Quantcast
Channel: ประชาชื่น –มติชนออนไลน์
Viewing all 6405 articles
Browse latest View live

“ใจแผ่นดินคือความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดินของประเทศ”คำต่อคำ ณัฐวุฒิ อุปปะ ภาคีSaveบางกลอย

$
0
0

“อยากให้จดหมายฉบับนี้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิมที่ชาวบ้านจะต้องมาเคลื่อนไหวในทุกครั้ง บททดสอบครั้งนี้จะวัดศักยภาพการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านบางกลอย ซึ่งครั้งนี้เราจะกลับกันไปก่อนแต่ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อตกลงที่ได้ลงนามกันนี้ เราก็พร้อมกลับมาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะเราถือว่าได้ทำพิธีแล้วว่าพื้นที่แห่งนี้คือหมู่บ้านใจแผ่นดิน”

คือคำกล่าวของ “ณัฐวุฒิ อุปปะ” ในฐานะตัวแทนภาคีเซฟบางกลอยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจะแยกย้าย “กลับบ้าน” หลัง 4 ตัวแทนรัฐยอมจรดปากกาลงนามตามเอ็มโอยู 3 ข้อเรียกร้องด่วน และ 6 ข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

แม้ต่อมาในวันเดียวกันเกิดกระแสข่าวการถูกสกัดโดยเจ้าหน้าที่ ทว่า สุดท้าย ชาวบางกลอยถึงบ้านอย่างสวัสดิภาพเมื่อเวลาประมาณ 20.45 น. ของค่ำคืนนั้น ท่ามกลางความวาดหวังว่าจะไม่ถูกข่มขู่ คุกคามจากภาครัฐ และได้ใช้ชีวิตตามวิถี สุขสงบดังเช่นในอดีต

ย้อนไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ป้ายผ้า “ชาติพันธุ์ก็คือคน” โผล่กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ชวนให้ผู้คนหันมาสืบค้นข้อมูลในอดีต ก่อเกิดแฮชแท็ก #saveบางกลอย หลังรับทราบถึงเส้นทางต่อสู้และการเป็นผู้ถูกกระทำนับแต่ พ.ศ.2539 ซึ่งภาครัฐมีความพยายามผลักดันคนออกจากป่า กระทั่งถึงจุดพีคเมื่อ พ.ศ.2554 เกิดเหตุที่เรียกต่อมาว่า “ยุทธการตะนาวศรี” ไล่รื้อและเผาบ้านเรือนของชาวปกากะญอ หรือกะเหรี่ยงแก่งกระจาน 98 หลังคาเรือน ภายใต้ข้อหารุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งที่ปรากฏหลักฐานในแผนที่ของกรมแผนที่ทหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2455 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6

ต่อมาในปี 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ พยานฟ้องคดีเอาผิดภาครัฐจากกรณีดังกล่าวหายตัวไป ก่อนที่ในปี 2561 ศาลตัดสินให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นฝ่ายชนะ กระทั่ง 1 ปีต่อมาพบหลักฐานว่าบิลลี่ถูกฆ่าและเผา หลงเหลือเพียงเศษกระดูกในถัง

ตัดฉากมาในปี พ.ศ.2564 ชาวบ้านบางกลอย 36 ครอบครัว ราว 80 คน เดินเท้ากลับขึ้นไปยัง “ใจแผ่นดิน” เนื่องจากประสบปัญหาด้านพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิตเปลี่ยน แต่เกิดปฏิบัติการบางอย่างจากรัฐที่ชาวบ้านมองว่าเป็นการขัดขวาง การเรียกร้องความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้น

ไม้ไผ่ ตับหญ้าคาถูกนำมาประกอบสร้างเป็นบ้านเรือนในวิถีกะเหรี่ยง ผูกป้าย “ใจแผ่นดิน” ตั้งชุมชนริมคลองเปรมประชากร ข้างทำเนียบรัฐบาล (อ่านข่าว ผูกไม้ไผ่ มุงตับหญ้าคา สร้างหมู่บ้าน ‘ใจแผ่นดิน’ ข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งรูปปู่คออี้-บิลลี่)

เรียกร้องให้ภาครัฐลงนามในบันทึกข้อตกลง เลิกข่มขู่ คุกคามชาวบ้านที่ต้องการกลับใจแผ่นดิน

นอกจากนี้ ยังมีวงเสวนา “ทำไมต้อง save บางกลอย” ชวนกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านใจแผ่นดิน อีกทั้งนักวิชาการด้านวนศาสตร์ มาพูดคุยในหลากหลายประเด็น (อ่านข่าว วงเสวนายัน กลับ ‘ใจแผ่นดิน’ คือความชอบธรรม แนะกรมป่าไม้ยอมรับปวศ. กะเหรี่ยงอยู่ก่อนตั้งอุทยานฯ)

แน่นอนว่า หนึ่งในนั้น คือ ณัฐวุฒิ อุปปะ ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย คนเมืองผู้ซึ่งติดตามปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดสรรที่ดินทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดนแจก “อั่งเปา” เป็น “หมายเรียก” จากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวบ้านบางกลอยเป็นที่เรียบร้อย

ยังไม่นับบทบาทการเข้าเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยในฐานะตัวแทนคณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ให้ติดตามการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ถ้อยคำต่อไปนี้ คือคำกล่าวแบบคำต่อคำจากเสวนาดังกล่าวที่ชวนให้เข้าใจปมปัญหาระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านบางกลอย อีกทั้งภาพกว้างในความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินทำกิน ที่ต้องร่วมกันปรับทัศนคติ

“ใจแผ่นดิน” เก่ากว่า พ.ร.บ.ป่าไม้ การรับผิดชอบประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่ต้องเรียกร้องกับรัฐไทย

ถ้านึกถึงบางกลอย นึกถึงใจแผ่นดิน ผมนึกถึงความบิดเบี้ยวของการจัดการที่ดินของประเทศไทย พี่น้องที่เป็นชุมชนดั้งเดิมหลายแห่ง ตั้งชุมชนมาก่อนการมีกฎหมายอีก ยกตัวอย่างสำคัญ อย่างชุมชนบ้านกลาง จังหวัดลำปาง มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานจากการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ 120 ปีที่แล้ว คือ พ.ศ.2424 สมัยรัชกาลที่ 5 หมายความว่าตั้งก่อนการสถาปนากรมป่าไม้เสียอีก กรมป่าไม้สถาปนาปี 2439 ถ้าใครบอกว่ากรมป่าไม้รักป่านักหนา ให้ถามว่าตั้งขึ้นมาครั้งแรกเพื่ออะไร พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เพื่อการตัดไม้ เพิ่งจะมาอนุรักษ์ตอนหลัง ไปดูในโลโก้กรมป่าไม้ ยังเป็นท่อนซุงอยู่เลย อธิบดีคนแรกไม่ใช่คนไทย แต่เป็นชาวอังกฤษที่อยู่ในบริษัทสัมทานป่าไม้ บ้านกลาง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเตรียมประกาศอุทยาน ป่าสงวนอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ บ้านกลางเกิดก่อนการสถาปนากรมป่าไม้ รักษาป่ามามากกว่า 100 ปี วันนี้กำลังจะถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุก นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

ผมกำลังจะบอกว่าการรับผิดชอบประวัติศาสตร์ การไม่กระแดะในประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่เราต้องเรียกร้องกับรัฐไทย ไม่ใช่บอกว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก

แผนที่ทหารประกาศไว้เมื่อปี 2455 ระบุว่ามีชุมชนใจแผ่นดินอยู่ในพื้นที่แล้ว กรมป่าไม้ กรมอุทยาน พระราชบัญญัติป่าไม้เพิ่งมีในปี 2484 หลังชุมชนใจแผ่นดิน 30 กว่าปี ชุมชนใจแผ่นดินมีหลักฐานอย่างน้อยคือปี 2455 ในขณะที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพิ่งได้รับการประกาศในปี 2524 หรือประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่วันนี้เกิดอะไรขึ้น รัฐไทยพยายามบอกว่าชุมชนใจแผ่นดินบุกรุกอุทยานฯ ถ้าดูข้อมูลนี้อย่างไม่อคติ ปิดกั้น หรือลดทอนความฉลาดของตัวเองเกินไป อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติคือผู้บุกรุกใจแผ่นดิน

เพราะฉะนั้นการพูดความจริงกันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับก่อน การกลับใจแผ่นดินของพี่น้องใจแผ่นดิน เป็นความชอบธรรม เขาต้องสามารถทำได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ว่า การประกาศเป็นอุทยานเมื่อปี 2524 ถือว่าเป็นการละเลยประวัติศาสตร์ทั้งหมด แบบนี้ไม่เรียกกฎหมาย เพราะกฎหมายต้องมาจากความเป็นธรรม ผมยืนยันว่าปัญหาของพี่น้องใจแผ่นดิน ไม่ใช่ปัญหาของเฉพาะชาวบ้านใจแผ่นดิน แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

32 ตารางวา ผ่อนค่อนชีวิต ความเหลื่อมล้ำจากปัญหาโครงสร้าง

ประเด็นป่าไม้และการจัดการที่ดิน สำคัญกับคนเมืองอย่างไร สิ่งที่เยาวชนร่วมกันต่อสู้อยู่ มีคำสำคัญว่าระบบศักดินา เมื่อก่อนการกำหนดศักดินา มาจากการถือครองที่ดิน ใครศักดินาเยอะ ถือครองที่ดินเยอะ เราจะเห็นชื่อคลอง ชื่อถนนเป็นกลุ่มศักดินา ขุนนาง มีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

อยากให้นึกในใจว่าตอนนี้ตัวเองมีที่ดินเท่าไหร่ ผมมีประมาณ 32 ตารางวา ไม่ได้มีโฉนด เพราะเป็นคอนโด กว่าจะเป็นเจ้าของ 32 ตารางวานี้ได้ ผ่อน 20 ปี ประเทศไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ ประชากร 60 ล้านคน ถ้าเอาตามความเป็นธรรมทุกคนต้องได้ถือครองที่ดิน อย่างน้อยคนละ 2 ไร่ ถามว่าใครมีที่ดินที่ซื้อเองเกิน 2 ไร่บ้าง และใครมีโฉนดที่ดินเกิน 2 ไร่บ้าง

พ่อผมเป็นตำรวจ ตำรวจชั้นผู้น้อยเงินเดือนไม่กี่หมื่น จะมีบ้านสวัสดิการก็ผ่อนไปจนเกือบเกษียณ พ่อผมเกษียณแล้วยังต้องเอาเงินเกษียณไปโปะบ้าน โปะสหกรณ์

ผมพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าปัญหาโครงสร้างการจัดการที่ดิน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะคนบางกลอย ผมมั่นใจว่าคนกรุงเทพฯหลายคนสถานะไม่ต่างจากผม มีรายได้น้อยนิดไปผ่อนคอนโดเกือบ 20 ปี ตอนนั้นผมอายุ 60 นี่คือความเหลื่อมล้ำ


เปิดข้อมูล ล้างมายาคติ ป่าหายเพราะ “คนบนดอย” ทำลาย

สิ่งหนึ่งที่พูดทุกครั้งเมื่อพูดเรื่องชาติพันธุ์ คือ ผมขอโทษพี่น้องชาติพันธุ์ ขอรับผิดชอบกับสิ่งที่เคยหยามเหยียด และโง่เขลามากๆ ช่วงสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ข้อสอบถามว่าสาเหตุที่ป่าประเทศไทยสูญหายไปคืออะไร ก็ต้องตอบว่า คนบนดอยทำไร่เลื่อนลอย ถึงจะได้คะแนน แต่อยากให้ลองคิดตามว่า หากชาติพันธุ์เป็นคนทำลายป่า ข้อมูลจากการสำรวจป่าไม้ประเทศไทย เมื่อปี 2562 จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชาติพันธุ์เยอะมาก มีพื้นที่ป่าไม้มากถึงร้อยละ 86 คำถามคือ ถ้าเชื่อว่ามีชาติพันธุ์ตรงไหนก็ถามหมดแหละ ถามว่าทำไมแม่ฮ่องสอนมีป่าไม้ถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนกรุงเทพฯ เมื่อมีฝุ่นควัน น้ำท่วม ภัยแล้ง ชี้นิ้วไปที่คนบนดอย ทั้งที่พวกเขารักษาป่า กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ป่าอยู่ทั้งหมด 0.3 เปอร์เซ็นต์

ย้อนกลับมาดูอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่พี่น้องกะเหรี่ยงอยู่ ข่าวที่ออกมา อยากให้สื่อบางสำนักฟังข้อมูลแล้วกลับใจ อย่าเอาจรรยาบรรณไปขายเพื่อเศษตังค์ อุทยานฯ หลายแห่งพยายามบอกว่าที่ใดมีชาติพันธุ์ ที่นั่นคือต้นตอของการสูญเสียพื้นที่ป่า แต่ปรากฏว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่หลักคือ เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ 3 ปรากฏว่ากาญจนบุรีติดอันดับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด เพชรบุรีที่พี่น้องใจแผ่นดินอยู่ และถูกบอกว่ากะเหรี่ยงทำลายป่า มีป่าถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ประจวบคีรีขันธ์มีป่า 37 เปอร์เซ็นต์

แล้วกะเหรี่ยงคือคนทำลายป่าจริงหรือเปล่า ถ้าทำลายจริง กรุงเทพฯไม่มีกะเหรี่ยง ทำไมป่าเหลือ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เพชรบุรีเหลือป่าถึง 57 เปอร์เซ็นต์ เพราะนั้น สังคมไทยจะยอมรับข้อมูลจากภาครัฐที่หลอกลวงอยู่ไหมว่าสาเหตุของการสูญเสียป่ามาจากชาติพันธุ์ ภาคี save บางกลอย ซึ่งเป็นคนเมืองเสียส่วนใหญ่ที่เห็นความไม่เป็นธรรม มาช่วยกันลดมายาคตินี้ ช่วยกันชำระประวัติศาสตร์ว่าที่เราถูกหลอกลวง

มายาคติที่กล่าวว่า ชาติพันธุ์เป็นต้นเหตุโลกร้อน ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวดเร็วขึ้นก็เป็นสิ่งที่ไม่จริง อยากให้เปลี่ยนทัศนคตินี้ คนเมืองเสียอีกที่ทำให้คาร์บอนสูงขึ้น แต่ไม่ได้ปลูกต้นไม้อะไรเลย อย่างผมมีแคคตัสอยู่ 7-8 ต้น

“ธนาคารออกซิเจน” ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย ไร่เลื่อนลอยไม่ใช่ไร่หมุนเวียน

จากการศึกษาที่ชุมชนบ้านกลาง จังหวัดลำปาง พบว่าป่าชุมชนบ้านกลางปล่อยออกซิเจนให้สำหรับมนุษย์ ซึ่ง 1 คนใช้ออกซิเจนเกือบ 1 กิโลกรัมต่อวัน ในป่าชุมชนนี้สามารถปล่อยออกซิเจนให้คนได้ถึง 57,000 คน หมายความว่าชุมชนบ้านกลางซึ่งมีพี่น้องชาติพันธุ์ประมาณ 400 คน เป็นธนาคารออกซิเจนให้คนเมือง นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าการดูแลป่าของพี่น้องชาติพันธุ์ ไม่ได้เป็นภาพมายา มีข้อมูลอ้างอิง

รอบการทำไร่หมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือรอบการหมุนอย่างน้อยต้อง 7 ปี ระหว่างนั้นมีการเผาไหม มี แต่ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าแม้จะเผาไร่ เช่น ชุมชนบ้านกลาง เผาเพียง 1 ใน 7 ของพื้นที่ ที่เหลือสามารถกักเก็บคาร์บอนเลี้ยงคนได้มากมายอย่างที่บอกไปแล้ว

นอกจากการที่ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย และไร่เลื่อนลอยไม่ใช่ไร่หมุนเวียนแล้ว ถ้ามีการสื่อสารทางสื่อหรือบางหน่วยงานว่าชาติพันธุ์เผาไร่ ให้ตั้งคำถามต่อไปว่า เป็นการได้ถ่ายให้เห็นภาพรวมหรือไม่ หรือเจาะจงถ่ายเฉพาะจุด

ถ้าเป็นการทำไร่หมุนเวียน ไม่ได้เป็นการเพิ่มปริมาณคาร์บอน หรือทำให้โลกร้อนเลย กลับเป็นชุมชนที่ทำไร่หมุนเวียนนั่นแหละ ที่เป็นธนาคารออกซิเจนให้ประเทศ

รัฐต้องปรับทัศนคติรับความหลากหลาย ก๊อปโมเดลฝรั่งใช้ทั้งประเทศ ไม่เวิร์ก

ผมคิดว่าการจัดการป่าไม้ของรัฐไทยต้องปรับทัศนคติ อย่างแรกคือจากที่เคยไปเอาโมเดลของเยลโล่สโตน ที่อเมริกามา เอาโมเดลของออสเตรเลียมา วันนี้มันได้รับการพิสูจน์เชิงประจักษ์แล้วว่า ป่าปลอดคนไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนเท่าการหาวิธีการให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนได้ นี่คือสิ่งที่รัฐต้องปรับ อย่างที่ 2 คือ ทัศนคติสังคมต้องมองบนพื้นฐานของการตั้งคำถาม ต้องออกจากมายาคติที่เคยถูกหลอกลวงให้ได้ แล้วกลับมาอยู่กับข้อเท็จจริง ผมไม่ได้เชิญชวนให้ต้องมาเข้าข้างพี่น้องชาติพันธุ์ อยากให้แค่ตั้งคำถามและแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วค่อยตัดสินใจ

อย่างที่ 3 อยากให้ช่วยกันเรียกร้องการจัดการป่าไม้ในสังคมพหุวัฒนธรรมไม่มีชุดบทเรียนใดดีที่สุด ไม่มีชุดบทเรียนใดที่ใช้ได้ในพื้นที่หนึ่ง แล้วการันตีได้ว่าใช้กับอีกพื้นที่หนึ่งแล้วประสบผลสำเร็จ เราต้องยอมรับในสังคมและวิถีการผลิตที่หลากหลาย แล้วออกแบบกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีเหล่านั้น ไม่มีป่าถ้าไม่มีคน มีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่แล้วว่าป่าที่ไม่มีคน พื้นที่ป่าลดลงตลอด

ปีที่แล้วมีพี่น้อง 5-6 คนเสียชีวิตจากการไปดับไฟป่า เพราะป่าเหมือนชีวิตของเขา เขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและการส่งต่อป่าให้กับคนรุ่นต่อไป ผมไม่ได้บอกว่าพี่น้องชาติพันธุ์ถูกทั้งหมด แต่อยากสื่อสารว่าขอให้แสวงหาข้อเท็จจริง ผมก็เหนื่อยกับการทะเลาะกับเจ้าหน้าที่

“แต่สิ่งสำคัญคือพลังของข้อเท็จจริง พลังของชนชั้นกลาง พลังของคนเมืองที่จะขับเคลื่อนความจริงไปสู่ทิศทางแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป”

เปิดเอ็มโอยู 3 ข้อเรียกร้อง 6 ข้อเสนอ 7 ลายเซ็น

ในช่วงเย็นของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ภาพลายมือชื่อของบุคคล 4 ราย ในบันทึกข้อตกลง ถูกเปิดเผยกลางชุมชนใจแผ่นดินแห่งใหม่ ณ สะพานชมัยมรุเชฐ

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ตามมาด้วยการร่วมกันลงนามของภาคประชาสังคม ได้แก่ ผู้แทนพีมูฟ ผู้แทนภาคีเซฟบางกลอย ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย รวม 3 ราย ที่ก้มลงจรดปากกาเซ็นเอกสารซึ่งวางอยู่บนพื้นถนนพระราม 5 ก่อนที่จะประกาศเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้นโดยมีการอ่านแถลงการณ์เน้นย้ำให้ภาครัฐกระทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง และ 6 ข้อเสนอดังที่ปรากฏในเอ็มโอยู 6 ฉบับ

ใจความสำคัญคือข้อเสนอเร่งด่วนในเอกสาร ได้แก่

1.ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด

2.หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง อาหาร รวมถึงการตั้งจุดสกัดเดิม และที่จุดเพิ่มเติมขึ้นมาทั้งหมด

3.ยุติคดีของสมาชิก ภาคี#SAVE บางกลอย ทั้งหมด 10 คน กรณีการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวง

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในประเด็นการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 6 ข้อ คือ

1.ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกิน และดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยการรับรองสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม

2.ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน

3.ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย

4.ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการพื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน

5.ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดำเนินการจัดสรรที่ดินทั้งที่ดินอยู่อาศัย และทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง

6.รัฐจะต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการตั้งจุดสกัด เดินลาดตระเวนและตรวจค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสมาชิกชุมชนบางกลอย

“พงศ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร” หรือ แบงค์ ชาวปกากะญอ จากชุมชนบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน บอกว่า จะไปชี้แจงให้ชาวบ้านทราบถึงข้อตกลงตามเอกสารที่ได้มีการลงนามร่วมกันครั้งนี้ และจะนำข้อตกลงนี้ไปติดที่ศาลาพอละจี ซึ่งเป็นศาลาอเนกประสงค์ของชุมชนบ้านบางกลอย ตั้งชื่อตาม บิลลี่ พอละจี นักต่อสู้ผู้สูญหาย

“ส่วนสถานการณ์นับจากนี้จะเป็นอย่างไร ภาครัฐจะดำเนินตามตัวอักษรที่ลงนามไว้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องต้องจับตา”

The post “ใจแผ่นดินคือความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดินของประเทศ” คำต่อคำ ณัฐวุฒิ อุปปะ ภาคีSaveบางกลอย appeared first on มติชนออนไลน์.


