กลับมาตามนัดหมาย! สำหรับการปรากฏกายของ “สำนักพิมพ์มติชน” ใน “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44”
การันตีการพบนักอ่านแต่ละครั้ง “ไม่มีคำว่าธรรมดา!”
ตั้งแต่หนังสือคุณภาพที่เลือกจัดพิมพ์ขึ้น อันเป็นหัวใจของสำนักพิมพ์ จนถึงการสร้างสรรค์ให้การพบผู้อ่านครั้งนี้พิเศษขึ้นมา ทั้งการออกแบบจัดวางภายในบูธ อีกทั้งของพรีเมียมสำหรับแฟนหนังสือมติชน
ปีนี้สำนักพิมพ์มติชนเชิญศิลปินแถวหน้าในวงการกราฟิตี้ ให้มาฝากฝีไม้ลายมือไว้ในงานออกแบบบูธงานสัปดาห์หนังสือ
รักกิจ ควรหาเวช สตรีตอาร์ติสต์ เจ้าของงานกราฟิตี้สไตล์ Geometric (เรขาคณิต) ที่มีพื้นฐานการออกแบบมาจากงานกราฟิกดีไซน์
เอ่ยชื่อรักกิจ ผลงานที่ทุกคนจะจดจำได้ คือ รูปสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ฝากความเท่ไว้ทั้งบนกำแพงและงานดีไซน์ของแบรนด์ชื่อดังต่างๆ ที่เขาเคยทำงานให้

เขาเล่าว่า จุดเริ่มที่มาร่วมงานกับมติชนได้ เนื่องจากเคยเพนต์กำแพงร่วมกับ ยุรี เกนสาคู ศิลปินกราฟิตี้ที่เคยตอบรับการเป็นศิลปินรับเชิญออกแบบบูธสำนักพิมพ์มติชนในธีม “จักรวาลระหว่างบรรทัด” เมื่องานสัปดาห์หนังสือปีที่แล้ว
ยุรีจึงแนะนำผลงานของรักกิจให้แก่ พัลลภ สามสี บรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน
ผลงานเข้าตามีหรือจะปฏิเสธ เป็นที่มาของการเป็นศิลปินรับเชิญในปีนี้
รักกิจบอกว่า รู้จักสำนักพิมพ์มติชนจากหนังสือดังหลายเล่ม โดยมองว่ามีภาพลักษณ์เป็นผู้ใหญ่ เรื่องบ้านเมืองที่เนื้อหาหนักแน่นหรือข่าวสารบ้านเมือง แต่การมาทำงานนี้ มุ่งไปที่การทำเพื่องานหนังสือ โดยคิดว่าเป็นจุดที่คนเดินผ่านเยอะ ทำอย่างไรจะดึงดูดให้คนเข้ามาที่บูธ จึงใช้องค์ประกอบของฟอร์มกับสีสันเป็นสิ่งดึงดูด
เผยตัวตน เน้นโครงสร้าง-สีสันจัดจ้าน-สัตว์
“ศิลปะทุกอย่างไปด้วยกันหมด”
คือ คำพูดของรักกิจ ก่อนจะกล่าวเพิ่มเติมว่า สตรีตอาร์ตก็คืองานศิลปะ ส่วนหนังสือใช้จินตนาการ มีภาพประกอบ สตรีตอาร์ตเป็นหนึ่งในงานที่สามารถสร้างจินตนาการได้เหมือนการอ่านหนังสือ ศิลปะทุกอย่างไม่ว่าจะหนังสือหรือดนตรี มีความเชื่อมโยงกันหมด อ่านหนังสือแล้วอาจมีแรงบันดาลใจไปสร้างงานศิลปะ หรือฟังเพลงแล้วอยากเขียนหนังสือก็มี เป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน
รักกิจ ควรหาเวช
สำหรับเอกลักษณ์งานของเขาที่เน้นโครงสร้าง เน้นเส้นชัดเจน เป็นเพราะเทคนิคบล็อกสเตนซิลที่เขาใช้ในงานกราฟิตี้บนกำแพง เป็นการพ่นสีผ่านบล็อกฉลุลาย ที่รักกิจเลือกใช้มาตั้งแต่เริ่มงานสายกราฟิตี้

ข้อจำกัดของบล็อกที่ปัจจุบันใช้เพียงเส้นตรงและเส้นโค้ง กลายเป็นตัวตนงานของเขาที่ใช้การประกอบภาพจากรูปทรงเรขาคณิต ตัดทอนรายละเอียดที่สมจริงออกไป
“คาแร็กเตอร์เด่นคือโครงสร้างเส้นดำหนา เป็นโครงสร้างที่แข็งแรง เห็นชัดเจน ดึงดูดความสนใจได้ เตะตา เวลาเราเห็นภาพวาดเส้นหนาจะเด่นและดึงความรู้สึกได้มากกว่าเส้นเล็ก
