กลายเป็นคิงจอร์จที่หก พระมหากษัตริย์ที่คนอังกฤษรักมากที่สุดองค์หนึ่ง
ตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พระองค์จะจากไปแสนนาน จนกาลเวลาเปลี่ยนพระราชธิดาเป็นควีนเอลิซาเบธที่สองผู้ทรงชราภาพ ควีนผู้ครองบัลลังก์นานที่สุดในโลก แต่ประวัติศาสตร์ยังบันทึกถึงการที่พระองค์ พระราชินี และสองพระธิดาน้อยทรงอยู่เคียงข้างประชาชน มิได้ละทิ้งไปในช่วงที่นาซีเยอรมันแข็งแกร่งที่สุด ในขณะที่อังกฤษกำลังอ่อนแอและเดียวดายกลางมรสุมร้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง
โอ…พระเจ้าจอร์จ
หากจะปลื้มอังกฤษกันขนาดนี้ ก็ต้องเลือกเพลงเชียร์อังกฤษที่ยิ่งใหญ่มาฝาก
Rule, Britannia!
เพลงที่สองรองจากเพลงชาติหรือ God Save the Queen/King ที่เคยเขียนให้อ่านไปนานแล้ว
แล้ววันหน้าค่อยเล่าประวัติเพลงนี้สู่กัน
ฟัง Rule, Britannia! ได้ที่
Rule Britannia (With lyric annotations)
ดูพระราชประวัติสั้นๆของคิงจอร์จที่หกได้ที่
และที่
The post RULE, BRITANNIA! โอ…พระเจ้าจอร์จ appeared first on มติชนออนไลน์.