คอลัมน์ ตามรอยพ่อไปชิม ‘ครัวกะโหลกกะลา’โดย ปิ่นโตเถาเล็ก

$
0
0

ตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ครั้งแรกในบ้านเรา ทำให้ใครๆ หลายคนได้แสดงศักยภาพอันซ่อนเร้นออกมาอย่างน่าดูชม ได้ทำตามความฝันทำอาหารขายออนไลน์ มีหลายรายที่ฝีมือดีจนต้องนำมาบอกต่อ หนึ่งในนั้นก็คือร้านออนไลน์ของหนุ่มใหญ่ในสายงานครีเอทีฟโฆษณา ผู้ตั้งชื่อได้เก๋ไก๋ว่า ครัวกะโหลกกะลา

ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครัวกะโหลกกะลานั้นมีชื่อว่า วสันต์ มูลเชื้อ หรือคุณติ่ง พื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ ชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาเคยรับลูกชิ้นมาทอดขาย และที่โรงเรียนมีวิชาสอนทำอาหาร ให้ตำพริกแกงเอง พอปิดเทอมเลยอาสาทำอาหารใส่กล่องมื้อกลางวันให้แม่นำไปที่ทำงาน อีกทั้งยังช่วยเพื่อนๆ พ่อซึ่งมาจากภาคต่างๆ ของประเทศไทย ทำกับข้าวและกับแกล้มอยู่ตลอด แถมยังเคยเป็นลูกศิษย์วัด เข้าครัวเป็นลูกมือช่วยญาติโยมทำอาหารถวายพระอีกด้วย

เจ้าตัวมีพรสวรรค์ทำอาหารอร่อยแบบบ้านๆ ถึงเครื่อง มีการประยุกต์เล็กน้อยให้เป็นสไตล์เฉพาะตัว ในช่วงกักตัวล็อกดาวน์ปีที่แล้ว จึงสบโอกาสทำอาหารไทยขาย โดยมีคลิปสนุกๆ โปรโมตเมนูสัปดาห์ละครั้ง ประกาศไปก่อนว่าจะทำเมนูอะไร ครั้งละ 1-2 อย่างเท่านั้น

คุณติ่ง

เริ่มแรกได้เพื่อนฝูงคนรู้จักลองสั่งมาชิม จากนั้นมีการแนะนำปากต่อปากบอกต่อๆ กันไป จนตอนนี้กลายเป็นงานอดิเรกประจำที่ต้องเข้าครัวเกือบทุกอาทิตย์ และมีเมนูเด็ดรวมเกือบ 20 อย่างแล้ว แต่ละเมนูให้ปริมาณเพียงพอสำหรับกิน 2 คนได้สบายๆ

คุณติ่งกับลูกทีมรวม 3 คนซึ่งเป็นชายล้วน ถือคติที่ว่าเวลาทำอาหารต้องทำให้สุดฝีมือและหัวใจ ตั้งแต่เรื่องคัดสรรเลือกวัตถุดิบ ไกลแค่ไหนก็ต้องไปเอามาให้ได้

ของอร่อยที่ทำให้ปิ่นโตเถาเล็กรู้ซึ้งถึงความเข้มข้นถึงเครื่องของครัวกะโหลกกะลาในครั้งแรกก็คือ ซี่โครงหมูผัดพริกแกงใต้ (259 บาท) ซี่โครงหมูซึ่งบางครั้งได้ส่วนกระดูกอ่อนมาด้วย ปรุงจนเข้มข้นรสจัด พริกแกงใต้ซึมเข้าเนื้อทุกอณู แกล้มด้วยข่าอ่อนชิ้นบางๆ ผัดกับเครื่องแกงหอมๆ เรียกเหงื่อได้ตั้งแต่คำแรก แต่ถึงจะเผ็ดก็อร่อยจนหยุดกินไม่ได้

ซี่โครงหมูผัดพริกแกงใต้

ทีเด็ดอยู่ที่การผสมพริกแกงใต้จากพัทลุง 1 ส่วน กับพริกแกงเผ็ดภาคกลางทำเอง 2 ส่วน ใส่ทั้งพริกแห้งและพริกขี้หนูสด เคี่ยวกระดูกหมูกับหัวกะทิและพริกแกงจนเปื่อย จากนั้นโรยใบมะกรูดลงไป

มีของดีอีกอย่างที่ห้ามพลาด ครัวกะโหลกกะลาทำเมื่อไหร่ ต้องสั่งมาลองให้จงได้ นั่นก็คือ แกงเผ็ดเนื้อโคขุนเสือร้องไห้ (219 บาท มีผักสดให้ด้วย) ซึ่งใช้พริกแกงตัวเดียวกันกับซี่โครงหมูผัดพริกแกง ใช้เนื้อส่วนเสือร้องไห้ติดมันกับเนื้อซี่โครง โดยไปรับเนื้อโคขุนมาเองจากคลองหลวง ปทุมธานี เคี่ยวนาน 2-3 ชั่วโมงจนนุ่มหอมเข้าเนื้ออร่อยเป็นที่สุด กินคู่กับขนมจีนที่ให้มาด้วย

แกงเผ็ดเนื้อโคขุนเสือร้องไห้ กินกับขนมจีน

อีกอย่างได้ยินชื่อนึกว่าเป็นแค่ของธรรมดาบ้านๆ แต่พอได้ชิมคำแรกจะรู้สึกประทับใจในรสชาติเข้มข้นอย่างไม่น่าเชื่อ เมนูนี้ก็คือต้มข่าไก่ที่ไม่เหมือนต้มข่าไก่ทั่วไป ปรุงได้ถึงเครื่องไม่ใสโจ๋งเจ๋ง เข้มข้นด้วยกะทิกำลังดี รสจัดครบทุกรส หอมพริกขี้หนูสวน ซึ่งสูตรนี้จะใส่ขมิ้นเพิ่มความหอมอีกด้วย ต้มข่าไก่จะมาคู่กับหมูคั่วเค็มหวานรสกลมกล่อม (369 บาท) กลายเป็นเมนูคู่หูสุดอร่อย

ต้มข่าไก่รสเข้มไม่ธรรมดา คู่กับหมูคั่วเค็มหวาน

ที่ห้ามพลาดอีกเมนูคือ ปลากะพง(ยักษ์) ราดพริก (1 ชิ้นใหญ่ 249 บาท พร้อมข้าวสวย) พิถีพิถันคัดสรรวัตถุดิบ ไปซื้อปลากะพงน้ำกร่อยสดๆ ถึงแหล่งดังที่ฉะเชิงเทรา ขนาด 4 กิโลกรัมขึ้นไปเท่านั้น หั่นเป็นชิ้นยักษ์แล้วทอดจนกรอบนอกนุ่มใน ราดด้วยพริกที่ทำจาก พริกแห้ง พริกขี้หนูสวนสด พริกไทยเม็ด และกระเทียม ผัดจนเข้ากันดี นี่แหละคือรสชาติปลาราดพริกหอมเข้มสุดเด็ดแบบดั้งเดิม ไม่ใช่ปลาสามรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ตามร้านทั่วๆ ไปในยุคนี้ ขอย้ำว่าปลาชิ้นโตมาก

ปลากะพง(ยักษ์)ราดพริก

เมนูที่มีการใส่ลูกเล่นทำให้เกิดความโดดเด่นก็คือ ลาบฟัวกราส์ (ชุดละ 759 บาท) ถึงเครื่องแซ่บหอมมัน ปรุงแบบลาบอีสานใส่ข้าวคั่ว สะระแหน่ หมูสับ หนังหมู แถมยังใส่ผักแพว กระเทียมเจียว และกากหมู เพิ่มกลิ่นอายลาบเหนือ ส่วนตับห่านนั้น (ของดีกิโลละ 3,000 กว่าบาท) ทำเป็นชิ้นๆ จะได้เคี้ยวหอมมันเต็มคำ และตัวลาบยังคั่วกับน้ำมันตับห่านเพิ่มความหอมชุ่มฉ่ำ กินคู่กับขนมปังฝรั่งเศสทาเนยที่ให้มาพร้อมกัน (ในรูปนั้นทำซอสกระเทียมเพิ่มเอง ไม่มีขาย) คุณติ่งบอกว่านี่คือลาบหมอลำอีสานโมเดิร์นแดนซ์ฝรั่งเศสสลับด้วยการฟ้อนเล็บ

ลาบฟัวกราส์กินกับขนมปังฝรั่งเศส

ด้วยความที่เป็นคนเชียงใหม่ ครัวกะโหลกกะลาจึงมีน้ำพริกอ่องขายด้วย ซึ่งมาพร้อมกับผัดขนมจีนใส่หมูสับสไตล์ล้านนาและแคบหมู (ทั้งชุด 179 บาท) เป็นอาหารเหนือแท้ๆ แบบบ้านๆ เพิ่มความมันและเนื้อสัมผัสด้วยสามชั้นซอย มีเคล็ดลับอยู่ที่การโขลกน้ำพริกกับหมูสับและมะเขือเทศให้เข้ากัน แล้วแช่เย็นทิ้งไว้ 1 คืน จึงจะนำมาผัดกับน้ำพริกอีกทีเพื่อให้รสชาติเข้าเนื้อ

น้ำพริกอ่องมาพร้อมกับผัดขนมจีนใส่หมูสับและแคบหมู

นอกจากนี้ มีของกินที่ตั้งชื่อได้เก๋มาก ข้าวหมูอบสวรรค์บันดาล น้ำจิ้มแจ่ว (229 บาท ให้หมู 2 ชิ้นใหญ่ๆ) ทำจากสันคอหมูหมักรากผักชี กระเทียม พริกไทยเม็ด ลูกผักชี (จึงมีกลิ่นคล้ายหมูสวรรค์ด้วย) หมักทิ้งไว้ 1 คืนจนรสชาติเข้มข้นแบบบ้านๆ หอมเครื่องเทศ อย่าลืมราดน้ำจิ้มแจ่วเข้ากันดี ช่วยเพิ่มรสให้จัดยิ่งขึ้น

ข้าวหมูอบสวรรค์บันดาล น้ำจิ้มแจ่ว

ยังมีเมนูประจำแต่ละอาทิตย์ สลับกันไปครั้งละ 1-2 เมนู อีกหลายอย่าง เช่น ก๋วยเตี๋ยวหลอด (179 บาท) ราดเครื่องหมูสับ หมูสามชั้นและกุ้งแห้ง ที่ใช้แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวหนึบอร่อยของตระกูลจึงจากโรงงานที่เจริญกรุงเท่านั้น และก็มีเมนูแกงเผ็ดหมู สามชั้นทอดน้ำปลา หมูคั่วกะปิ หมูทอดรวมมิตร หมูกับไข่พะโล้ ต้มจืดหัวไชเท้ากระดูกหมู เป็นต้น

ก๋วเยเตี๋ยวหลอด

วิธีการขายนั้นจะโพสต์หรือทำคลิปโปรโมตล่วงหน้าทุกวันอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่ (มีหยุดบ้างบางสัปดาห์) ลงในเฟซบุ๊ก ครัวกะโหลกกะลา อินสตาแกรม kalockala_kitchen และ LINE @kalockala_kitchen ซึ่งสามารถสั่งได้ทั้ง 3 ช่องทาง โดยมีจำนวนจำกัดไม่กี่สิบชุดต่อครั้ง เพราะทำเป็นงานอดิเรกอย่างศิลปินจริงๆ ส่วนใหญ่จะส่งอาหารในวันพฤหัสบดีช่วงกลางวัน คิดค่าส่งตามระยะทาง ใครชอบอาหารรสจัดถึงเครื่องรสชาติดั้งเดิม ลองสั่งมาชิมรับรองไม่ผิดหวัง

ข้อมูลร้าน

ครัวกะโหลกกะลา

โดย คุณวสันต์ มูลเชื้อ(ติ่ง)

ที่ตั้ง 5/233 หมู่บ้านปริญญดา เกษตร-นวมินทร์(แจ่มจันทร์) ซ.นวมินทร์ 111 ถ.นวมินทร์ บึงกุ่ม 10240

โทร 08-1858-8186

วันเวลาขาย โปรโมตเมนูวันอาทิตย์เพื่อให้สั่ง และส่งอาหารวันพฤหัสบดี กลางวัน

ช่องทางการสั่งซื้อ

1.LINE @kalockala_kitchen

2.Facebook ครัวกะโหลกกะลา

3.Instagram kalockala_kitchen

แนะนำ ซี่โครงหมูผัดพริกแกงใต้ แกงเผ็ดเนื้อโคขุนเสือร้องไห้ ต้มข่าไก่ ปลากะพง(ยักษ์)ราดพริก ลาบฟัวกราส์ น้ำพริกอ่อง ข้าวหมูอบสวรรค์บันดาล-น้ำจิ้มแจ่ว ก๋วยเตี๋ยวหลอด

The post คอลัมน์ ตามรอยพ่อไปชิม ‘ครัวกะโหลกกะลา’ โดย ปิ่นโตเถาเล็ก appeared first on มติชนออนไลน์.

คาเฟ่ ‘กัญชา’ ตำรับยา อาหาร ก้าวแรกจาก คลายล็อก สู่ มูลค่าทางเศรษฐกิจ

$
0
0

จุดกระแส แบบมาแรงสุดๆ สำหรับพืชสมุนไพรใบเขียว คู่บ้านเมืองไทยมาแต่ในอดีต

เมื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี 2564

ปลด 5 ตำรับยา ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ให้เสพเพื่อรักษาโรค หรือใช้ศึกษาวิจัยได้ ทั้ง 5 ตำรับ

เป็นการนำออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ทำให้ต่อไปนี้ ใบ-ราก-ลำต้นกัญชา ไม่ใช่สารเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป

โดยภาครัฐ โฟกัสไปยัง “ยาศุขไสยาศน์” ที่มากสรรพคุณ ทั้งช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร เมื่อทานครั้งละ 2 กรัม วันละ 1 ครั้งก่อนนอน ทั้งยังมีสูตรที่กำลังพัฒนา อย่าง ยาแก้ไข้ผอมเหลือง แก้ลมแก้เส้น แก้ริดสีดวงทวารหนัก รักษาโรคผิวหนัง และยาที่ปรุงเพื่อแก้โรคทางจิต

ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงยาจากกัญชาสะดวกขึ้น ผ่านคลินิกแพทย์แผนไทยและแผนไทยประยุกต์ทั่วประเทศ สามารถใช้ใบกัญชา กัญชงไปประกอบอาหารเพื่อดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว ให้ใช้ตามวิถีภูมิปัญญาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือทำรายงานใดๆ ส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ขอให้ใบมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายเท่านั้น

ในขณะที่ภาค “เอกชน” เอง ก็สามารถขออนุญาตผลิตยาดังกล่าวได้ ที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย. นับแต่ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ต่อไปนี้คือความเคลื่อนไหวหลายด้าน ในแวดวงกัญชา

หลากสูตร เมนู 5 แฉก

กัญชา กับ ผู้ประกอบการอาหาร

เมื่อล็อกถูกคลาย หลายผู้ประกอบการต่างหันมาปรับสูตร เพิ่มลูกเล่นให้เป็นเมนูต่างๆ เจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพรูปแบบใหม่

เริ่มจาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หลังเผยแพร่เมนู “มาชิมกัญ” โดย ห้องอาหารอภัยภูเบศรเดย์สปา นำส่วนของ “ใบกัญชา” มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะ “รื่นเริงบันเทิงยำ” เติมเต็มทุกคำ สุขล้ำทุกเวลา, “ข้าวกะเพราสุขใจ” กินมื้อไหนก็ไม่เบื่อ, “เล้งแซ่บซดเพลิน” ช่วยเจริญอาหาร, “ก๋วยเตี๋ยวคึกคัก – ขนมปังคิกคัก” กินเสริมเวลาพัก แล้วจะรักทุกคำ ไปจนถึงเครื่องดื่ม “ซู่ซ่าร่าเริง” ที่ทำจากน้ำคั้นใบกัญชาสดๆ ผสมชา โซดา และน้ำผึ้งป่า ผลปรากฏว่าประชาชนจากทั่วสารทิศ หลั่งไหลไปชิมอย่างหนาแน่นตลอดทั้งวัน ไม่ย่อท้อแม้ต้องต่อคิวรอนานนับชั่วโมง

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ กัญชาในน้ำชาบู โดย “ชาบูอินดี้” มีทั้งเมนู “น้ำซุปอารมณ์ดี” ช่วยเจริญอาหาร ไปจนถึง “หมูแฮปปี้” “เทมปุระพาเพลิน”

อีกหนึ่งแนวคิดสุดเก๋ ร้าน “420 Cannabis Bar Bangkok” คาเฟ่กัญชาลับที่แรกในไทย ย่านศรีนครินทร์ ก็ต่อยอดฐานลูกค้ารุ่นใหม่ให้เป็นร้านสุดชิค เสิร์ฟชา ขนม ผสมใบกัญชาแท้ แถมมุมถ่ายรูปแน่น

ไปจนถึง “คลาส คาเฟ่” ชื่อดัง ที่ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากใบกัญชามาแปรรูป ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. จ.นครราชสีมา ให้เกิดผลผลิตคุณภาพ ต่อยอดกัญชาสู่การเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดนครราชสีมา จากการที่ร้านนำกัญชาเข้ามาเป็นส่วนผสมในเมนูอาหารและเครื่องดื่ม

โดยเริ่มเปิดตัว 3 เมนูแรก ใน 4 สาขา ให้ได้ชิมเครื่องดื่ม “อเมริกาโน่ กาแฟดำผสมกัญชา” , “มัทฉะ ชาเขียวผสมกัญชา” และ “ชากัญชาเพียว” ภายใต้แบรนด์ KhaoYai CALM เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หวังทดลองจำหน่าย ก่อนเก็บข้อมูลไปพัฒนาต่อ

เหล่านี้ คือผู้ประกอบการแห่งต้นๆ ที่ขานรับนโยบายปลดล็อกกัญชา นำร่องพัฒนา ไปใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการ ที่ประสงค์จะแปรรูปกัญชา-กัญชง เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย จะต้องขอเลข อย.ก่อน

แต่ความพิเศษคือ “ผู้ปรุงอาหาร” ไม่จำเป็นต้องผ่านหลักสูตรอบรม ก็สามารถขายเมนูอาหารจากกัญชาในร้านอาหารได้

แม้ปัจจุบันการปลูกกัญชายังจำกัด สำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ และแม้การนำกัญชามาทำเป็นอาหารจะยังเป็นศาสตร์ใหม่ แต่นี่ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ต่อยอด

ศูนย์วิจัยลงนาม

สวทช. เปิดแล็บมาตรฐาน

เทสต์ ‘กัญชา-กัญชง’

อีกหนึ่งความคืบหน้า ในมุมวิทยาศาสตร์การแพทย์

18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี มีความร่วมมือเกิดขึ้น ภายใต้บันทึกข้อตกลง ระหว่างวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน (วพพ.) จ.บุรีรัมย์ กับศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. หรือ NCTC (NSTDA Characterization and Testing Center) เพื่อร่วมวิเคราะห์ ทดสอบกัญชา หาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ ให้ได้มาตรฐานสากล

ซึ่งการลงนามการบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ คือหมุดหมายอันดีที่จะเสริมความแน่นด้านวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

“การลงนามครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ให้ผ่านการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ให้สามารถจำหน่ายและควบคุมคุณภาพได้เทียบเท่าหรือในระดับเดียวกับผลิตภัณฑ์สากล

อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ช่วยให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และภาคอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ทดสอบที่มีคุณภาพภายในประเทศ ตลอดจนควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และกำหนดราคาสินค้าได้อย่างชัดเจนและเป็นมาตรฐาน”

ณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ อธิบายถึงประโยชน์จากความร่วมมือครั้งนี้

สำหรับ “ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและส่งเสริมงานบริการวิเคราะห์ทดสอบ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคุมระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสนับสนุนกลุ่มงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ (National Quality Infrastructure)

โดยผู้อำนวยการศูนย์ฯบอกอีกด้วยว่า ทางศูนย์ NCTC จะเป็นผู้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีมาตรฐานสากล ด้วยการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบด้านกัญชา กัญชง สารสกัดและผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง (Cannabis Analytical Testing Center) หรือ CATC เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสินค้ามูลค่าสูง ให้ทั้งภาครัฐและเอกชน

ด้วยการวิจัยภายใต้ระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025 มาตรฐานสากล วิเคราะห์กัญชา-กัญชง อย่างครบวงจร ลึกไปถึงการทดสอบสารสกัดและผลิตภัณฑ์ ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณและตรวจสอบความปลอดภัย เช่น การหาปริมาณโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ตัวทำละลายตกค้าง สารพิษจากเชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน รวมถึงการหาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ให้ได้ค่ามาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และกำหนดราคาสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

ผลสุดท้ายปลายทาง ณฏฐพล ชี้ว่า จะทำให้ประชาชนในประเทศไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสม ปลอดภัย และได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานในระดับสากล รวมถึงได้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูงในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะการกระจายตัวของสารสำคัญ การหาชนิดและปริมาณสารสำคัญที่ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชาและกัญชง

เพิ่มศักยภาพ วิสาหกิจชุมชน

เพื่อความเป็น ‘สากล’

ด้าน ศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ มองการลงนามร่วมครั้งนี้

ว่า จะทำให้วิสาหกิจชุมชน เพลาพาเพลินเป็นศูนย์กลางรับส่งวัตถุดิบกัญชาจากเกษตรกรและวิสาหกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการนำไปวิเคราะห์และทดสอบประสิทธิภาพ หาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ให้ได้ค่ามาตรฐาน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทกัญชาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยแรกเริ่ม “วิสาหกิจชุมชน เพลาเพลิน” ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างรายได้จากการพึ่งพาตนเองและเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน จากการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร การผลิตสินค้าจากสมุนไพรต่างๆ และการถ่ายทอดความรู้ของสมุนไพรกับชุมชน รวมถึงสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกสมุนไพร

ซึ่งต่อมาวิสาหกิจฯเพลาเพลินได้ทำหน้าที่ปลูกกัญชาทางการแพทย์ ด้วยการทำเกษตรแบบมาตรฐานสูง และใช้รูปแบบ “โรงเรือนระบบปิด” โดยได้รับความร่วมมือ จากพันธมิตรภาคเอกชนและภาครัฐบาล

ล่าสุด สามารถควบคุมการปลูกกัญชาที่ใช้ในระดับการแพทย์ได้ค่าสารสำคัญคงที่ และนำไปใช้ผลิตเป็นยารักษาทางการแพทย์ได้ ช่วยยกระดับเพิ่มมูลค่าของพืชพันธุ์สมุนไพรด้านการเกษตรได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

“กลไกสำคัญที่ทำให้เราได้รับความเชื่อถือในระดับการแพทย์ที่ผ่านมา คือการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ร่วมกับระบบการปลูกที่ดี ตัวอย่างเช่น มีการตรวจสอบตั้งแต่ดินปลูก ที่เราต้องมั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี หรือสารโลหะหนัก ที่ต้นกัญชาจะสามารถดูดซับได้ และมีแร่ธาตุที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสายพันธุ์ที่เราปลูก จวบจนถึงการตรวจสอบค่าสารสำคัญจากรอบการเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นยาของทางโรงพยาบาล และตรวจสอบว่าไม่มีค่าสารอันตรายเจือปนในกัญชาที่เราเก็บเกี่ยว เพื่อส่งไปใช้ทำยาได้”

ศศิการ เผยด้วยว่า ในระดับต่อไปจะมีการนำส่วนอื่นๆ ของกัญชาและกัญชงไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้จำเป็นต่อวิสาหกิจฯอย่างมาก ในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถเพื่อร่วมแข่งขันในระดับสากล

ซึ่งหลายวิสาหกิจและกลุ่มธุรกิจขนาดย่อย อาจประสบปัญหาที่การเข้าถึงการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้ได้ยาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และมีแล็บตรวจในประเทศค่อนข้างจำกัด ดังนั้น วิสาหกิจเพลาเพลินฯจึงเล็งเห็นว่าการร่วมมือกับทางศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อภาคต้นน้ำการปลูก และภาคการเกษตร

เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้” ศศิการมองการณ์ไกล

อธิษฐาน จันทร์กลม

The post คาเฟ่ ‘กัญชา’ ตำรับยา อาหาร ก้าวแรกจาก คลายล็อก สู่ มูลค่าทางเศรษฐกิจ appeared first on มติชนออนไลน์.

กับข้าว กับปลา ความเป็นไทยในกระทะ ประวัติศาสตร์รสแซ่บที่ต้องลองชิม

$
0
0

“อาหารไทยมาพร้อมชาตินิยม ผมคิดว่าการใช้คำว่าอาหารไทยคงมีชัดๆ หลังเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย แต่คนทั่วไปไม่ได้ใช้คำนี้ กระทั่งหลัง พ.ศ.2500 คำว่าอาหารไทยถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวใน พ.ศ.2503 ยุคจอมพลสฤษดิ์ สมัยอยุธยาไม่ได้เรียกอาหารไทย คำนี้ในยุคกรุงธนบุรีก็ไม่มี ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มี ในวรรณคดีก็ไม่มี”

เป็นคำกล่าวตอนหนึ่งของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ระหว่างบันทึกเทปรายการ ‘ขรรค์ชัย-  สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘อาหารไทยร้อยพ่อพันแม่ แต่อร่อย จากกระทะเหล็ก เจ๊กปนลาว, แขก, ฝรั่ง’ ที่ย้ำชัดๆ ตอกเน้นๆ ด้วยว่า

“อาหารไทย เป็นคำที่เพิ่งเกิด อาหารไทยแท้ไม่มี เช่นเดียวกับคนไทยแท้ก็ไม่มี ตำราอาหารไทยเล่มแรกคือ ‘แม่ครัวหัวป่าก์’ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีคำว่าอาหารไทย แต่ใข้คำว่า ของกินอย่างไทย ในความหมายที่ไม่ใช่ไทยแท้ เพียงแต่แยกว่าไม่ใช่ของต่างประเทศ หรือฝรั่ง”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นสำคัญมากคือการที่อาหารจีนแพร่เข้ามาในความเป็นไทย โดยมีหัวใจคือ ‘กระทะเหล็ก’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญ

“ในประวัติศาสตร์ไทย เราไม่เคยพูดถึงอาหาร ทั้งที่มีหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี โดยเมื่อปี 2519 เมื่อขรรค์ชัย บุนปาน (ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด มหาชน) ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ มีข่าวเรือสินค้าจมที่พัทยา ชาวบ้านไปงมของขึ้นมาขายฝรั่ง นักโบราณคดีกรมศิลปากรไปดู ต่อมาจึงมีการตั้งโครงการโบราณคดีใต้น้ำ และมีการพบเรือที่เกาะคราม เอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีใต้น้ำไปพบกระทะเหล็ก อายุเรือลำน้ำราว พ.ศ.2000 ตรงกับสมัยอยุธยา ทำให้อาหารที่คนอยุธยากินมาแต่เดิมถูกพัฒนาขึ้นมา” อดีต 2 กุมารสยามเล่าต่อ ก่อนที่จะแสดงภาพลายเส้นพ่อครัวคนจีนในจิตรกรรมสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา พบที่กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ แล้วย้อนไปถึงหลักฐาน ‘ข้าว’ ที่เก่าสุดในไทย ณ ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุราว 7,000 ปีมาแล้ว โดยตระกูลข้าวที่เก่าแก่ในไทยและสุวรรณภูมิหรืออาเซียนคือข้าวเมล็ดป้อม หรือข้าวเหนียว ส่วนข้าวเจ้า คือข้าวเมล็ดเรียว คำว่าเจ้า หมายถึง ร่วน, ซุย, หุง ยังใช้อยู่ในภาษาไทยอาหม และไทยใหญ่ สำหรับรสหวานเดิม ไม่ได้จากน้ำตาลจากต้นตาล ไม่ใช่น้ำตาลจากอ้อย

“รุ่นผมกับขรรค์ชัยเพิ่งมากินน้ำตาลทรายทีหลัง สมัยเรียนวัดนวลนรดิศ กินก๋วยเตี๋ยวยังไม่มีน้ำตาลทราย ความหวานยุคเก่าคือน้ำตาลต้นตาลกับน้ำผึ้ง อุตสาหกรรมน้ำตาลจากอ้อยเกิดขึ้นทีหลัง” สุจิตต์กล่าว

ย้อนไปไกลกว่าช่วงชีวิตของสุจิตต์และขรรค์ชัย ในราวหลัง พ.ศ.1900 เทคโนโลยีจากจีน นั่นคือ ‘กระทะ’ พร้อมพืชผักผลไม้เข้าถึงสยามในยุคกรุงเก่า

แม้มาจากจีน ทว่า คำศัพท์ กระทะ มีรากมาจากภาษาสันสกฤต ว่า ‘กฎาหะ’

ส่วน ‘ตะหลิว’ ที่คู่กับกระทะ กลับมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ว่า ‘เตีย หลือ’ โดย เตีย แปลว่า กระทะ เหลือ หรือหลิว แปลว่า แซะ หรือตัก

การใช้กระทะเหล็กพร้อมตะหลิวปรุงอาหาร ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า เชิงสะพานปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ

พูดถึงกระทะ ก็ต้องพูดถึง ‘กับข้าว’ ซึ่งคู่มาด้วย ‘กับปลา’

หลักฐานเรื่องกับข้าวในยุคแรกเริ่ม จำกัดในกลุ่มแคบๆ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก หญ้า ผลไม้ และเกลือ จากนั้นจึงขยายออกไปตามความซับซ้อนของสังคม ทั้งรับ-ส่ง อีกทั้งผสมผสานวัฒนธรรมจากแดนใกล้และไกลออกไป

ปิ้ง ย่าง เผา จนถึง ‘ทำให้เน่าแล้วอร่อย’ อย่างปลาร้า ปลาแดก ปล่าเจ่า ปลาส้ม น้ำปลา กะปิ บูดู ฯลฯ

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมกันวิเคราะห์ว่าคนยุคนั้นกินข้าวกับปลา โดยใช้ปลาช่อนเป็นเครื่องเซ่น ‘เลี้ยงผี’ ฝังร่วมกับสิ่งของเครื่องใช้และอาหารอื่นๆ

หลักฐานเก่าสุดของไทยที่เกี่ยวในเรื่อง ‘กับปลา’ พบที่บ้านโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ใน ‘อุจจาระ’ อายุ 3,000 ปี รวมถึงกากของ ‘อาหารมื้อสุดท้าย’ ซึ่งประกอบด้วยแกลบข้าวป่า เกล็ดและก้างปลาในช่องท้อง

อีกหนึ่งประจักษ์พยานเน้นๆ คือซาก ‘ปลาช่อน’ ในหม้อดินเผา 3,000 ปีเช่นกัน จากหลุมศพดึกดำบรรพ์ที่บ้านโนนวัด ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ไหนจะ ‘ปลากรอบ’ ยุทธวิธีเก่าแก่ถึงขนาดปรากฏในภาพสลักที่ระเบียงคดรอบนอกของปราสาทบายน เสียมเรียบ กัมพูชา เมื่อ พ.ศ.1750 ปรากฏเป็นบุคคล 2 รายนั่งทำปลากรอบเสียบไม้ ตากแดด รมควัน ฉายภาพแจ่มชัดแม้กาลเวลาผ่านล่วงมาถึงกว่า 800 ปีมาแล้ว

มาถึงประเด็นเรื่องรสชาติ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ก็เปิดข้อมูลเผ็ดร้อนหวานมันพร้อมเสิร์ฟ ไม่ว่าจะเรื่องพริกไทย พืชสมุนไพรที่คนพื้นเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุ้นลิ้น โดยใช้ปรุงอาหารและยารักษาโรคมานานไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี เดิมคนไทยเรียกว่า ‘พริก’ พยางค์เดียว กระทั่งพืชพรรณชนิดใหม่มาจากทวีปอเมริกามีรสเผ็ดร้อนเฉกเช่นเดียวกัน พริกเฉยๆ จึงถูกเรียกว่า ‘พริกไทย’ แยกจาก ‘พริกเทศ’ หรือพริกสดที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

ส่วนรสเค็ม หากไม่ใช่น้ำปลา ก็ต้องนึกถึงเกลือ ซึ่งไม่เพียงเป็นอาหารและยา หากแต่เป็นของล้ำค่าโดยเฉพาะในอดีตกาล โดยเมื่อนับพันปีก่อนคือสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและอำนาจ ภาคอีสานของไทยทำเกลือสินเธาว์เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนซื้อขายถึง ‘โตนเลสาบ’ ในกัมพูชา กับลุ่มเจ้าพระยา รวมถึงใช้แทนเงินตราอีกด้วย

สำหรับรสหวาน มาจากวัตถุดิบธรรมชาติหลายชนิด อาทิ น้ำผึ้ง และน้ำตาลจากต้นตาลและมะพร้าว จนถึงน้ำตาลจากอ้อย

“น้ำตาลใกล้ชิดกับคนมากกว่าน้ำผึ้ง คนจึงเรียกน้ำหวานจากแหล่งอื่นๆ ทั้งหมดอย่างรวมๆ ว่าน้ำตาล แล้วตามด้วยชื่อแหล่งที่มา เช่น น้ำตาลมะพร้าว ได้จากจั่นมะพร้าว หรือเรียกตามลักษณะว่าน้ำตาลทราย ได้จากน้ำอ้อยที่ทำให้แห้งเป็นเกล็ด กับข้าวดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ไม่มีรสหวานนำ ถ้าจะหวานก็หวานด้วยรสธรรมชาติของวัตถุดิบที่เอามาปรุง เช่น แป้ง ผักบางชนิด และกระดูกสัตว์ รสหวานในกับข้าวที่ปรุงยุคแรกสุดควรเป็นของคนชั้นสูงที่มีบ่าวไพร่บริวารทำน้ำตาลหรือเกณฑ์เอามาจากท้องถิ่นปลูกตาลทำน้ำตาล

น้ำตาลโตนด กว่าจะเป็นเครื่องปรุงของคนบางกลุ่มก็ยุคหลังๆ ที่ทำเป็นสินค้าส่งขายแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่แพร่หลายเข้าไปในลุ่มน้ำอื่นๆ เช่น โขง ชี มูล ปิง วัง ยม น่าน” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมกันเผยข้อมูลเบื้องหลังของความหวาน

ถ้อยคำและหลักฐานข้างต้นจาก ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังมีอีกมากมายชวนให้ชมในรายการผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูบมติชนทีวี พร้อมเปิดประเด็นความเป็นไทยที่ผสมผสานหลากวัฒนธรรม โดยเฉพาะอิทธิพลจากจีนที่อยู่ร่วมกับสยามมาเนิ่นนานในสำรับอาหารที่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘ไทย’

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

The post กับข้าว กับปลา ความเป็นไทยในกระทะ ประวัติศาสตร์รสแซ่บที่ต้องลองชิม appeared first on มติชนออนไลน์.

นับถอยหลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ เปิดมุมมองจากสภาถึงชาวไร่ ‘อัตราเดียวคือคำตอบ’

$
0
0

ท่ามกลางปัญหาด้านปากท้องที่รัฐผุดโครงการต่างๆ เยียวยาผู้รับได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่หลงลืมไม่ได้ นั่นคือการที่รัฐบาลเตรียมประกาศโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่แบบใหม่ออกมาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตกำลังเร่งดำเนินการ

บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย ตลอดจนร้านค้าและตัวแทนจำหน่าย ต่างร่วมลุ้นกันว่ารายได้จากการประกอบอาชีพจะพอเลี้ยงปากท้องได้หรือไม่ โดยเมื่อย้อนอดีตไปตั้งแต่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อเดือนกันยายน 2560 จนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมยาสูบจนต้องหยิบยกมาพิจารณาอย่างจริงจัง

3 ปีป่วนถ้วนหน้า ไร่ อุตสาหกรรม ร้านค้า ยอดขายลด กำไรร่อยหรอ

นับแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งเปลี่ยนมาเก็บภาษีในอัตรา 2 ขั้นคือ อัตราตามมูลค่า 20% หากราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาท และอัตราตามมูลค่า 40% หากราคาขายปลีกเกิน 60 บาท นอกจากนี้ยังมีอัตราตามปริมาณอีกมวนละ 1.2 บาท สำหรับบุหรี่ทุกราคา ทำให้บุหรี่ยี่ห้อขายดีของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ต้องขึ้นราคาตามภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นสูงมากเป็นประวัติการณ์ และต้องเจอกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากบุหรี่นำเข้าบางยี่ห้อที่หนีตายลดราคาลงมาอยู่ที่ราคา 60 บาท เพื่อไม่ต้องโดนภาษีขั้นสูง การแข่งขันจึงมะรุมมะตุ้มกันอยู่ที่ราคาบุหรี่ไม่เกินซองละ 60 บาทกันเกือบทั้งตลาด

จากการแข่งขันราคาในตลาดบุหรี่ระดับล่างอย่างดุเดือด ทำให้การยาสูบฯเองมียอดขายบุหรี่ในประเทศลดลงอย่างน่าใจหาย จากที่เคยขายได้เกือบ 29,000 ล้านมวนเมื่อปี 2560 ก่อนปรับภาษี เหลือเพียง 18,000 ล้านมวนเศษๆ ในปี 2562 กำไรสุทธิก็ร่อยหรอจากปี 2560 เคยได้ถึง 9,343 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 513 ล้านบาทในปี 2562 โครงสร้างองค์กรยังมีความเป็นรัฐวิสาหกิจ การบริหารจัดการไม่มีคล่องตัวเหมือนบริษัทเอกชน ทำให้การปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในยุคใหม่ทำได้ลำบาก แม้ว่าจะแปลงสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วตั้งแต่ปี 2561 ก็ตาม

ผลจากการใช้โครงสร้างภาษีดังกล่าวก่อให้เกิดความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมยาสูบและสร้างความเดือดร้อนให้ชาวไร่ยาสูบ ตลอดจนร้านค้าที่จำหน่ายยาสูบ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมาตลอด นับแต่เริ่มประกาศใช้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้วที่เกษตรชาวไร่ยาสูบซึ่งเป็นลูกไร่ของ ยสท.ก็พลอยเดือดร้อนหนักต้องถูกตัดโควต้าไปเกือบ 50% ตั้งแต่ปี 2561, 2562 และ 2563 ติดต่อกัน โดยได้รับเงินชดเชยรายได้จากรัฐบาลในปีแรกเพียงปีเดียว

หันสูบยาเส้น บุหรี่เถื่อน บุหรี่นอกชิงส่วนแบ่งการตลาด

ประเด็นนี้ถือว่าได้รับความสนใจจากบรรดา ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ ส.ส.ที่มาจากจังหวัดพื้นที่ปลูกยาสูบ โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้หารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาใบยาสูบตกต่ำ โดยมี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และมี ส.ส.จากจังหวัดที่ปลูกยาสูบหลายคนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน, ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.จังหวัดแพร่ และ นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.จังหวัดเชียงราย เป็นต้น

ในการประชุมดังกล่าว บรรดา ส.ส.รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นตรงกันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบนั้นสาเหตุมาจากระบบภาษีสรรพสามิตบุหรี่ โดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐได้กล่าวในที่ประชุมว่า

“ทำไมรัฐจึงไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือทำให้ ยสท.แข่งขันได้ตามปกติ จะใช้อัตราไหน 20% 30% หรือ 40% ก็ให้เท่ากัน ถ้าใช้อัตราภาษีเดียวกันเชื่อว่าตลาดยาสูบจะกลับมาสู่ชาวไร่อีกครั้งหนึ่ง”

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564 เคยมีการอภิปราย 4 ญัตติที่เสนอในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาจากโครงสร้างภาษียาสูบโดยมิได้นัดหมาย

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายว่า ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีทำให้บุหรี่แพงขึ้นอย่างก้าวกระโดด กดดันให้ผู้บริโภคหันไปหาสินค้าทดแทนที่มีราคาต่ำกว่า เช่น ยาเส้น หรือบุหรี่เถื่อน และเงื่อนไขที่ทำให้บุหรี่ระดับล่างมีภาระภาษีที่น้อยกว่า ประกอบกับความไม่รัดกุมของข้อกฎหมายจึงทำให้บุหรี่ต่างชาติใช้วิธีการลดราคาเพื่อแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของบุหรี่ตลาดล่างซึ่งเดิมเคยเป็นของ ยสท.