“ส่วนสีสัน งานของผมได้แรงบันดาลใจมาจากรถบรรทุกที่ใช้สีแรงและมันมาก ทุกคันจะใช้สีไม่เหมือนกัน คนทั่วไปจะเรียกว่าสีลูกทุ่ง เวลาไปต่างจังหวัดผมชอบมองรถบรรทุกที่ผ่านไปมา ดูวิธีการใช้สี ผมเลยติดการใช้สีแบบนั้น ทดลองเอาสีที่ไม่น่าเข้ากันมาผสมกัน สีสดใสทำให้ภาพดูไม่ซีเรียส แต่อยู่ในงานเราได้ ดูทันสมัย คนไทยรักสนุก ชอบสีสัน คนสมัยใหม่บอกว่าเชย แต่เอามาใช้ให้ถูกที่ทางแล้วโอเค”
ศิลปินหนุ่มเฉลยอีกข้อสงสัยที่เขาใช้สัตว์ในงานออกแบบว่า
“การทำงานกับสัตว์มันง่าย”
ก่อนบอกว่า สัตว์แต่ละชนิดคาแร็กเตอร์ชัดเจน ไม่ต้องแคร์ว่าทำแล้วคนจะดูออกหรือเปล่าอย่างการทำรูปคน ที่คนดูจะคาดหวังว่าคนนี้เป็นใคร
“สตรีตอาร์ตที่เป็นรูปสัตว์ เมื่ออยู่ในเมืองแล้วน่ามองกว่ารูปอื่น น่ามองกว่าแอ๊บสแตร็ก หรือรูปที่สื่อถึงความรุนแรง เมืองที่มีแต่ตึกรามบ้านช่อง มีความแข็งความเป็นปูน การเอาสัตว์เข้าไปใส่ น่าจะทำให้ที่ตรงนั้นน่ามองยิ่งขึ้น”
ลิงปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก
“สำหรับงานที่ทำให้มติชนเป็นอีกหนึ่งคาแร็กเตอร์ พยายามคิดงานให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า คนมางานสัปดาห์หนังสือมีตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ งานผมจะเป็นสิงสาราสัตว์ หน้าตาตัวไหนดุก็คือดุ แต่พอมางานที่มีคนตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ต้องทำให้เข้าใจง่าย จึงสื่อเป็น ลิงปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก เพราะปีนี้เป็นปีลิง และทางมติชนมีหนังสือแปลจากจีนเยอะ ในวัฒนธรรมจีนก็มีเรื่องสำนวนลิง 3 ตัวนี้เช่นกัน”
เทคนิคบล็อกสเตนซิลระหว่างการทำบอร์ดงานสเปรย์ที่จะโชว์ในงานหนังสือ
ลิง 3 ตัวนี้มาจากคำสอนในคัมภีร์ขงจื๊อ ที่ว่า ไม่มอง ไม่ฟัง และไม่กระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม
เมื่อปรัชญานี้แพร่เข้าไปในญี่ปุ่นจึงปรากฏภาพปริศนาธรรมรูปลิง 3 ตัว สลักอยู่ที่ศาลเจ้านิกโกโทโช เมืองนิกโก ประเทศญี่ปุ่น ในสมัยศตวรรษที่ 17
อย่างไรก็ดี เมื่อภาพปริศนาธรรมนี้เผยแพร่ไปทั่วโลกก็เกิดการตีความกว้างออกไปหลากแง่มุม
รักกิจกล่าวว่า กระบวนการทำงานกับมติชนเวลาทั้งหมดราว 1 เดือน เมื่อทราบรายละเอียดงานแล้วก็เริ่มหาคาแร็กเตอร์ว่าลิงแบบไหนที่จะเหมาะกับงานหนังสือและความเป็นจีน

“ตอนแรกคิดถึงลิงชิมแปนซีก็จะดูแอฟริกาเกินไป หรือลิงไทยที่ดูสมจริงมากจะดูไม่ค่อยน่ารัก ทำภาพแล้วจะดูดุ พอคิดถึงลิงจีนก็จะคิดถึงเห้งเจีย ลิงที่มีการแต่งหน้า ตอนแรกผมก็คิดว่าน่ารักของผมนะ (หัวเราะ) แต่ก็ยังดูดุอยู่ด้วยสีแดงสีทองของจีน
“ต่อมาปรับเวอร์ชั่นให้น่ารักกว่านั้น เป็นลิงจากจินตนาการ ตัดสีให้เหลือ ฟ้า เหลือง ชมพู มาเจนต้า ทำ 3 ตัว ปิดหู-ตา-ปาก แต่ละตัวจะเน้นสีหนึ่งหนักหน่อย” รักกิจกล่าว และว่า ปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก เป็นการทำตัวให้เหมาะสมแต่ละที่ บางครั้งเราอาจต้องปิดหูเพื่อพูด ปิดปากเพื่อฟังบ้าง ปิดตาเพื่อใช้ประสาทอื่นรับรู้