“ปัญหาอยู่ที่การเก็บภาษีตามมูลค่า เพราะรัฐเก็บเป็น 2 อัตรา แทนที่จะเก็บภาษีอัตราเดียวตามหลักสากลตั้งแต่แรก” ณธีภัสร์ระบุ

ขณะที่ นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.จังหวัดศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ก็มีความเห็นตรงกันว่าโครงสร้างภาษีแบบ 2 อัตราเป็นตัวปัญหา จึงเสนอว่า “ควรปรับเป็นอัตราเดียวกันหมด เพื่อที่คนจะได้ไม่ไปเลือกลดราคามาแข่งกันในราคา 60 บาท”

‘ภาษีอัตราเดียว’คือทางออก สอดคล้องหลักสากล

สำหรับมุมมองของฝั่งเกษตรกรตัวจริง กิตติทัศน์ ผาทอง ผู้ประสานงานภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมกับคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า อยากให้รัฐแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

“รู้สึกดีใจที่รัฐมนตรีและ ส.ส.หลายๆ ท่านต่างเห็นตรงกันในเรื่องนี้ ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งใหม่นี้ไม่ควรจะสร้างความผิดพลาดเหมือนครั้งก่อน ที่อยู่ดีๆ ก็เริ่มใช้อัตราภาษีแบบ 2 ขั้น ทั้งที่เมื่อก่อนก็ใช้อัตราเดียวมาตลอด ไม่เคยมีปัญหา พวกเราไม่เคยเดือดร้อน” กิตติทัศน์กล่าว

โครงสร้างภาษีในปัจจุบันยังสร้างผลลัพธ์ที่สวนทางกับวัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีบุหรี่ โดยนักวิชาการด้านการควบคุมยาสูบ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย เคยตั้งข้อสงสัยว่าระบบภาษีบุหรี่ปัจจุบันนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ทำให้รัฐได้รับภาษีน้อยลง ขณะที่คนไทยจะสูบบุหรี่มากขึ้น และได้เสนอให้ขึ้นภาษีบุหรี่ที่ราคาขายต่ำกว่า 60 บาท ให้สูงกว่าอัตรา 20% ในปัจจุบัน หรือไม่ก็ยกเลิกเส้นตัดแบ่งอัตราภาษีที่ราคา 60 บาท ให้เหลือเป็นภาษีอัตราเดียวกันทุกยี่ห้อทุกราคา

ในขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเมืองอย่าง ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษียาสูบและได้รับทุนวิจัยเกี่ยวกับนโยบายภาษียาเส้นจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เห็นด้วยว่า การใช้ภาษีอัตราเดียวเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดและเป็นไปตามหลักสากล โดยควรให้ภาษีตามปริมาณมีสัดส่วนมากกว่าภาษีตามมูลค่า เนื่องจากง่ายต่อการจัดเก็บภาษีและมีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคมากกว่าภาษีตามมูลค่า และอัตราภาษีควรให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคตามสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้เสนอให้รัฐกำหนดแผนการขึ้นภาษียาเส้นควบคู่ไปกับการขึ้นภาษีบุหรี่ด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้มีประสิทธิภาพ ลดพฤติกรรมการบริโภคสินค้าทดแทนบุหรี่ และเพิ่มรายได้รัฐตามมาด้วย

จากข้อมูลและความเห็นข้างต้น สะท้อนว่ามุมมองจากฟากการเมือง ภาคประชาชน และภาควิชาการ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อยู่ที่ว่าผู้ที่รับผิดชอบการปรับโครงสร้างภาษีในกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังว่าจะรับฟังหรือไม่

The post นับถอยหลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ เปิดมุมมองจากสภาถึงชาวไร่ ‘อัตราเดียวคือคำตอบ’ appeared first on มติชนออนไลน์.

ไข่มงคล‘แองโก’ หลอมรวมความเชื่อผนวกศิลป์ร่วมสมัย

$
0
0

ความเชื่อไม่อาจแยกจากวิถีชีวิตผู้คนไม่ว่าชาติใด แม้ในสังคมร่วมสมัย ขนาด “แองโก” แบรนด์โคมไฟสุดเก๋ก็ยังผุดโปรเจ็กต์ที่เกิดจากการตั้งคำถามว่า “ของมงคลเสริมฮวงจุ้ยจะมีดีไซน์สวยๆ แบบ Contemporary art ได้มั้ย?” เพราะการหาของฮวงจุ้ยที่ถูกใจที่มีดีไซน์ยากมาก จึงเกิดแนวคิดการทำงานเชิงสัญลักษณ์ที่ตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว เมื่อนำมาจัดวางตกแต่งในบ้านแล้ว ทำให้ดูเก๋เหมือนเป็น Art pieces ชิ้นหนึ่ง

การพูดคุยกับ อาจารย์สุ กชกร พรมไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยจึงเกิดขึ้น หลอมรวมงานแฮนด์คราฟต์ซึ่งเป็นเทคนิคที่แองโกใช้ทำโคมไฟ กับของมงคลเสริมฮวงจุ้ย เกิดเป็น “ไข่มงคล” งานฝีมือที่ใช้ศิลปะในการถักทอ เชื่อมต่อจุดต่อจุดแบบต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ซึ่งต้องใช้ความอดทน ใช้ความนิ่ง มีสมาธิในการทำงานประดิษฐ์

ไข่มงคลสามสหาย เงิน ทอง นาก มาในนาม ‘พันธมิตรแห่งความมั่งคั่ง’ เหมาะกับการวางประดับในบ้าน บนโต๊ะทำงาน โต๊ะเรียนหนังสือ และการมอบเป็นของขวัญ

สำหรับความหมายของไข่มงคลในทางฮวงจุ้ย

รูปร่างทรงไข่ หรือทรงกลมรี หมายถึง ความราบรื่น ความกลมเกลียว รักสามัคคีกัน ไม่ติดขัด ปลอดภัย และสามารถปรับตัวอยู่ได้ในทุกที่ มีขนาดมงคล ยาว 52-54 มม. หมายถึง มีชีวิตที่ร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา มีขนาดมงคล กว้าง 42-44 มม. หมายถึง สมหวังในปรารถนา และเมื่อใส่เงินทองเข้าไปในไข่ หมายถึง มีโชคลาภความมั่งคั่ง ความราบรื่น กลมเกลียว รักสามัคคี อยู่ได้กับทุกสถานการณ์อย่างปลอดภัยไม่ติดขัด และได้รับการเกื้อหนุนอุปถัมภ์ช่วยเหลือจากผู้อื่นแบบไม่สิ้นสุด

ไข่มงคลสีเงิน เป็นสีพลังแห่งความสงบสุข ยุติธรรม เสริมสติปัญญาอัจฉริยะ วิสัยทัศน์กว้างไกล สื่อสารดี ทันสมัย และมั่งคั่งร่ำรวย

ไข่มงคลสีทอง เป็นสีพลังแห่งอำนาจบารมี ยศศักดิ์ ชื่อเสียง มิตรภาพที่ดี ความมั่นคง ความเป็นผู้นำ และมั่งคั่งร่ำรวย

ไข่มงคลสีนาก เป็นสีพลังแห่งความสุขสบาย ความสง่างาม มหาเสน่ห์ ชื่อเสียง จินตนาการ และมั่งคั่งร่ำรวย

ไข่มงคล 3 สี คือ สีเงิน ทอง และทองแดง (นาก) สื่อถึงของมีค่า 3 อย่างที่แตกต่างกันถูกนำมาอยู่รวมกันได้อย่างลงตัว แล้วเกิดพลังใหม่ที่มั่งมีศรีสุขขึ้น หากนำมาวางไว้ในบ้านหรือที่ทำงาน ย่อมส่งผลดีต่อครอบครัวหรือทีมงาน เสริมพลังให้มีความรัก สามัคคีกลมเกลียวกัน และมั่งคั่งขึ้นในกลุ่มพ่อแม่ ลูก หลาน หรือ เจ้าของ เจ้านาย ลูกน้อง เป็นต้น

ความหมายของตัวเลขจำนวนเหรียญในไข่มงคล
เลข 1 หมายถึง ความสำเร็จ ราบรื่น มีชัยชนะ มีความเป็นผู้นำ เป็นที่ยอมรับของสังคม
เลข 6 หมายถึง โชคฟลุกโชคใหญ่ไม่คาดฝัน เทพคุ้มครอง จินตนาการ มีความสุขสบายในชีวิต
เลข 8 หมายถึง ความมั่งคั่ง อำนาจบารมี ยศศักดิ์ ชื่อเสียง การช่วยเหลือเกื้อหนุนแบบไม่สิ้นสุด
เลข 9 หมายถึง ความเป็นมหามงคลในระดับที่สูงสุด และความทันสมัย

จึงมีการออกแบบใส่เหรียญเงิน 8 x 2 เท่า =16 เหรียญ เหรียญทอง 9 x 2 เท่า =18 เหรียญ และ เหรียญทองแดง 10 + 9 =19 เหรียญ ให้เป็นสองเท่าเพื่อเพิ่มพูนความเป็นสิริมงคลอันทรงอิทธิพลนั่นเอง จำนวนตัวเลขเรียงกัน 8, 9, 10 สื่อถึง พลังมหามงคลเพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในไข่มงคลแต่ละลูกที่มีเงินจำนวน 16, 18, 19 เหรียญ ย่อมหมายถึง การรวมความมงคลทุกประการของตัวเลข 1, 6, 8, 9 มาไว้ในไข่แต่ละลูกเรียบร้อยแล้ว

เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบที่สอกคล้องความเชื่อโบราณสู่สังคมร่วมสมัย ผสานความงามอย่างเรียบง่าย ทว่า เปี่ยมความหมายของงานอาร์ตที่เป็นสากล

The post ไข่มงคล‘แองโก’ หลอมรวมความเชื่อผนวกศิลป์ร่วมสมัย appeared first on มติชนออนไลน์.

สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’ ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย

$
0
0

สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’
ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย

รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปราสาทพนมรุ้ง อายุราว พ.ศ.1650 บริเวณศูนย์กลางมีปรางค์ประธาน และมีมณฑปทางทิศตะวันออกของปรางค์ประธานซึ่งด้านหน้ามีภาพสลักสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ (1.) ศิวนาฏราช (พระศิวะฟ้อนระบำ) อยู่ด้านบน เรียก “หน้าบัน” และ (2.) นารายณ์บรรทมสินธุ์ (พระนารายณ์นอนบนแท่นอยู่ใต้น้ำ) อยู่ถัดลงไปเรียก “ทับหลัง” (หรือใต้หน้าบัน) (ภาพปราสาทพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์ จากหนังสือปราสาทพนมรุ้ง กรมศิลปากร พ.ศ.2543)

เขียนเรื่องใหม่

สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’ ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย
ทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง อายุราว พ.ศ.1650 (ทับหลัง หมายถึงแผ่นหินสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางทับบนหลังของกรอบประตูทางเข้าอาคาร เพื่อทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักโครงสร้างส่วนบนของอาคาร)

สหรัฐอเมริกาเตรียมพร้อมส่งคืนไทยเร็วๆ นี้ กรณีทับหลังสองชิ้นซึ่งถูกขโมยไปจากปราสาทสองหลังที่ จ.บุรีรัมย์ กับ จ.สระแก้ว เรื่องนี้เป็นผลจากการริเริ่มติดตามใกล้ชิดของภาคประชาชนไทย แล้วขอความร่วมมือจากภาคราชการ (ระยะแรกถูกราชการไทยเตะถ่วงนานเป็นปี แต่ร่วมมืออย่างดีในระยะหลัง)

สหรัฐเคยส่งคืนไทยเมื่อ 33 ปีที่แล้ว กรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งถูกขโมยไปจากปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ การส่งคืนไทยของสหรัฐครั้งนั้นมาจากพลังประชาชนไทยในสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มชาวไทยล้วนๆ ในเมืองชิคาโก มีความเป็นมาโดยย่อ ดังนี้

1.ทับหลังนารายณ์กับบรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ถูกขโมยไประหว่าง พ.ศ.2502-2508 ช่วงสงครามเวียดนาม (สมัยสงครามเย็น) ขณะนั้นไทยมีรัฐบาลเผด็จการทหาร (สืบทอดอำนาจจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ปิดหูปิดตาประชาชน แต่เปิดช่องทางกว้างขวางการโจรกรรมโบราณวัตถุจากพุทธสถานและเทวสถานทั่วราชอาณาจักร ส่งขายทั้งในและนอกประเทศเป็นที่รู้กันระดับนานาชาติ

2.รัฐบาลไทยทวงคืนทับหลังไม่สำเร็จ โดยหน่วยราชการไทยส่งจดหมายทางการถึงสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ.2516 แต่สหรัฐไม่ส่งคืน ส่วนรัฐบาลไทยไม่ติดตามทวงถามต่อเนื่อง แล้วปล่อยทิ้งไว้ยาวนาน 15 ปี กระทั่ง พ.ศ.2531 เริ่มมีความเคลื่อนไหวใหม่จากสภาผู้แทนราษฎรของไทย

3.สภาผู้แทนฯ ของไทยรื้อฟื้นทวงคืนทับหลัง โดยคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (สภาผู้แทนราษฎร) รื้อฟื้นแล้วกดดันรัฐบาลทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2531 แต่รัฐบาลทวงคืน
ไม่สำเร็จ (เหมือนเดิมเมื่อ 15 ปีก่อน)

4. สื่อมวลชนนานาชาติและสื่อไทยกระพือข่าวทวงคืนทับหลังที่สหรัฐขโมยจากไทย โดยเน้นช่วงสงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในไทยทางภาคอีสาน เพื่อส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีเอกสิทธิ์ทางการทหารในสงครามกระตุ้นให้เกิดการทำลายโบราณสถานในอีสานเพื่อเอาโบราณวัตถุไปขายทั้งในกรุงเทพฯ และสหรัฐ รวมถึงที่อื่นๆ ในโลก

“มติชน” ส่งผู้สื่อข่าวพิเศษไปสหรัฐเพื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยเฉพาะ และสนับสนุนข้อมูลเรื่องทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เพื่อการทวงคืนของชาวไทยในสหรัฐ

5.พลังคนไทยในเมืองชิคาโกและเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐ รวมตัวทวงทับหลังอย่างไม่อ่อนข้อท้อถอย แม้รัฐบาลไทยไม่ประสบความสำเร็จที่ส่งนักวิชาการระดับสูงไปเจรจาโดยสหรัฐไม่สนใจไยดีและไม่ส่งคืน

ดังนั้น “คณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ” จึงปรับทิศทางทวงคืนด้วยการ “เข้าถึง” บุคคลสำคัญต่างๆ ที่มีพลังต่อรองทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของเมืองชิคาโกให้สนับสนุนการทวงคืนทับหลังของชาวไทย [“คณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ” เป็นองค์กรของชาวไทยในเมืองชิคาโก ได้ติดต่อสมาชิกสภาเมืองชิคาโก (City Council) มีมติเรียกร้องต่อสถาบันศิลป์ฯ เพื่อส่งคืนทับหลังให้แก่ประเทศไทย] ต่อมาคณะกรรมการกิจการพิเศษและการวัฒนธรรมของสภาเมืองชิคาโก กำหนดให้มีการไต่สวนสาธารณะ (Public Hearing) ณ ศาลาว่าการเมือง (City Hall) ในวันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2531

ครั้งนั้นชาวไทยเมืองชิคาโกร่วมกันออกทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด (โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทยสมัยนั้น) ทูลเชิญศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล (อดีตอธิการบดี และอดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เป็นผู้แทนจากไทยไปเมืองชิคาโกในการไต่สวนสาธารณะของเทศบาลเมืองชิคาโกกรณีทับหลัง โดยมีผู้ร่วมไต่สวนสาธารณะ ได้แก่ พิสิฐ เจริญวงศ์ (ขณะนั้นเป็นผู้แทนจากกรมศิลปากร) และ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ (ปัจจุบันเป็นรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ขณะนั้นเป็นหนึ่งใน “คณะกรรมการรณรงค์กรณีทับหลังฯ” ของกลุ่มชาวไทยเมืองชิคาโก)

ในที่สุดก็สำเร็จ แต่เพื่อรักษาหน้าตาชื่อเสียงบางประการทำให้สถาบันฯ ที่ถือครองทับหลัง “ปล่อยข่าว” ต่างๆ นานา แต่ท้ายที่สุดสหรัฐส่งคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ให้ไทยโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อปลายปี 2531

6. สหรัฐส่งคืนไทย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์) เมื่อ พ.ศ.2531 หรือ 33 ปีที่แล้ว หลังถูกขโมยไปตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนาม (ในสมัยสงครามเย็น) การส่งคืนไทยของสหรัฐมาจากเหตุหลายอย่าง อาจสรุปได้ดังนี้

(1.) ถูกเรียกร้องอย่างแข็งแรงและต่อเนื่องจากชาวไทยในสหรัฐที่รวมตัวเป็น
กลุ่มเหนียวแน่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการประสานงานอย่างเข้มข้นของกลุ่มชาวไทยในเมืองชิคาโก ซึ่งเปิดเผยตรงไปตรงมานานหลายเดือนจนเป็นที่ยอมรับถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาเมืองชิคาโก แล้วมีมติอยู่ข้างชาวไทย

(2.) ถูกประณามอย่างรุนแรงจากสังคมโลกกรณีสหรัฐโจรกรรมโบราณวัตถุ คือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ไปจากไทย

(3.) กลุ่มการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มชาวต่างประเทศในสหรัฐที่เคลื่อนไหวด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนหนุนช่วยทวงคืนทับหลังจนสำเร็จ

(4.) สื่อมวลชนในสหรัฐทั้งระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่นหนุนช่วยอย่างแข็งแรงจากการดำเนินการของกลุ่มชาวไทยเมืองชิคาโก

เส้นทางเครือญาติกษัตริย์กัมพูชา

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) ที่สหรัฐส่งคืน พ.ศ.2531 กับทับหลังที่สหรัฐจะส่งคืนปีนี้ พ.ศ.2564 ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ (จ.บุรีรัมย์) กับทับหลังจากปราสาทเขาโล้น (จ.สระแก้ว) ทับหลังรวม 3 ชิ้นมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ดังนี้

1.ถูกขโมยไปสหรัฐในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ระหว่างสงครามเวียดนาม (สมัยสงครามเย็น)

2.อยู่บนเส้นทางคมนาคมเดียวกันเกือบพันปีมาแล้ว ระหว่างที่ราบสูงอีสานในไทยกับที่ราบลุ่มโตนเลสาบในกัมพูชา

“ช่องเขา” พนมดงรัก

ปราสาทหนองหงส์กับปราสาทเขาโล้น ตั้งเป็น “แลนด์มาร์ก” บริเวณที่เป็น “ช่องเขา” ของทิวเขาพนมดงรัก เส้นทางขึ้นลงไปมาระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม

ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เป็นขอบที่ราบสูงต้นทางผ่านช่องเขาเรียก “ช่องตะโก” ลงสู่ที่ราบลุ่ม

ปราสาทเขาโล้น ตั้งอยู่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เป็นต้นทางที่ราบลุ่มรับทางลงจากที่ราบสูงผ่าน “ช่องตะโก” เพื่อเดินทางต่อไปถึงปราสาทสด๊กก๊อกธม (อ.หนองสูง จ.สระแก้ว) แล้วเข้าไปเขตกัมพูชา

[ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็น “ศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์” ของลัทธิเทวราช ที่กษัตริย์กัมพูชาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง]

ชุมชนระหว่างที่ราบสูง-ที่ราบลุ่ม

ปราสาทหนองหงส์ กับปราสาทเขาโล้น เป็นศูนย์กลางชุมชนบนเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม หรือระหว่างลุ่มน้ำมูลกับโตนเลสาบในกัมพูชา

ลุ่มน้ำมูล อยู่ที่ราบสูงบริเวณอีสานใต้ เป็นดินแดนบรรพชน “ยายตาย่าปู่” ของกษัตริย์กัมพูชา (พบหลักฐานอยู่ในจารึกและอื่นๆ) ดังนั้นบรรดาเจ้านายของบ้านเมืองใหญ่น้อยทางลุ่มน้ำมูลล้วนเป็นเครือญาติและเครือข่ายทางสังคมและการเมืองของกษัตริย์กัมพูชาทั้งนั้น

เมืองพิมาย มีศูนย์กลางที่ปราสาทพิมาย (จ.นครราชสีมา) ต่อเนื่องถึงเมืองพนมรุ้ง มีศูนย์กลางที่ปราสาทพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์) เป็นหลักแหล่งบรรพชนของกษัตริย์กัมพูชา “วงศ์มหิธร” อย่างน้อย 5 พระองค์ รวมทั้งพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 (ผู้สร้างปราสาทนครวัด) และพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 (ผู้สร้างปราสาทบายน นครธม)

ดังนั้นกษัตริย์กัมพูชาบางพระองค์หรือหลายพระองค์ ตลอดจนวงศ์วานว่านเครือต่างเคยเดินทางจากโตนเลสาบไปลุ่มน้ำมูลโดยผ่านไปมา “ช่องตะโก” ที่มีปราสาทเขาโล้นกับปราสาทหนองหงส์ เป็นศูนย์กลางชุมชนระหว่างที่ราบสูงกับที่ราบลุ่ม เสมือนจุดพักระหว่างทาง

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งปราสาทหนองหงส์ (จ.บุรีรัมย์), ปราสาทเขาโล้น (จ.สระแก้ว) และช่องเขาเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบสูงภาคอีสานในไทย ลงไปที่ราบลุ่มภาคกลางในไทยและโตนเลสาบในกัมพูชา [แผนที่โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ กุมภาพันธ์ 2564]

ทับหลังที่สหรัฐส่งคืนไทย
จากปราสาท 2 หลัง

สรุปจากเอกสารของ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

พระยมทรงกระบือ ภาพสลักทับหลังที่ปราสาทหนองหงส์
ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์

ระหว่างที่กลุ่มเพจสำนึก 300 องค์ กำลังติดตามค้นหาหลักฐานประติมากรรมสำริดจากกรุประโคนชัยอยู่นั้น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2559 ได้พบรูปทับหลังชิ้นหนึ่งบรรยายรายละเอียดของทับหลังที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชอง-มูน ลี (Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ความว่า มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย ปราสาทหนองหงส์ บุรีรัมย์ (Place of Origin: Northeastern Thailand, Nong Hong Temple, Buriram province)

เมื่อตรวจสอบหลักฐานภาพถ่ายจากหนังสือของกรมศิลปากร พบว่าเป็นทับหลังชิ้นเดียวกัน (โครงการและรายงาน การสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 2 กรมศิลปากร พ.ศ.2502 หน้า 34) แสดงว่าทับหลังชิ้นนี้ได้ถูกลักลอบขนออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย

สภาพปราสาทหนองหงส์

ปราสาทหนองหงส์ (บ้านโนนดินแดง หมู่ 9 ต. โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์) เป็นปราสาทก่อสร้างด้วยอิฐ 3 หลังตั้งอยู่บนฐานร่วมเดียวกัน ปราสาทประธานมีขนาดใหญ่ที่สุดยกฐานสูงกว่าปราสาทบริวารข้างทิศเหนือและทิศใต้ หน้าปราสาทประธานมีห้องมณฑป มีวิหารข้างมณฑปทางด้านใต้ (หน้าปราสาทบริวารหลังทิศใต้) อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพง มีประตูซุ้ม 2 ซุ้มทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เป็นทางเข้า-ออก

ทับหลังพระยมทรงกระบือ

ป้ายประกอบคำบรรยายทับหลังชิ้นนี้ระบุชัดว่าได้มาจากปราสาทหนองหงส์ บุรีรัมย์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชอง-มูน ลี (Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ชัดว่ามีการลักลอบโดยผิดกฎหมายของประเทศไทย เอาออกไปจากกรอบประตูปราสาทหลังใต้ อันเป็นปราสาทบริวารของปราสาทหนองหงส์

(บน) สภาพปราสาทหลังใต้ที่ยังมีทับหลังติดอยู่เหนือวงกรอบประตู (ที่มา: กรมศิลปากร 2502)
(ล่าง) ทับหลังพระยมทรงกระบือ จากปราสาทบริวารหลังใต้ ปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ (ที่มา: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชอง-มูน ลี)

พระอินทร์เหนือเกียรติมุข ภาพสลักทับหลังที่ปราสาทเขาโล้น
ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
ปราสาทเขาโล้น (บ้านเจริญสุข ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว) ตั้งอยู่บนยอดเขาเตี้ยๆ สภาพปัจจุบันเป็นปราสาทก่อสร้างด้วยอิฐเหลือเพียงหลังเดียวบนยอดเขาโล้น ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ
ทับหลังรูปพระอินทร์เหนือเกียรติมุขจากปราสาทเขาโล้น ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ชอง-มูน ลี (Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) สหรัฐอเมริกา เดิมเคยอยู่ติดที่บนปราสาทเขาโล้น ภายในบริเวณวัดปราสาทเขาโล้น หลักฐานทับหลังชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือศิลปะสมัยลพบุรี โดยศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล พ.ศ.2510

(บน) ปราสาทเขาโล้น (ที่มา: ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ
ดิศกุล. ศิลปะสมัยลพบุรี. มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2510)
(ล่าง ทับหลังรูปพระอินทร์เหนือเกียรติมุข จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชอง-มูน ลี สหรัฐ (ที่มา: Asian Art Museum)

The post สุวรรณภูมิในอาเซียน : สหรัฐส่งคืนไทย เรื่อง ‘ทับหลัง’ ประวัติศาสตร์ ‘พลัง’ ประชาชนไทย appeared first on มติชนออนไลน์.

จากอีสานถึงราชดำเนิน ศิลปะ พื้นที่ อนุสาวรีย์ของคนสามัญ

$
0
0

ดูเหมือนว่าครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ เกิดสถานการณ์น่าสนใจขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเมื่อผ่านพ้นค่ำคืน 13 กุมภาพันธ์ ที่ ถ้อยคำ ‘ม็อบแตก (คอ) กัน’ ส่งเสียงหนาหูมากขึ้นทุกที แม้มีสัญญาณมาก่อนหน้า แต่ยังไม่ฉายภาพชัดในความคิดเห็นที่แตกต่างมากเท่าที่เป็นอยู่ในมุมของยุทธศาสตร์การต่อสู้

แต่ไม่ว่าแนวคิดจะต่างกันอย่างไร จุดมุ่งหมายเดียวกันที่มี ย่อมไม่พ้นจากคำว่า “ประชาธิปไตย” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ 4 บุคคลในขบวนการต่อสู้ยังถูกจองจำ แม้ล่าสุด 2 อาจารย์รุ่นใหญ่ รั้วธรรมศาสตร์ “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” อดีตอธิการบดี มาพร้อมกับ “พนัส ทัศนียานนท์” อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ขอยื่นหลักประกันคนละ 400,000 บาท ก็ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 3

อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข 4 แกนนำราษฎร ผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ยังไม่ได้รับอิสรภาพ

ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ การแสดงออกเชิงสัญลักษ์ยังคงดำเนินต่อไป ไม่เพียงในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ซึ่งมวลชนนำโดย “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่มขอนแก่นพอกันที เป็นผู้นำทำพิธีทางความเชื่อ เจรจากับศาลหลักเมืองให้อยู่เคียงข้างราษฎร เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ หากแต่ในภาคอีสาน ดินแดนที่มีนักประชาธิปไตยคนสำคัญมากมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็ประกาศ ‘เดินทะลุฟ้า’ ตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย “ไผ่ ดาวดิน” ร่วมกับเครือข่าย People Go Network”

247.5 กิโลเมตร คือระยะทางอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่ต้องอธิบาย

จากลานอนุสรณ์วีรชนคนโคราช เมืองสำคัญแห่งแดนอีสาน มุ่งหน้าถนนราชดำเนิน เพื่อส่งสัญญะของการเคลื่อนไปข้างหน้าว่าจะไม่หยุดเรียกร้องให้ 1.ประยุทธ์ออกไป 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบัน

สำคัญที่สุด “ปล่อยเพื่อนเรา และต้องไม่จับเพิ่ม”

ต่อเนื่องมาถึง 20 กุมภาฯ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ก็ถูกกำหนดให้เป็นจุดนัดรวมพลสำคัญของราษฎรอีสาน ก่อนออกเคลื่อนขบวนเรียกร้องให้ปล่อย 4 แกนนำ คู่ขนานกันไปกับการชุมนุมหน้ารัฐสภา

กิจกรรมเหล่านี้คือ “ศิลปะ” แห่งการ “ต่อสู้” ของผู้ไม่ยอมจำนน บนหมุดหมายประชาธิปไตยที่มีอนุสาวรีย์ของภาคประชาชนเป็นพื้นที่ และสัญลักษณ์ที่ยังต้องจับตานับจากนี้

ต่อสู้-แย่งชิงพื้นที่ วิธีนำเสนอ‘ความจริง’

“เราสู้กับเผด็จการก็จริง แต่ที่มากกว่านั้นคือผู้สนับสนุนเผด็จการ จะเอาอะไรไปสู้กับเขา? เมื่อเราไม่มีกระบอกปืน ไม่มีอำนาจ”

คำกล่าวของ ครูใหญ่ ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 บนเวที “วันสิงห์ภูพาน รัฐศาสตร์ราษฎร 2020” ได้วาดภาพรวมขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยชี้เห็นว่าสิ่งที่จะใช้ในการต่อสู้ คือ ความจริงและศิลปะในการนำเสนอความจริง

“ผมคือคนบ้า! กว่า 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่เป็นนักเรียนมัธยม ได้คุยเรื่องที่พูดกันทุกๆ เวทีของการชุมนุม กับครู กับคนรอบตัว สิ่งที่ผมได้รับคือการพิพากษาว่า ‘บ้า’, ‘เป็นประสาทเหรอ’ แต่ผมสมาทานความบ้า เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีคนบ้าจำนวนมาก และมองคนปกติว่าเป็นคนบ้า ดังนั้น เราต้องทำให้คนปกติมีมากขึ้น” ครูใหญ่กล่าว ก่อนประกาศกร้าวว่า ณ พ.ศ. นี้ ตนกำลังจะหายบ้า

“ถามว่า คุณจะเอาอุดมการณ์แบบไหน ชาตินิยมหรือราษฎร เมื่อขวาก็ถูก ซ้ายก็ถูก แต่สิ่งที่จะวัดความถูกได้ง่ายที่สุด คือ ปริมาณ ทำไมไทยยังมีคนยึดอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมอยู่ ซึ่งผมไม่โกรธเขา แต่โกรธตัวเองที่ยังอธิบายให้เขาฟังยังไม่เข้าใจ สิ่งที่ต้องทำคือ จูงใจให้ผู้อื่นเชื่อเหมือนเรา แล้วเราจะหายบ้า”

ครูใหญ่บอกด้วยว่า ยาแก้บ้าที่ดีที่สุดคือ “ศิลปะ” คือความสนุกสนาน ส่วนตัวอาจมีปากเป็นอาวุธ แต่หากดูให้ดี พื้นที่การต่อสู้ทางศิลปะมีอยู่ตลอด ง่ายที่สุด ศิลปะถูกใช้ในเพลงที่เราร้องตอนเช้าและเย็น ซึ่งไม่ได้มีแค่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ผลิตเพลง

ครูใหญ่ อรรถพล ยังชวนคิดต่อไปว่า ถ้าไม่ชุมนุมประท้วง รอให้รัฐบาลหมดวาระ แล้วเลือกตั้งใหม่ โอกาสฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะอาจ “มี” แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้แค่พื้นที่ทางอำนาจ ไม่อาจได้ พื้นที่ทางความคิด ดังนั้น การแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด คือสิ่งที่ต้องทำ ด้วยการผลิตศิลปะมาต่อสู้

“สู้ด้วยศิลปะ บทกวี เพียงแต่ศิลปะของราษฎรไม่ได้ถูกรองรับด้วยอำนาจรัฐ ให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรตำราเรียน วรรณคดีมีเรื่องไหนเป็นสามัญชนบ้าง มีแต่นาง 12” ครูใหญ่สาธยายตัวอย่างของพื้นที่ทางศิลปะ

สวนผักชี ‘อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย’   

“7 กุมภาพันธ์” ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ทำการปรับภูมิทัศน์โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้เป็นโครงเหล็กคลุมบันไดโดยรอบทั้งหมด และใช้แผ่นพื้นปูทับกึ่งถาวร เพื่อปรับเป็นทางลาด ก่อนวางกระถางต้นไม้และดอกไม้ เติมสีสัน นำมาซึ่งความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย ว่าประชาชนจะไม่สามารถเดินเข้าไปได้อีก

ทั้งยังสร้างคำถามคาใจ รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงการติดตั้งโครงเหล็กที่มีน้ำหนักไม่น้อย ลงบนฐานอนุสาวรีย์ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ นับแต่ปี 2558 ว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานมากน้อยแค่ไหน

“13 กุมภาฯ” อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับมาอยู่ใต้วงล้อมของมวลชนอีกหน บนการชุมนุม “นับหนึ่งให้ถึงล้าน คืนอำนาจประชาชน” สามัญชนร่วมนั่งฟังการปราศรัย เขียนข้อความบนผ้าแดง 30 เมตร เรียกร้องยกเลิก 112 และปล่อยเพื่อน

ก่อน ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง ประกาศให้เอาเศษขยะออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“ในอดีตประชาชนสามารถเข้าพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แต่ปัจจุบันมีการนำโครงเหล็กมาติดตั้งและล้อมรั้ว ปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ การนำต้นไม้มาวางเป็นการเหยียบย่ำเสรีภาพของประชาชน เป็นการประกาศว่ารัฐกำลังทำร้ายประชาชน” สิ้นคำกล่าวของไมค์ ระยอง

สองมือของมวลชนประคองต้นไม้ ส่งต่อเป็นทอดๆ ให้กับเพื่อนร่วมอุมดมการณ์ที่ยืนตั้งแถวรอรับ เพื่อนำมาวางเรียงเป็นเลข 112 รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กดดันให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

ด้าน รศ.ดร.ชาตรี ชวนให้ฉุกคิดอย่างจริงจังอีกครั้งถึงกรณีดังกล่าว ผ่านถ้อยอักษรในบทความ “สวนผักชี” คอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 19-25 กุมภาพันธ์ 2564

“สวนผักชีอาจไม่เสียหายถ้าเป็นการทำโดยเอกชนที่ใช้เงินของตัวเองสร้างขึ้น เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

แต่สวนผักชีจะเลวร้ายมากหากถูกสร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของประชาชน เพราะเป็นการเททิ้งงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

ไม่มีความยั่งยืนอะไร เป็นเพียงกระถางดอกไม้ที่ตั้งอยู่บนพื้นคอนกรีต (แม้บางแห่งจะปลูกลงดินแต่ก็เรียกร้องการดูแลรักษามากจนเกินไป) ซึ่งต้องคอยเปลี่ยนอยู่เสมอ

จะดีกว่าไหม หากงบประมาณเหล่านี้ถูกเปลี่ยนมาเป็นงบประมาณในการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดที่ดูทีท่าแล้วจะยังไม่จบลงได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

จงอย่าปล่อยให้ผักชีที่โรยหน้า ปิดซ่อนการบริหารที่ล้มเหลวอีกต่อไป”

ขอนแก่น กับ ประติมากรรม ศึกลดทอน-ชิงความหมาย

“ขอนแก่นเป็นเมืองที่ประหลาด ในมุมเมืองหนึ่ง มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ และเกิดก่อนกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้รับการดูแล จงภูมิใจไว้ว่า ไม่ว่าขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์
(ซึ่งหายไปแล้ว) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในภาคอีสาน เกิดก่อนอนุสาวรีย์ในกรุงเทพฯ ขอนแก่นใหญ่ที่สุด ส่วนที่อื่นถูกเอาไปซ่อนไว้” ครูใหญ่ อรรถพล เล่ามุมที่หลายคนอาจไม่รู้

ก่อนเผยว่า ในอีกมุมเมืองหนึ่ง “อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล จัดสวน แต่งไฟให้สวยงาม ไปจนถึงมีพิธีบวงสรวงทุกปี ในวันที่ 8 ธันวาคม

“คุณอาจจะเห็นศิลปะแห่งการต่อสู้ ผ่านอนุสาวรีย์ตามมุมเมือง เราเห็นอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก อนุสาวรีย์ต่างๆ มากมาย ซึ่งภายหลัง 2475 คณะราษฎรเรืองอำนาจ ก็มีการต่อสู้ทางศิลปะ แย่งชิงพื้นที่ความหมายกันอยู่ประจำ เช่น การตั้งอนุสาวรีย์ของสามัญชน อย่าง ย่าโม่ คุณหญิงมุก คุณหญิงจัน ชาวบ้านบางระจัน เพื่อให้ความหมายใหม่ ว่าสามัญชนคือผู้ที่รักษาประเทศนี้ไว้ คือการต่อสู้ชิงพื้นทางความหมายด้วยศิลปะ ผ่านประติมากรรมที่มีทุกมุมเมือง”

ครั้นคณะราษฎรเสื่อมอำนาจ ครูใหญ่บอกว่า “ศิลปะตัวเดิมนี้ก็ถูกทำให้เกิดความหมายใหม่ กลายเป็นเทพารักษ์ประจำเมือง เสริมด้วยการให้ความหมายในหนังสือเรียนใหม่ ว่าต่อสู้เพื่อรักษาชาติ ทั้งที่คนเหล่านี้ต่อเพื่อสู้เพื่อรักษาชีวิต ทรัพย์สิน ที่ดินของราษฎร

“ปัจจุบันเราก็ใช้ศิลปะในการต่อสู้ ไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ เสาร์แรกเอาผ้าคลุม เสาร์ที่ 2 เอาหุ่นศพพาด เสาร์ที่ 3 ใส่ชุดนักเรียนให้ ทำปู้ยี่ปู้ยำอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์เหมือนไม่มีค่า เอาสติ๊กเกอร์ไปติด ถัดไป 3 วัน มีการจัดผ้า จัดดอกไม้ ใส่ชุดขาวเป็นตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เอาพวงมาลัยไปวางหน้าอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ นี่คือการแย่งชิงความหมาย เชื่อว่าภาพอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ใส่ชุดนักเรียน คงจะค้างตาอยู่บ้าง”

“ผมไม่ทุบ การทุบมันกระจอกเกินไป จะรอให้อายุครบ 35 ปี มีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีจะลงสมัคร โดยชูนโยบายเดียว คือ เคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ไปไว้หน้าห้องน้ำ เพราะถ้าทุบ ประวัติศาสตร์จะสูญหาย

ลองจินตนาการ มันจะแอ๊บสแตรกต์ แปลกมากเลยนะ เลี้ยวซ้ายห้องน้ำชาย ขวาห้องน้ำหญิง มีอนุสาวรีย์จอมพลข้างหน้า ประวัติศาสตร์ตรงนี้จะต้องไม่หาย แต่ผมจะให้ความหมายใหม่” ครูใหญ่ลั่น ก่อนเล่าต่อว่า

ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการต่อสู้ทางความคิดนี้ เราจึงเห็นสามัญชนเอาธาตุใส่กระดูกเป็นต้นมา

“ไม่ใช่แค่คนเท่ากัน ผีก็ต้องเท่ากัน เราจะไม่ได้เป็นแค่ราษฎรเสมอหน้า แต่เราจะเป็นวิญญาณกันโดยเสมอภาค ซึ่งความจริง ไม่เห็นด้วยกับการเอาธาตุใส่กระดูกเพราะกินพื้นที่”

“ขอเสนอ 1 ตาย 1 ต้น ใส่ไว้กับต้นไม้ ใครไม่ไปวัดต้นไม้ของพ่อแม่คุณก็ตาย เราจะมีวัดป่าเยอะแยะมากมาย ประเทศเราจะเขียวทั้งประเทศ” ครูใหญ่แทรกไอเดีย