“เราคิดเผื่อคนหลายคน งานต้องเข้าใจไม่ยาก บางทีความง่ายอาจเหมาะกับงานชิ้นนั้นมากกว่า ดีเทลมากไปอาจไม่น่าจดจำไม่เหมาะกับงานนั้น”
ทำเพื่อนักอ่าน อยากเห็นคนดูแฮปปี้
ชายหนุ่มบอกว่า รู้สึกดีที่ได้ทำงานกับมติชน
“เหมือนได้มาเจอเพื่อนใหม่ ไม่เคยทำงานร่วมกันเลย ทีมงานมีความเป็นกันเองมาก ไปบ้านกันทั้งโขยง (หัวเราะ) เขาสนใจสิ่งที่เราทำว่าเราใช้สีอะไร พ่นยังไง ส่วนตัวงานแตกต่างจากที่เคยทำ ส่วนใหญ่งานที่คนเยอะๆ ผมทำจะเป็นงานมิวสิกเฟสติวัล งานสตรีตอาร์ตเฟสติวัล คนละแบบกับงานหนังสือที่อยู่ในฮอลล์”
รักกิจบอกว่า ในแง่การออกแบบรูปลิงเคยมีงานกำแพงที่เป็นกอริลลา แต่งานของมติชนจะต่างที่จะเป็นลิงเลเวลน่ารัก
“ถ้าเราอาร์ตมาก ดิบมาก ดุมาก เป็นตัวเอง 100% เหมือนทำให้ตัวเองดูก็ไม่แฮปปี้ แต่ถ้าทำแล้วคนมางานพอใจ อยากได้กระเป๋าหรือของไปใช้ หลายฝ่ายพอใจ ก็ทำให้เราภูมิใจในงานมากกว่าที่จะเป็นตัวเองหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในงานไม่ได้เลย ใช้คนเดียวก็แฮปปี้คนเดียว”
รักกิจกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
“ความยากของงานนี้ คือ ต้องเอาไปทำเป็นสินค้าและทำยังไงให้คนเข้าใจง่าย ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ แล้วก็มีบอร์ดที่เราเพนต์เอง ต้องคิดกลับไปกลับมาตลอดว่า พอทำเป็นดิจิตอลแล้วตัวบอร์ดจะทำยังไง”
บอร์ดที่เขาว่านี้จะถูกนำไปตั้งในบูธมติชน โดยมีขนาด 1.2×2.2 เมตร เป็นงานออกแบบของรักกิจในเวอร์ชั่นงานสเปรย์ รูปลิง 3 ตัว ปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก ให้คนไปงานได้เข้าไปดูไปถ่ายรูป
“งานสเปรย์จะต่างจากดิจิตอล มีความเป็นแฮนด์เมดอยู่ มีละอองสเปรย์ที่เหลือที่เกิน ตอนทำงานสตรีตอาร์ตผมชอบฟีลหลุดๆ หยาบๆ ไหลๆ ขณะที่งานพิมพ์มีความเนี้ยบ แต่เป็นคอมพิวเตอร์ ดูเป็นงานหุ่นยนต์ งานแฮนด์เมดจะมีชีวิตชีวา มีความผิดพลาดมองแล้วรู้ว่าพลาดตรงไหนบ้าง” รักกิจกล่าว
ปีนี้ผลงาน “RUKKIT X MATICHON” มาในธีม “ประวัติศาสตร์คืออนาคต” ทำไมต้องอ่านประวัติศาสตร์? ทำไมต้องเรียนรู้อดีต? ทำไมบทเรียนสำคัญๆ มักเกิดจากอดีต? ถ้าเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในอดีต ก็จะไม่พบกับอนาคตอันสวยงามได้
พบกับงานของรักกิจและมติชนได้ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนพลาซ่า V06 วันที่ 29 มี.ค.-10 เม.ย.นี้
ตั้งตัวเตรียมสมองให้มั่น เตรียมพบกับหนังสือใหม่ของมติชน ปฏิบัติเฉกเช่นลิง 3 ตัว เก็บความรู้เก่าเลือกใช้ในวาระที่เหมาะสม รับความรู้ใหม่มาวิเคราะห์อย่างมีสติ
ปิดเพื่อเปิดรับความรู้ที่กว้างไกลกว่าเดิม
The post RUKKIT X MATICHON สตรีตอาร์ตในงานสัปดาห์หนังสือ appeared first on มติชนออนไลน์.