สู้ด้วย ‘ศิลปะ’ อย่าให้เผด็จการ ตามทางทัน

หนึ่งบทพิสูจน์ เมื่อ ครูใหญ่ อรรถพล ขึ้นพูดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อกลางปี 63 โดยมีการเล่นมุข อาทิ “งูเห่า สีนวล” รัฐมนตรีแป้งมัน เช้าวันต่อมา คนรู้จักกันไปทั่ว โดยส่วนตัวครูใหญ่มองเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์ ตั้งตัวไม่ทัน สะท้อนแง่คิดว่า ศิลปะคือสิ่งที่มีอำนาจมหาศาล เพราะเข้าถึงจิตใจคนได้

“ผมมายืนอยู่ตรงนี้ในปี 63 เป็นเรื่องแปลกมาก ผมไม่ใช่ ไผ่ ดาวดินที่ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อทรัพยากรมาก่อน ที่ไปชู 3 นิ้ว หน้าประยุทธ์ จันทร์โอชา มันเร็วมากที่อยู่ดีๆ เป็นที่รู้จักของคนเกือบประเทศ สิ่งที่ผลักผมมาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่มีความคิด เพราะมีคนหลายคนเข้าใจ และคิดเรื่องเดียวกัน แต่ที่ต่างคือ ศิลปะ”

ครูใหญ่มองว่า ถ้าขบวนการพูดอย่างมีศิลปะ คนจะเข้าใจมากขึ้น เพราะศิลปะคือสื่อการสอน คือสื่อบริหารอำนาจ คือสื่อในการชักจูงหรือครอบงำความคิด ทุกวันนี้จึงต้องต่อสู้กันอย่างมีศิลปะ

“การเรียกร้องในครั้งนี้อาจยาวนาน เราด่าประยุทธ์แล้วจบ ไม่ด่าต่อ แต่ที่เราพูดมากๆ คือ โครงสร้างทางสังคม ทางอำนาจ วัฒนธรรมและความคิด ซึ่งถูกนำเสอผ่านบทเพลง ชูเวช และ แก้วใส วงสามัญชน
ก็ใช้ศิลปะในการต่อสู้ของเขาด้วยเพลงที่ว่า “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้… เอาชนะความจนด้วยรัฐสวัสดิการ” เอาสารที่เราต้องการสื่อ เข้าไปอยู่ในจิตใจคน

เราเครียดมากในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ แต่ทุกวันนี้เราผ่อนคลาย เรามีเพลง เราเขียนถนนด้วยชอล์ก (แล้วมีคนเอาสีไปทาทับ) เราใช้ศิลปะ สู้ผ่านถ้อยคำ บทเพลง ภาพวาด การทำอะไรด้วยความสุขจะทำได้นาน และทำได้อย่างมีพลัง ผู้มีอำนาจกลัวแบบนี้แหละ เพราะไม่มีรูปแบบ กฎเกณฑ์ อยากทำอะไรก็ทำ ใครจะไปคิดว่าเป็ดเหลือง กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ นำเสนอออกไปด้วยศิลปะ อย่าให้เผด็จการตามทางได้” ครูใหญ่ฝากข้อคิดปิดท้าย

The post จากอีสานถึงราชดำเนิน ศิลปะ พื้นที่ อนุสาวรีย์ของคนสามัญ appeared first on มติชนออนไลน์.


แค่เสียใจไม่พอ ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

$
0
0

บนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์นับแต่ก่อเกิด ‘รัฐ’ บนดินแดนที่เรียกว่าราชอาณาจักรไทย

นอกเหนือจากการรบพุ่งมุ่งปกป้องอาณาเขตและอำนาจอธิปไตยในเส้นชายแดน การปราบปรามที่รัฐกระทำต่อผู้คนในประเทศตัวเอง ผู้คนที่ล้วนมีบัตรประชาชนไทย ก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายต่อหลายครั้ง

และแน่นอนว่า แม้มีความพยายามลบความทรงจำ จงใจทำให้ถูกลืม อาจไม่ปรากฏในแบบเรียน อาจถูกบิดเบือนในคำตอบที่ถูกต้องของข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทว่า ประชาชนไม่เคยลืม

“รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ”

คำตอบฉบับเต็มที่มากกว่าคำว่า ‘จำไม่ค่อยได้’ ของ Tony Woodsame หรือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อถูกถามในแอพพลิเคชั่น ‘คลับเฮาส์’ ห้อง ‘ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้’

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์อย่างกว้างขวาง ทะลักออกมานอก ‘คลับเฮาส์’ สู่เทรนด์ทวิตเตอร์ #ตากใบจำค่อยได้ ทั้งยังปรากฏข้อเขียนของบุคคลต่างๆ แชร์สนั่นผ่านเฟซบุ๊ก

แค่เสียใจไม่พอ  ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย  กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่ย้อนกลับไปค้นคว้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ผ่านไปแล้ว 17 ปี ในขณะที่ภาพทุกฉากยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยในพื้นที่มีการจัดงานรำลึกในแต่ละปี เกิดอนุสรณ์สถานพับนกสันติภาพ และแม้กระทั่งในการชุมนุมของเยาวชนตั้งแต่ยุคแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัย สกายวอล์ก และถนนราชดำเนิน เหตุการณ์นี้ก็กึกก้องบนเวทีปราศรัย

จับ สอบ ยิง เคลื่อนย้ายผู้ต้องหา สู่โศกนาฏกรรมจำไม่ลืม

จุดเริ่มต้นของสถานการณ์ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมอย่างคาดไม่ถึง มาจากการชุมนุมของคนนับพันที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ซึ่งถูกทางการตั้งข้อหา พร้อมคุมขังระหว่างการสอบสวนนานกว่าสัปดาห์ ด้วยข้อสงสัยว่ามีการพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป แต่ชาวบ้านเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ผิด

การชุมนุมดำเนินต่อไป กระทั่งการเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับข้อสรุป เกิดการขว้างปาสิ่งของ ผู้ชุมนุมพยายามเข้าไปภายใน สภ.อ.ตากใบ เพื่อเจรจาอีกครั้ง กระทั่ง แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นมีคำสั่งให้สลายการชุมนุม เริ่มจากการฉีดน้ำใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา ตามมาด้วยการยิงตอบโต้นาน 30 นาที

ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ สูญหาย 7 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์

2 พฤศจิกายน 2547 หลังเหตุการณ์ราว 1 สัปดาห์ มี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 แต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อสอบข้อเท็จจริง

ปรากฏข้อมูลเผยแพร่ในฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ตอนหนึ่งว่า

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ

“อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้”

ส่วนเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น คือช่วงเช้าของวันที่ 28 เมษายน 2547 โดยในครั้งนั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุได้ออกปฏิบัติการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการนับ 10 จุด ของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการปะทะกันในหลายจุด เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายราย ส่วนผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ราย กว่า 30 รายถูกสังหารในมัสยิดกรือเซะ

ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวว่าฝีมือของกลุ่มโจรกระจอกและพวกขี้ยา เช่นเดียวกับเหตุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าทั้งการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ การเผาโรงเรียน และการวางระเบิดหลายครั้ง ในขณะที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทักษิณกล่าวว่า การโจมตีในครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมซึ่งได้รับการฝึกฝนในต่างประเทศ หลังเกิดเหตุไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างตัวว่าเป็นผู้ลงมือ และไม่มีหลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ

เยียวยาด้วยเงิน ไม่ได้เยียวยาทางกฎหมาย คนผิดยัง ‘ลอยนวล’

ย้อนกลับมาที่ปรากฏการณ์อันสืบเนื่องจากคลับเฮาส์ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ภรรยา ทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้สูญหาย โพสต์ข้อเขียนขนาดยาวผ่านเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งว่า

อย่างไรก็ดีคุณทักษิณได้พูดออกมาคำหนึ่งว่า “ตอนนั้นมีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก” ซึ่งแกนนำการล่ารายชื่อยกเลิกกฎอัยการศึกช่วงนั้น คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มฆ่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ก่อนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเหตุการณ์กรือเซะ

คุณทักษิณเคยกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตและผู้ถูกบังคับสูญหาย และต่อมารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ได้ให้การชดใช้เยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัว พร้อมๆ กับการเยียวยาผู้เสียหายทางการเมืองในเหตุการณ์ปี 53 ด้วยเหตุผลว่า ‘เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ’ ซึ่งจำได้ว่าสร้างความไม่สบายใจแก่หน่วยงานความมั่นคงอย่างมาก อย่างไรก็ดี การเยียวยาด้วยตัวเงินครั้งนั้นไม่ได้นำสู่การเยียวยาทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและครอบครัว จึงทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

อังคณา วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วยว่า ความที่คุณทักษิณเป็นตำรวจ อาจทำให้มีความเชื่อมั่นและไว้ใจในการทำงานของตำรวจ ให้อำนาจแก่ตำรวจมาก จนปราศจากการตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘รัฐตำรวจ’ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่หากสังเกตจะพบว่าแม้คุณทักษิณจะถูกฟ้องร้องหลายต่อหลายคดีจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่อัยการไม่เคยฟ้องคุณทักษิณกรณีกรือเซะ ตากใบ หรือสงครามยาเสพติด และการอุ้มหายประชาชนจำนวนมากในช่วงนั้น หรืออาจเป็นเพราะกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเหล่านี้มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง ตำรวจ และ ทหาร ที่ทุกวันนี้ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนยศเหมือนไม่เคยได้กระทำผิดใดๆ มาก่อน

เหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้ว 17 ปี อายุความเหลือ 3 ปี ในส่วนของคดีความ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากให้เหตุผลว่า ‘ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต’ ในขณะที่การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ ตามกฎหมายสากล แต่กรณีการบังคับสูญหายหลายคดี รวมถึงคดีสมชาย นีละไพจิตร ที่เป็นคดีพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็มีคำสั่งงดการสอบสวนด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เนื่องจาก ‘ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำผิด’ ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดนี้ก็มีความพยายามอย่างมากในการลบชื่อบุคคลสูญหายในประเทศไทยจากรายชื่อคนหายของสหประชาชาติ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยไม่มีคนหาย

‘17 ปีที่ผ่านมา จึงไร้ซึ่งความยุติธรรม และการเปิดเผยความจริง เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่สังคมไทยควรชำระประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆ เสียที ทั้ง 6 ตุลา พฤษภา 35 พฤษภา 53 กรือเซะ ตากใบฯ เพื่อไม่ต้องให้เด็กรุ่นใหม่ต้องย้อนกลับไปหาข้อมูลในกูเกิลเพื่อศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้คงต้องฝากคำถามถึงนายกฯประยุทธ์ และรองฯประวิตร ว่า กล้าไหม

แค่เสียใจไม่พอ  ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย  กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’

การรักษาความทรงจำของเหยื่อ เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แต่เราทุกคนจึงควรร่วมกันจดจำ และแม้จะไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่การเรียนรู้อดีตจะทำให้เราสามารถป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผู้กระทำผิดทุกคนต้องได้รับโทษ เพื่อยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทย’ อังคณาย้ำ

ตีความซ้ำ ย้ำความจริง เมื่อคนรุ่นใหม่อยากได้สังคมที่ดีกว่า

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้เปิดประเด็นด้วยคำถามต่ออดีตนายกทักษิณ รวมถึงผู้ขยายต่อประเด็นจากคำตอบที่ได้มา คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่หันมาย้อนประวัติศาสตร์ ตั้งคำถามต่อความรุนแรงจากภาครัฐ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และความมั่นคง มองว่า จริงๆ แล้วเวลาเราพูดถึงความรุนแรงทางการเมือง เป็นการตีความซ้ำเพื่อหาความจริง โดยเฉพาะเมื่อมองปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ อาจไม่ได้ย้อนหาความจริงในแง่การตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงของเหตุการณ์ตากใบมีลักษณะของความพยายามตั้งคำถามต่อโครงสร้างของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่พยายามแสวงหาสังคมที่ดีกว่า เช่นเดียวกับ ‘คลับเฮาส์’ อันเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ค้นหาความจริงได้ในแบบของตัวเองโดยไม่มีอะไรปิดกั้น

ส่วนคำตอบของ ทักษิณ ที่จำไม่ค่อยได้ แต่ ‘เสียใจ’ นั้น ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ มองว่า เป็นความพยายามลืมความจริงบางเรื่อง ที่สำคัญคือ ความจริงบางเรื่อง เป็นความจริงจากใคร เหตุการณ์นั้นเกิดจากอะไรกันแน่

“เอาเข้าจริงๆ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ การบอกว่าจำไม่ค่อยได้ คือการบ่ายเบี่ยงความจริงอีกแบบหนึ่ง คืออยากลืมความจริงบางอย่าง เหตุการณ์ตากใบ การใช้กลไกภาครัฐ การปลุกระดม หรือการตีความเหตุการณ์ดังกล่าว มีความพยายามอธิบายว่า นั่นคือการขุดหลุมล่อให้ภาครัฐใช้ความรุนแรง มีคนบอกว่า เมื่อไหร่ที่ความรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อนั้นความจริงตายทันที คลับเฮาส์ทำให้ความจริงคืนชีพขึ้นมาใหม่”

ศัตรูต่อรัฐ ปรปักษ์ต่ออุดมการณ์ กลไกความรุนแรงต่างระดับ

ถามว่า คำอธิบายในช่วงเวลานั้น กับการตีความในช่วงเวลานี้ เหมือนและต่างอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อข้อมูลตกตะกอน และแนวโน้มการตัดสินใจของภาครัฐในอนาคต ระวังตัว รอบคอบมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยเห็นความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน

“คำพูดของคุณทักษิณกรณีตากใบในยุคนั้น เน้นคำว่า โจรกระจอก หรือ โจรห้าร้อย แต่ต่อมาภาครัฐพยายามขอโทษชาวมุสลิมที่เคยใช้ความรุนแรง ใช้ กำปั้นเหล็ก ในหลายโอกาส คุณทักษิณก็ออกมาขอโทษเองด้วยซ้ำไป โดยสถานะของคุณทักษิณในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีอำนาจทางการเมือง การตอบคำถามที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมือง อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การตีความเรื่องการมองประเด็นกรือเซะตากใบในอดีต พร่าเลือนไปพอสมควร

ส่วนมาตรการของรัฐ ถ้าจะนำความรุนแรงในกรือเซะตากใบ มาเทียบกับความรุนแรงทางการเมืองในกรณีอื่นๆ มองว่าเป็นบริบทคนละแบบ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะ กึ่งสงครามกลางเมือง แม้ประเทศไทยไม่ได้ใช้คำนี้ แต่ด้วยรูปแบบมีลักษณะที่ถูกมองว่าเป็น ‘ศัตรูต่อรัฐ’ โดยตรง ภาครัฐมองว่าเป็นศัตรูอย่างชัดเจน

 

ต่างจากความรุนแรงจากการสั่นคลอนอุดมการณ์ทางการเมือง คือภาครัฐกำลังมองประชาชนบางส่วนอย่างไม่เป็นมิตรนัก แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นศัตรูคุกคามอธิปไตยของประเทศในขั้นแบ่งแยกดินแดน กลไกในการใช้ความรุนแรงตรงนี้ สำหรับกรณีแรก คิดว่าความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังคงอยู่ แต่กรณีที่ 2 ในปัจจุบัน ความยับยั้งชั่งใจหรือการคำนวณว่าถ้าภาครัฐใช้ความรุนแรงจะเกิดอะไรขึ้น แนวโน้มกรณีนี้อาจดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้กฎหมาย คิดว่าในช่วงหลังมีการคำนวณข้อได้-ข้อเสียทางการเมืองมากพอสมควร” คือคำตอบของนักวิชาการรัฐศาสตร์

ปราบ ‘อารยะขัดขืน’ ไม่รุนแรงแบบซึ่งหน้า เน้นปะทะผ่าน ‘กฎหมาย’

ครั้นมองภาพกว้างทั้งระยะใกล้และไกลในต่างประเทศ ที่สามารถเทียบเคียงเป็นกรณีศึกษากับไทย ทั้งการแก้ปัญหา และการเยียวยาจากภาครัฐ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ ชวนให้ลองพิจารณาตั้งแต่จีน ฮ่องกง จนถึงเมียนมา

“ปกติคนทั่วไปมักมองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐโดยเฉพาะอารยะขัดขืนในกรณีของประเทศเพื่อนบ้าน อาจเป็นกระแสหนึ่งที่ประเทศซึ่งต้องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยพยายามใช้ต่อต้านภาครัฐ และตั้งแต่กรณีของฮ่องกงเรื่อยมาจนถึงไทย และเมียนมาในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เราตั้งคำถามก็คือ ระบอบอำนาจนิยมเองก็เลือกใช้วิธีการปราบคนที่แตกต่างออกไปจากอดีต ในอดีต จีนที่จัดการกับม็อบฮ่องกง ไทยที่จัดการกับม็อบเยาวชนในประเทศ กลไกรัฐระบอบอำนาจนิยม จะไม่ใช้ความรุนแรงแบบซึ่งหน้า แต่จะใช้ความรุนแรงผ่านระบบกฎหมาย เพราะฉะนั้นเป้าในการใช้ มักมุ่งไปที่ผู้นำในการประท้วงต่อต้านรัฐ ไม่ใช่มวลชนขนาดใหญ่ เพราะระบอบอำนาจนิยมก็พัฒนาตัวเองในการปราบหรือใช้ความรุนแรงต่อมวลชนด้วยเช่นเดียวกัน”

‘เมาหมัด’ ข้อมูล ทำตัดสินใจพลาด ย้ำปมอ่อนไหว ฟันธงไม่ได้ในปัจจัยเดียว

แม้เคยถูกถอดบทเรียนมาแล้วหลายรอบ แต่เมื่อเป็นประเด็นปะทุใหม่ ก็ต้องถามอีกครั้ง ถึงบทเรียนจากโศกนาฏกรรมกรือเซะ-ตากใบ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ กล่าวว่า บทเรียนประการแรก คือ การประเมินความมั่นคงโดยเฉพาะภัยคุกคามความมั่นคงของภาครัฐ มีการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง เรียกได้ว่า เมาหมัด ด้วยสถานะในการตัดสินใจ ผู้ที่กุมอำนาจรัฐ จะมีวิธีการตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง บนพื้นฐานของข้อมูลจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ตอนนั้นคุณทักษิณอาจเชื่อข้อมูลที่มาจากฝ่ายตำรวจก็ได้ จึงใช้ กำปั้นทุบเหล็ก ในบริบทปัจจุบัน การบอกว่า จำไม่ค่อยได้ อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณทักษิณก็ได้

อย่างที่ 2 การโยกย้ายข้าราชการไปใน 3 จังหวัดภาคใต้ คงไม่ใช่พื้นที่ที่โยกย้ายข้าราชการไร้ความสามารถอีกต่อไป เพราะประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน ส่วนอย่างที่ 3 บทเรียนของสังคมไทย กรณีของความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งความรุนแรงทางการเมือง มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน ไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เช่น ปัจจัยจากอุดมการณ์สุดโต่ง ปัจจัยเรื่องสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ ปัจจัยเรื่องกลไกรัฐที่มีปัญหา ดังนั้น กรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัด และกรณีกรือเซะ ตากใบ ไม่สามารถฟันธงได้ในปัจจัยหนึ่งปัจจัยเดียว แต่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อสังเกตว่า กรณีกรือเซะ ตากใบ เหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะได้สร้าง ‘นักรบเยาวชน’ คนรุ่นใหม่ที่พร้อมใช้ความรุนแรงกับคนที่มีความเชื่อแตกต่างกันได้อย่างมากมาย

“อย่างกรณี ‘มะรอโซ’ นักรบ อาร์เคเค ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ตอนไปชุมนุมร่วมที่ตากใบ เยาวชนหลายคนแค่ไปดู หรือให้กำลังใจ ไปร่วมม็อบเฉยๆ แต่กลับเจอสถานการณ์ความรุนแรง มีคนตายนับร้อยต่อหน้าต่อตา ถูกกลไกภาครัฐกระทำ ความอยากล้างแค้นก็เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้กลุ่มขบวนการที่อาจไม่ปรารถนาดีต่อความแตกต่างหลากหลายของผู้คนใช้โอกาสนี้ดึงคนไปร่วมได้มากขึ้น”

กลับมาที่การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ความทรงจำในครั้งนี้ อาจารย์รัฐศาสตร์ย้ำว่า การรื้อฟื้นความเจ็บปวด มองได้ 2 แบบ แบบหนึ่ง คือ ความพยายามผ่องถ่ายความรู้สึกเจ็บปวดในอดีต แบบที่ 2 ความรู้สึกอยากล้างแค้น สังคมไทยต้องตระหนักว่าเราจะต้องไม่นำไปสู่ความรู้สึกนี้

ส่วนภาครัฐก็ต้อง ‘เลิกดื้อ’ เปิดใจรับแนวทางการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ

นอกเหนือจากคำว่าเสียใจทั้งจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หยาดน้ำตาในทุกการร่ำไห้ของครอบครัว ความหนักอึ้งบนความรู้สึกเจ็บปวดของสังคมไทยโดยเฉพาะผู้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบันทึกไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ความทรงจำของสามัญชน การรื้อฟื้นเพื่อค้นหาความจริง การนำผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการกฎหมาย และการหาทางออกร่วมกัน คือสิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลงลืม

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

The post แค่เสียใจไม่พอ ประวัติศาสตร์ (บาดแผล) ร่วมสมัย กรือเซะ-ตากใบ ในปรากฏการณ์นอก ‘คลับเฮาส์’ appeared first on มติชนออนไลน์.

อาศรมมิวสิก : บ้านเอื้อมอารีย์ พื้นที่ใหม่ของคนดนตรี

$
0
0

อาศรมมิวสิก : บ้านเอื้อมอารีย์
พื้นที่ใหม่ของคนดนตรี

เมื่อเกษียณออกไปจากภาระผูกพัน ก็รู้สึกว่าตัวเบา ลอยไปลอยมาดุจสัมภเวสี ตอนแรกก็รู้สึกแปลกๆ เพราะไม่เคยตัวเบาแบบนี้มาก่อน ความรู้สึกเหมือนหลุดจากความเป็นทาสที่ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นเสรีชน ใหม่ๆ ก็ไปไม่เป็น ทำอะไรไม่ถูก ได้ไปปรึกษาหมอดู หาพราหมณ์เป่าคาถาอาคม อาบน้ำมนต์หมอผี หาหมอทำขวัญ ทำเหรียญพ่อแก่ ทำเหรียญพระพิฆเนศ เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ ต้องสร้างบริวารใหม่เพราะหมอดูทักว่าเป็นอาการพวกบริวารเป็นพิษ ต้องปรับบุคลิกใหม่ ใส่เสื้อผ้าใหม่ ทำบุญให้ทาน นั่งวิปัสสนา สักพักหนึ่งก็ได้สติ

วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ตัดสินใจสร้างบ้านเอื้อมอารีย์ โดยทำพิธีบอกกล่าวไหว้เจ้าที่ ได้ตอกเสาเข็มสร้างอาคารสอนดนตรีเด็ก สร้างห้องแสดงดนตรี พร้อมทำบุญบวงสรวงผูกเสาเอก ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2563 เดิมต้องการขยายห้องเรียนเด็ก อายุ 0-3 ขวบ เนื่องจากโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์มีนักเรียนเข้ามาเรียนจำนวนมาก ห้องเรียนดนตรีเด็กถือเป็นนวัตกรรมใหม่ สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาเด็กเล็กโดยเฉพาะ

โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ ดำเนินการโดย อาจารย์ตปาลิน เจริญสุข และอาจารย์กมลมาศ เจริญสุข ซึ่งเป็นอาจารย์สอนดนตรีคลาสสิก เมื่อผมว่างงานก็ได้เข้าไปช่วยเพื่อพัฒนาโรงเรียนดนตรี แม้จะทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็เป็นกำลังเสริม ช่วยจัดการแสดงดนตรีและคิดกิจกรรมสร้างสรรค์ดนตรี

บ้านเอื้อมอารีย์ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามชื่อของแม่ผู้ให้กำเนิด “เอื้อม” เป็นชื่อของแม่เอื้อม เจริญสุข ส่วนชื่อ “อารีย์” เป็นชื่อของแม่ยาย บ้านเอื้อมอารีย์จึงเป็นบ้านที่ให้ความรักและมอบความปรารถนาดี สัมผัสกับความอบอุ่น สร้างความเชื่อมั่นและให้ความหวัง สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายจินตนาการ โดยใช้เสียงดนตรี

วันที่ทำพิธีหล่อเสาเอกที่บ้านเอื้อมอารีย์ ได้นิมนต์หลวงพ่อวันชัย (พระอุดมพัฒนาการ) เจ้าอาวาสวัดหนองงูเหลือม จากชลบุรี มาทำพิธีเพื่อเป็นสิริมงคล มีญาติมิตรร่วมบุญ เป็นการเริ่มชีวิตใหม่ที่อบอุ่น ทุกคนรู้สึกตื่นเต้น อยากเห็นอาคารดนตรีใหม่ อยากเห็นภาพเด็กๆ ที่เล่นดนตรี ได้ยินเสียงดนตรีที่มีคุณภาพ ดนตรีที่มีชีวิต บ้านเอื้อมอารีย์จะเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาดนตรีและอาชีพดนตรี

วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2563 รัฐบาลประกาศปิดประเทศเพราะโรคระบาดโควิด-19 การก่อสร้างก็ต้องชะงักลง ทุกคนตกใจกลัวโรคระบาด พยายามประคองให้การก่อสร้างดำเนินไป ขณะที่การออกแบบ การปรับแบบตามความต้องการของสถาปนึก ซึ่งมีจินตนาการงอกใหม่ทุกวัน เพื่อหาจุดลงตัวกับเงื่อนไขใหม่ ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก 116 ตารางวา งบประมาณมีน้อย ช่วงเวลาก่อสร้างที่ลำบาก การก่อสร้างช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเงิน แต่ก็มีข้อดีอยู่บ้างเหมือนกัน คือ การสุมหัวของคนที่มีประสบการณ์และใช้หัวใจทำงานร่วมกัน

บ้านเอื้อมอารีย์มีห้องแสดงดนตรีขนาดเล็ก พื้นที่ 128 ตารางเมตร (16 x 8 เมตร สูง 7 เมตร) ออกแบบเพื่อเล่นดนตรีที่ใช้เสียงสดธรรมชาติ อาทิ การแสดงเดี่ยว แสดงคู่ การแสดงดนตรีวงเล็ก วงดุริยางค์เครื่องสายไม่เกิน 30 คน วงดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีนานาชาติ โดยเลือกตั้งวงดนตรีไว้ตรงกลาง ผู้ฟังนั่งรอบนักดนตรี รวมนักดนตรีและผู้ฟังได้ 80 คน ผนังห้องบุด้วยไม้ตะแบก มีไม้ระแนงดักเสียงก้อง มีฉนวนกันความร้อนและกันเสียงที่รบกวน พื้นห้องปูด้วยไม้ตะแบก (เก่า) พื้นเรียบไม่ยกเวที นักดนตรีสามารถเลือกจะตั้งวงแบบไหนก็ได้

ชาตรี ลดาลลิตสกุล สถาปนิก (ศิลปินแห่งชาติ),พิสิฐ เกียรติสุขศรี วิศวกรก่อสร้าง,สุกรี เจริญสุข สถาปนึกและวิศวกะ

บ้านเอื้อมอารีย์ ออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรผู้มีประสบการณ์ คุณพิสิฐ เกียรติสุขศรี ออกแบบระบบเสียงโดย คุณสราวุฒิ โสนะมิตร สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการทำห้องดนตรีที่ต้องการเสียงธรรมชาติ มีเปียโนหลังใหญ่ยี่ห้อยามาฮ่า (C-7 XE) สามารถบันทึกเสียงที่ส่งออกผ่านระบบออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อและสื่อสารกับโลก โดยไม่ต้องมีผู้ชมในห้อง

การออกแบบห้องดนตรีเพื่อใช้เสียงธรรมชาติคือ ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง กระจายเสียงจากกลางห้องให้มีค่าความก้องเสียงอยู่ที่ 1.25 วินาที เมื่อเสียงออกจากแหล่งกำเนิดเสียงไปถึงหูผู้ฟัง หากมีเสียงที่ยาวกว่านั้น เสียงก็จะก้อง ทำผนังบุไม้จะช่วยให้เสียงดนตรีสั้น นุ่ม และกังวาน ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของความไพเราะ ถ้าหากว่าเสียงยังยาวอยู่ก็ต้องใส่ไม้ระแนงเพิ่ม เมื่อพบว่าเสียงยังยาวอยู่อีก จึงใช้ผ้ายีนส์ย้อมครามจากสกลนคร โดยเอาผ้ายีนส์หุ้มฟองน้ำปะติดฝาผนังแทนไม้ระแนง เพื่อซับเสียงลดความก้อง เป็นวิธีที่ทำให้เสียงสั้นลง ลดความกังวาน ซึ่งมีพื้นที่อยู่ 2 ช่วง ช่วงละ 3 เมตร รวมพื้นที่ผ้ายีน 18 ตารางเมตร

การตั้งเวทีจากมุมไหนของห้องก็ได้ ข้อดีคือผู้ชมนั่งอยู่ในด้านตรงข้ามเวที แต่การกระจายเสียงจะด้อยกว่าการตั้งวงกลางเวทีเล็กน้อย สำหรับระบบเสียงในการถ่ายทอดสด มีไมโครโฟน 2 ชนิด คือ ไมค์สำหรับพิธีกร เป็นไมค์ลอย ขยายเสียงโดยมีลำโพงที่มุมห้อง ตั้งไว้ 4 จุด วิธีที่ 2 คือ ใช้ไมโครโฟนรับเสียงเพื่อการถ่ายทอดหรือเพื่อการบันทึก วางตำแหน่งไมค์ไว้ 4 จุด อยู่เหนือเวทีตรงกลาง เหมาะกับการถ่ายทอดสด สัญญาณที่ส่งไปยังเครื่องบันทึกเสียง (mixer) ที่มุมห้อง สามารถดึงเสียงที่มีคุณภาพจากเครื่องบันทึกนี้ได้

การซ้อมของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าที่บ้านเอื้อมอารีย์ เพื่อแสดงที่วัด

บ้านเอื้อมอารีย์ตั้งใจใช้เป็นห้องแสดงดนตรีสำหรับคนทุกวัย เด็กที่มีความสามารถ ผู้ด้อยโอกาส ดนตรีสำหรับผู้สูงวัย วงขับร้องประสานเสียง วงดนตรีลูกผสม เป็นพื้นที่ฟังเพลงที่มีคุณภาพ ทั้งเพลงเก่า เพลงหายาก เพลงที่อยากฟัง บ้านเอื้อมอารีย์เป็นเวทีประกวดดนตรีของเยาวชน ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นบันไดให้เยาวชนคนเก่งได้ประลองฝีมือ สร้างมาตรฐานการประกวดที่มีคุณภาพ เป็นเวทีที่มีเกียรติเชื่อถือได้ เพื่อสร้างศรัทธาซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของอาชีพดนตรี ให้เด็กได้ก้าวไปสู่ความเป็นนักดนตรีในระดับสากล

บ้านเอื้อมอารีย์เป็นห้องฝึกซ้อม เป็นห้องแสดง และเป็นห้องบันทึกเสียงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ซึ่งเป็นวงออเคสตราอาชีพ โดยรวบรวมนักดนตรีที่มีฝีมือเพื่อการบันทึกเสียง การแสดงผลงานใหม่ บรรเลงประกอบภาพยนตร์ เพลงสารคดี ดนตรีประกอบการ์ตูน เพลงโฆษณา นำเพลงไทยและเพลงพื้นบ้านมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นเพลงสำหรับวงออเคสตรา

บ้านเอื้อมอารีย์เป็นพื้นที่ใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองทางดนตรี เป็นเวทีแสดงดนตรีเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ตั้งแต่ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีประจำชาติ ดนตรีสมัยนิยม ดนตรีนานาชาติ ดนตรีแจ๊ซ ดนตรีคลาสสิก เฉพาะดนตรีที่ใช้เสียงธรรมชาติ ซึ่งยังเปิดพื้นที่ให้กับดนตรีที่สร้างสรรค์เสียงใหม่ หรือดนตรีทดลอง เป็นต้น เพราะจะได้พัฒนาฝีมือและเป็นการเปิดเวทีให้กับอาชีพดนตรี

บ้านเอื้อมอารีย์ เป็นพื้นที่ใหม่ของคนดนตรี เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้น เสียงดนตรีหลังจากโควิด-19 จะเปลี่ยนไป จึงต้องหาช่องทางใหม่ ต้องเชื่อมโยงและสื่อสารกับโลก เด็กรุ่นใหม่สามารถมองเห็นดนตรีของโลก เข้าถึงโลกได้โดยไม่ต้องไปวิ่งตามโลก เด็กไทยรุ่นใหม่ได้เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่แรกเกิด (0-3 ขวบ) ซึ่งได้ก้าวหน้าไปทันโลกแล้ว เมื่อเด็กอายุได้ 3-5 ขวบ สามารถที่จะขึ้นแสดงบนเวที เด็กมีความกล้าหาญและมีฝีมือ พ่อแม่มีกำลังและให้การสนับสนุนลูกเรียนดนตรี ดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิต ซึ่งเป็นโฉมหน้าใหม่ของการศึกษาดนตรีในประเทศไทย

ครูดนตรีเป็นอาชีพใหม่ที่สามารถเลี้ยงชีพได้ นักดนตรีนั้นเป็นอาชีพเก่า แต่ต้องจัดการใหม่กับอาชีพ เพราะต้องสร้างพื้นที่ทำมาหากินแบบใหม่ ยังมีอาชีพช่างดนตรี ทั้งช่างเสียงและช่างซ่อม รวมอาชีพธุรกิจดนตรีซึ่งเปิดกว้างมากขึ้น โรคระบาดโควิด-19 ทำให้อาชีพดนตรีต้องปรับตัวข้ามพรมแดน ซึ่งไร้เงื่อนไขและไร้ข้อจำกัด ดนตรีต้องทำงานสื่อสารกับโลก พื้นที่อาชีพดนตรีได้ขยายกว้างออกไป ลำพังในประเทศไทยนั้นแคบไปแล้ว

แต่ก่อนนักดนตรีพื้นบ้านไม่มีราคาค่าตัว นักดนตรีไทยราคาถูก นักดนตรีสากลราคาแพงกว่านักดนตรีไทย

นักดนตรีฝรั่งค่าตัวแพงกว่าคนไทย แต่วันนี้นักดนตรีทุกประเภทมีราคาค่าตัวไม่ต่างกัน แค่มีฝีมือและมีคุณภาพทำให้ค่าตัวเท่าเทียมกัน บ้านเอื้อมอารีย์เป็นช่องทางเล็กๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับสังคมดนตรีโลก ลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเรื่องราคาและค่าตัว การประกวดดนตรีเด็กนานาชาติ การแสดงสดและการแสดงผ่านสื่อออนไลน์ โดยจะเปิดการแสดงครั้งแรก ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2564 เวลา 18.00 นาฬิกา

บ้านเอื้อมอารีย์ สร้างเป็นอาคารอารยสถาปัตย์ มีที่จอดรถเพียงพอ ให้ความสะดวกและเป็นมิตรกับคนทุกวัย แม่อุ้มท้อง เด็กน้อย คนแก่ คนพิการ มีลิฟต์ขึ้นอาคาร 2 ชั้น มีรายการดนตรีที่หาดูได้ยาก เป็นพื้นที่ของผู้ที่แสวงหาและโหยหาดนตรี หากไปดูไม่ได้ก็เปิดมือถือดู บ้านเอื้อมอารีย์เป็นช่องคนดูที่ข้ามพรมแดน

The post อาศรมมิวสิก : บ้านเอื้อมอารีย์ พื้นที่ใหม่ของคนดนตรี appeared first on มติชนออนไลน์.

แท็งก์ความคิด : อ่าน‘ประสบการณ์’

$
0
0

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มักย้อนกลับมาเกิดซ้ำ

แม้จะไม่เหมือนแบบเป๊ะๆ แต่ก็คล้ายคลึงกันแบบสัมผัสได้

อาทิ การบริหารประเทศ มักสลับสับเปลี่ยนกันระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

พม่าที่ปกครองด้วยเผด็จการ หลายปีที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง

จู่ๆ พม่าก็กลับไปยึดอำนาจ คืนกลับไปสู่เผด็จการอีกรอบ

การระบาดของโรคไวรัสก็เช่นกัน โลกใบนี้เคยประสบมาแล้วหลายครั้ง

อาทิ ไข้หวัดสเปน เมอร์ส ซาร์ส แล้วก็โควิด-19

ดังนั้น การได้เก็บบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกหรือในประเทศไว้จึงเป็นประโยชน์

ประโยชน์ในระยะสั้นที่ปรากฏตัวอย่างให้เห็น คือ การระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19

เมื่อปี 2563 ประเทศไทยและโลกทั้งใบเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 เกิดความหวั่นวิตกเพราะไวรัสคุกคามถึงชีวิต มีผลต่อเศรษฐกิจ

ปลายปี 2563 ไทยเกิดการระบาดรอบใหม่ แต่คราวนี้ ไทยเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว

ไทยมีเครื่องมือแพทย์ มีอุปกรณ์ตรวจพิสูจน์ และป้องกันไวรัส มีแผนการขับเคลื่อนประเทศ

รักษาสมดุลระหว่าง “สาธารณสุข” กับ “เศรษฐกิจ”

ผลกระทบจึงน้อยกว่ารอบแรก

ทั้งหมดนี้ล้วนมาจาก “ประสบการณ์”

ล่าสุด วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก 3 แสนโดสมาถึงไทย และตามด้วยการฉีด

เหตุการณ์การระบาดที่เคยเกิดเมื่อปี 2563 พอมาถึงปี 2564 สามารถคลี่คลายได้

ถือเป็นประโยชน์ต่อคน เป็นประโยชน์ต่อชาติ

แม้เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ และน่าห่วง ว่าพันธุ์ใหม่นี้อาจดื้อต่อวัคซีนที่กำลังฉีด

แต่กระบวนการผลิตวัคซีนก็พัฒนาตัวเองเพื่อป้องกันโควิดกลายพันธุ์ต่อไป

นอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ใช้ “ประสบการณ์” ไปปรับตัว

ประเทศใดบันทึกเหตุการณ์ และองค์ความรู้ ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้มาก

คนรุ่นใหม่ของประเทศนั้นย่อมมีโอกาสสรุปบทเรียนเก่า เพื่อสร้างนวัตกรรมได้ดี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ถือเป็น “ประสบการณ์”

อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ของเรา อาจเป็นประสบการณ์ของ “คนอื่น”

แต่ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของใครก็ล้วนมีประโยชน์

การได้ศึกษาประสบการณ์ ย่อมมีประโยชน์

สำนักพิมพ์มติชนได้ผลิตหนังสือ ชื่อ “บันทึกประเทศไทยปี 2563” ขึ้นมา

เนื้อหาเป็นการบันทึกเหตุการณ์เมื่อปี 2563

พลิกดูภายในเล่ม พบหลาย “ประสบการณ์” ที่ไทยควรนำมาใช้ประโยชน์

มกราคมปี 2563 ไทยพบผู้ป่วยรายแรกเป็นหญิงชาวจีนจากอู่ฮั่นมาไทย

เดือนเดียวกัน รัฐบาลตั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าทีมสู้โรคโควิด-19

มีนาคม 2563 เกิดการติดเชื้อที่เวทีลุมพินี และผับย่านทองหล่อ

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดในประเทศ

ต่อมารัฐบาลเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์

เมษายน 2563 รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ

การหยุดกิจกรรมต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจทรุดฮวบ รัฐบาลต้องหาเงินมาเยียวยาช่วยเหลือ

ผลดีจากการล็อกดาวน์คือการควบคุมโรคเป็นไปตามเป้า

สามารถควบคุมการระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศลดลงจนกลายเป็นศูนย์

พฤษภาคม รัฐบาลตัดสินใจปลดล็อก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หลังจากนั้น ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ

ตอนนั้นประเทศไทยมีการสาธารณสุขดี เศรษฐกิจทรุด ขณะที่การเมืองกลับมายุ่ง

อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงมาตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563

แนวคิดของคนรุ่นใหม่กับรัฐบาลมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง กระทั่งนักเรียนนิสิตนักศึกษาออกมาขับไล่รัฐบาล

กรกฎาคม เกิดแฟลชม็อบทั่วประเทศ สิงหาคม นักเรียนนิสิตนักศึกษาตั้งเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แล้วหลังจากนั้น การชุมนุมก็ขยายตัว

เดือนกันยายน เดือนตุลาคม ประเด็นใหญ่ๆ ล้วนเป็นเรื่องม็อบ

ยิ่งเมื่อเกิดกรณีเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย

ขณะเดียวกัน รัฐสภาพยายามหาวิธีลดอุณหภูมิ ด้วยการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์

กระทั่งเดือนธันวาคม โรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ มีต้นเหตุจากขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ และบ่อนการพนัน

ประเทศไทยกลับคืนสู่การควบคุมโรคระบาดอีกครั้ง การเคลื่อนไหวนอกสภาหยุดลงชั่วคราว

นี่เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ในปีเดียวคือปี 2563

จังหวะเวลานี้จึงน่าจะรีบทบทวนอดีต เพื่อทำให้ปัจจุบันดีกว่าเดิม

การได้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนได้ทบทวน “ประสบการณ์”

หนังสือ “บันทึกประเทศไทยปี 2563” จึงน่าอ่าน

เหมือนกับหนังสือบันทึกประเทศไทยปีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ก็น่าอ่าน

เพราะนี่คือการบันทึกประสบการณ์ของประเทศ

อ่านแล้วจะได้นึกออก อ่านแล้วจะได้ฉุกคิด

คิดแล้วทำเพื่อให้ผลที่ออกมาดีกว่าเดิม

นฤตย์ เสกธีระ

The post แท็งก์ความคิด : อ่าน‘ประสบการณ์’ appeared first on มติชนออนไลน์.

เปิดอกคุย ‘เช ยอง ซ็อก’โค้ชโสมขาวหัวใจไทยแท้

$
0
0

เปิดอกคุย “เช ยอง ซ็อก” โค้ชโสมขาวหัวใจไทยแท้

นับเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้วที่ โค้ชเช ยอง ซ็อก เข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ตั้งแต่เมื่อปี 2545 จวบจนถึงปัจจุบันโค้ชสายเลือดโสมขาวรายนี้ปลุกปั้นทัพจอมเตะไทย ก้าวไปสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย จนล่าสุด โค้ชเช ยอง ซ็อก ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดในการขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย หลังจากที่มีประเด็นนี้เกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว

ในครั้งนี้ โค้ชเช ยอง ซ็อก เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์เจาะลึกถึงเหตุผลสำคัญที่เขาตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทย เพราะตามกฎหมายไทยแล้ว ต้องให้ผู้ขอเปลี่ยนสัญชาติจำเป็นต้องแสดงเจตนาที่จะสละสัญชาติเดิม รวมทั้งโค้ชเชยังได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นกับกีฬาเทควันโด และการเดินทางมาเป็นเฮดโค้ชทีมเทควันโดไทย จนทำให้เขาหลงรักเมืองไทย และกลายเป็นคนที่มีหัวใจไทยแท้

ทำไมถึงเลือกกีฬาเทควันโด

จริงๆ ผมเป็นนักกรีฑามาก่อน แต่เพื่อนที่นั่งเรียนข้างๆ เขาเรียนเทควันโด ผมเลยสนใจเล่นกีฬาเทควันโดตามเพื่อน ผมเริ่มเรียนเทควันโดตอนอายุ 12 ขวบ ซึ่งผมรู้สึกว่าเรียนช้าไปนิดนึง เพราะเด็กปกติเขาจะเริ่มเรียนตอนอายุ 7-8 ขวบ ตอนเล่นแรกๆ ที่เล่นก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะบาดเจ็บบ่อย เวลาเข้าคู่ซ้อมก็โดนทั้งหน้าทั้งท้อง ทำให้รู้สึกกลัวจริงๆ ถ้าไม่ใช่เพราะเพื่อน ผมก็น่าจะเลิกเรียนเทควันโดไปแล้ว แต่หลังจากเรียนไปประมาณ 3-4 เดือน ผมไปแข่งได้เหรียญทองแดง รายการชิงแชมป์ประเทศเกาหลีใต้ เลยทำให้มีกำลังใจในการเล่น ก็เลยเริ่มชอบเล่นเทควันโดตั้งแต่ตอนนั้น

กีฬาอื่นที่ชอบนอกจากเทควันโด

ตอนเด็กๆ ผมชอบอยู่ 3 กีฬาครับก็จะมี กรีฑา, เทควันโด และเบสบอล ผมชอบดูเบสบอล ชอบมากจริงๆ ชอบมากกว่าเทควันโดเสียอีก แต่ว่าเทควันโดเป็นกีฬาที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ลงทุนซื้อแค่ชุดอย่างเดียว ถ้าเป็นเบสบอลต้องซื้ออุปกรณ์หลายอย่าง ซึ่งมีราคาแพงมาก เพราะตอนเด็กที่บ้านของผมก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่กล้าไปบอกกับคุณแม่ว่า ขอไปเรียนเบสบอลได้ไหม เพราะผมรู้ว่า ถ้าเรียนคงซื้ออุปกรณ์ไม่ไหว ก็เลยเลือกเล่นเทควันโดดีกว่า แต่ว่าตอนนี้ก็ยังชื่นชอบดูกีฬาเบสบอลอยู่

จุดเริ่มต้นเป็นโค้ชทีมชาติไทย

หลังจากที่ผมได้เป็นโค้ชเทควันโดได้ประมาณ 1 ปีกว่า ผมก็มีความฝันว่า อยากเป็นโค้ชทีมชาติ ที่ไม่ใช่เกาหลีใต้ อยากไปคุมทีมในต่างประเทศ และเมื่อปี 2001 ผมก็ได้ไปเป็นโค้ชเทควันโดที่ประเทศบาห์เรน จากนั้นต่อมาปี 2002 มีแข่งเอเชี่ยนเกมส์ ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี แล้วตอนนั้นทีมชาติไทยกำลังมองหาโค้ชเทควันโดอยู่พอดี เขาก็เลยชวนมาคุมทีมชาติไทย

การปรับตัวในเมืองไทยช่วงแรก

จริงๆ ลำบากมากเรื่องภาษาไทย เพราะไม่เคยได้ยิน หรือรู้จักภาษาไทยมาก่อน ตอนที่ผมทำงานที่บาห์เรน ผมก็เคยเรียนภาษาอังกฤษ ครั้งแรกที่มาก็พยายามคุยกับคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ อย่าง “วิว” เยาวภา บุรพลชัย และจิ๊บ ชลนภัส เปรมแหวว หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ผมก็เริ่มอยากเรียนภาษาไทย คอยถามนักกีฬาตลอดว่า คำนี้ภาษาไทยเรียกว่าอะไร ซึ่งผมเองก็อยากคุยกับนักกีฬา แต่ว่าบางคนพูดอังกฤษไม่ได้ ผมเลยคิดว่าต้องเรียนภาษาไทย

การสอนนักกีฬาไทยสไตล์เกาหลี

ผมก็สอนแบบคนเกาหลี ตอนแรกๆ ก็มีปัญหาเรื่องภาษาอยู่บ้าง อธิบายอะไรก็ยาก จึงต้องคอยแสดงท่าทางในสื่อสารแทน ซึ่งก็เป็นปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่หนักเท่าไหร่ ส่วนฉายาที่ผมได้รับว่าเป็นโค้ชจอมเฮี้ยบนั้น จริงๆ ก็รู้สึกเสียดาย และเสียใจ เพราะผมเป็นคนที่ทำอะไรก็ทำด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น ทำอะไรเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้เอามาคิดมากเท่าไหร่ในเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายของผมก็แค่อยากเห็นนักกีฬาได้พัฒนา และตั้งในใจการซ้อม

ความผูกพันยาวนานในเมืองไทย

อันดับแรกเลยครอบครัวของผมรักเมืองไทย ผมอยู่เมืองไทยมานานเกือบ 20 ปี อยู่ตั้งแต่นักกีฬาบางคน ที่เข้ามาติดทีมชาติตั้งแต่ชุดเยาวชน จนไปติดทีมชาติชุดใหญ่ พออยู่นานๆ ไปก็เริ่มมีความผูกพัน ซึ่งในตอนแรกความรู้สึกผมก็เหมือนว่าเป็นนักกีฬากับโค้ช แต่พออยู่ไปสักพัก เวลาไปแข่งขันแล้วชนะ ผมก็รู้สึกดีใจด้วย แพ้ก็เสียใจ ร้องไห้ด้วยกัน รู้สึกเศร้า จนทำให้วันหนึ่งผมรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่แค่นักกีฬากับโค้ช แต่เป็นเหมือนลูกชาย และลูกสาวของผม ที่ไม่ใช่เป็นนักกีฬา ไม่ใช่เป็นสต๊าฟโค้ช แต่เป็นครอบครัวของผม

ปฏิเสธชาติอื่นที่ทุ่มเงินค่าจ้างสูงกว่า

ถึงแม้ว่าชาติอื่นจะยื่นข้อเสนอที่ดีมาให้ ผมก็ยอมรับว่า ผมก็อยากได้เงินเยอะๆ เพราะสิ่งที่สำคัญ ผมไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ผมยังมีครอบครัว มีลูก มีภรรยาที่ต้องรับผิดชอบ แต่ผมก็รู้สึกทำใจไม่ได้ หากต้องไปเป็นโค้ชให้ทีมชาติอื่น เป็นอะไรที่ตัดใจยาก เพราะว่าในใจของผม นักกีฬาไม่ได้เป็นนักกีฬาอย่างเดียว พวกเขายังเป็นเหมือนลูกชาย และลูกสาวของผม ผมเลยตัดสินใจไม่ไปดีกว่า เพราะอยากอยู่ที่ประเทศไทยนานๆ อยากสร้างชื่อให้ประเทศไทย และอยากอยู่กับลูกศิษย์ของผมนานๆ

สิ่งที่ทำให้อยากอยู่ในเมืองไทยตลอด

มีหลายเรื่องมากครับ ที่ทำให้ผมอยากอยู่ที่ประเทศไทย เพราะผมรู้สึกว่าเวลาที่อยู่ที่นี่สบายจริงๆ ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมอยากกลับบ้านไปประเทศเกาหลีใต้ ผมก็นั่งเครื่องบินไปแค่ 5 ชั่วโมง ไม่ได้ไปอยู่ไกลเหมือนอยู่ยุโรป หรืออเมริกา รวมถึงสังคมที่เมืองไทยก็มีคนเกาหลีอยู่เยอะ ผมเลยมีเพื่อนเวลาอยู่ที่ไทย และก็ชอบอาหารไทย ถ้าวันไหนรู้สึกเหนื่อยก็จะไปนวด ซึ่งจริงๆ แล้วอยู่ที่ประเทศไทย ผมก็ไม่ได้ลำบากสักเท่าไหร่ คนหลายๆ ชาติก็รักเมืองไทย หลายๆ คนก็อยากมาสร้างชีวิตที่ประเทศไทย

อาหารไทยที่ชื่นชอบและไม่ชอบ

ทุกๆ ครั้งเวลาสั่งอาหารก็มักจะสั่งส้มตำมารับประทาน เช่น ตำไทย ตำปู และแน่นอนว่าก็ต้องเป็นต้มยำกุ้งด้วย และเมนูอย่างอื่นอีก เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง ปูผัดผงกะหรี่ ซึ่งตอนแรก พูดตรงๆ ผมก็ไม่ค่อยชอบรับประทานเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เริ่มชอบอาหารไทย เริ่มทานได้บ่อยขึ้นแล้ว เพราะอาหารเกาหลีก็จะเผ็ดคล้ายๆ กับอาหารไทย เรื่องกินเลยไม่ได้มีปัญหามากนัก

แต่ผมยังไม่เคยทำอาหารไทยครับ ขณะที่ภรรยาของผม เขาเคยทำผัดผักบุ้งไฟแดงที่บ้าน แต่ว่ารสชาติไม่ค่อยเอาอะไรสักเท่าไหร่ ผมเลยสั่งภรรยาของผมว่า ไม่ให้ทำอาหารไทย ถ้าอยากทำอาหารเกาหลีทำเลยเต็มที่ แต่ถ้าอยากกินอาหารไทย เราไปหารับประทานร้านอาหารข้างนอกดีกว่า

ส่วนอาหารไทยที่ไม่ชอบ ผักชีครับ จริงๆ รับประทานได้ แต่ไม่ใส่ดีกว่า เพราะว่าที่เกาหลีไม่มีผักชี ครั้งแรกที่ทานเข้าไปผมก็รู้สึกไม่ค่อยโอเคสักเท่าไหร่ ไม่ค่อยชอบ และอีกอย่างที่ไม่ชอบทานก็คือ ปลาร้า เพราะมีกลิ่นเหม็นมาก ซึ่งเวลาไปสั่งอาหารก็จะบอกแม่ค้าเสมอว่า ไม่ใส่ผักชีนะครับ ส่วนเวลากินส้มตำก็จะสั่งว่า ไม่ใส่ปลาร้า

สถานที่่ท่องเที่ยวโปรดในเมืองไทย

จริงๆ ตอนเด็กผมเป็นคนชอบไปเที่ยวทะเล ผมเลยชอบจังหวัดกระบี่ เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทีมชาติไทยมีรายการแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ นักกีฬาเราก็ต้องไปเก็บตัวที่จังหวัดกระบี่ พอได้ไปอยู่ที่นั่นผมก็รู้ว่าทะเลที่นี่สวย ไม่เหมือนกับพัทยา กับภูเก็ต ที่จะมีโรงแรมอยู่เยอะ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าจังหวัดกระบี่ ผมเลยชอบไปเที่ยวที่กระบี่มากกว่า

มองถึงเรื่องการซื้อบ้านในไทย

เรื่องบ้านก็ต้องดูอีกครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งครอบครัวของผมเองก็รักเมืองไทย อยากสร้างชีวิตที่ประเทศไทยไปนานๆ อยู่แล้ว บวกกับตอนนี้ลูกชายของผมก็อายุ 12 ปี เริ่มโตเป็นหนุ่ม ถ้าอยู่คอนโดต่อไป ผมก็รู้สึกว่ามีขนาดเล็กเกินไป เพราะฉะนั้นในอนาคต ถ้าผมซื้อบ้านในไทยได้ก็อยากจะซื้อบ้านให้ครอบครัวได้อยู่กันอย่างสบายๆ

ครอบครัวสนับสนุนเป็นโค้ชในไทย

ครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ครับ แม้ว่าช่วงแรกๆ ภรรยาผมจะมีปัญหาเรื่องที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนรู้จักที่นี่ มีแต่ครอบครัว แถมมีบางช่วงที่ผมต้องออกเดินทางไปที่อื่นอยู่ประมาณครึ่งปี ภรรยาผมเลยต้องอยู่คนเดียว เลี้ยงลูกคนเดียว แต่พออยู่มาประมาณ 2-3 ปี เขาก็เริ่มพูดภาษาไทยได้ เริ่มมีเพื่อนฝูง จนตอนนี้ภรรยาผม เขาชอบเมืองไทยมากกว่าผมไปแล้ว เพื่อนก็มีเยอะขึ้น เขาเลยสนันสนุนในเรื่องนี้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

การตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติไทย

จริงๆ ประเทศไทยเราเคยได้เหรียญโอลิมปิกจากแค่ 3 ชนิดกีฬา คือ มวยสากล, ยกน้ำหนัก และเทควันโด แต่ถ้าเป็นเหรียญทองก็มีแค่ยกน้ำหนักกับมวยสากล ซึ่งคนที่เป็นโค้ชพาทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญล้วนแต่เป็นโค้ชชาวต่างชาติ เช่น ยกน้ำหนักเป็นโค้ชชาวจีน, มวยสากลเป็นโค้ชชาวคิวบา ส่วนเทควันโดก็เป็นผมที่เป็นคนเกาหลีใต้ โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ถ้าหากมีโอกาสคว้าเหรียญทอง ผมเลยคิดว่าอยากเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทยก่อนไปแข่งขัน

เพราะถ้าผมยังไม่เปลี่ยนสัญชาติ ผมก็ยังจะเป็นชาวต่างชาติที่พาทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญทอง ผมเลยอยากสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยว่า ผมเป็นคนไทยคนแรก เป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ผมเลยรู้สึกอยากจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ส่วนความคืบหน้าตอนนี้ก็ได้คุยกับ ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยบ้างแล้ว และก็ได้พบกับทนายในการเตรียมเอกสารต่างๆ ตอนนี้ก็กำลังดำเนินการเตรียมเอกสารไว้แล้ว และเตรียมตรวจสอบเรื่องเอกสาร จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลไทย

เล่าถึงที่มาของชื่อไทย”ชัยศักดิ์”

ชื่อนี้ได้มาประมาณ 10 ปีที่แล้วครับ นักกีฬาเทควันโดสมัยนั้นเป็นคนตั้งให้เมื่อตอนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ผมก็เลยให้พวกเขาตั้งชื่อให้ ชื่อของผม เช-ยอง-ซ็อก พูดไปพูดมาก็เป็น ชัย-ยะ-ศักดิ์ เป็นคำพูดที่ออกเสียงคล้ายๆ กับชัยศักดิ์ ผมก็เลยถามพวกนักกีฬาว่าชื่อนี้มีความหมายว่ายังไง พวกเขาบอกว่าไปไหนมาไหนทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จมีแต่ชัยชนะ ทำให้ผมชอบชื่อนี้ ซึ่งก็ต้องไปพูดคุยกับคุณพิมลก่อนว่านักกีฬาเขาตั้งชื่อนี้มาให้ผม โอเคไหม ถ้าโอเคก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าการตั้งชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

ผมกับคุณพิมลอยู่ด้วยกันทำงานด้วยกันมาประมาณ 17 ปี และเขาก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของสมาคม ถ้าจะตั้งชื่อใหม่มาจริงๆ ผมก็อยากให้คุณพิมลเป็นคนตั้งชื่อให้ โดยตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องชื่อครับ เพราะเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการขอเตรียมเอกสารเปลี่ยนสัญชาติก่อนไปทำการแข่งโอลิมปิกเกมส์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงกลางปีนี้ เลยต้องรีบดำเนินการในเรื่องนี้ก่อน

เป้าหมายเหรียญทองโอลิมปิก

แน่นอนว่าทุกครั้ง ทุกแมตช์ ทุกการแข่งขัน เราก็มีเป้าหมายคือ เหรียญทอง ซึ่งผมยอมรับว่า โอลิมปิกครั้งนี้ประเทศไทยเรามีโอกาสที่จะคว้าเหรียญทองจริงๆ แต่เสียดายที่ปีที่แล้วติดเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้เลื่อนการแข่งขันมาแข่งกันในปีนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าปีนี้โอลิมปิกยังสามารถจัดแข่งขันได้ตามกำหนดเดิม ก็ตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยต้องได้ 1 เหรียญทอง ซึ่งผมจะทำให้เต็มที่และคว้าเหรียญมาให้ได้มากที่สุด

จริงๆ ผมไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้เหรียญอะไร เพราะไม่มีใครรู้ผลก่อนทำการแข่งขัน แต่ถ้าให้พูดตรงๆ ก็ยอมรับว่าตอนนี้ ?น้องเทนนิส? พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คือหมายเลข 1 ของโลกในเวลานี้ ซึ่งก็มีโอกาสจริงๆ ที่จะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก แต่ว่าตอนนี้เราก็ต้องดูแลในเรื่องร่างกาย และระวังเรื่องอาการบาดเจ็บ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ผมคิดว่าก็มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะคว้าเหรียญทองได้

วางแผนอนาคตในเมืองไทย

ตอนนี้เป้าหมายของผมลำดับแรกเลยคือ พาทัพนักกีฬาทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ส่วนในอนาคตถ้าหากเลิกเป็นโค้ชเทควันโดทีมชาติไทยแล้ว ก็อยากจะทำมูลนิธิ ชื่อมูลนิธิโค้ชเช ยอง ซ็อก หรือไทเกอร์ เช ฟาวน์เดชั่น เพราะผมเกิดปีเสือ อะไรประมาณนี้ ซึ่งก็จะเป็นมูลนิธิที่ช่วยเด็กๆ ชาวไทยในต่างจังหวัดที่อยู่กันอย่างลำบาก เพราะผมอยากจะตอบแทนชาวไทยที่คนไทยรักผม ห่วงใยผม ซึ่งผมก็อยากช่วยจริงๆ และอีกอย่างถ้าหากผมได้เป็นคนไทยแล้ว ผมมีความรู้เรื่องกีฬาเทควันโด ก็อยากจะไปทำงานเรื่องเทควันโด ระหว่างประเทศไทยกับเกาหลีใต้ อะไรประมาณนั้น ถ้าอันไหนผมทำได้ก็ยินดีที่จะทำเต็มที่

จากจุดเริ่มต้นของโค้ชเช ยอง ซ็อก กับการเข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ผ่านเรื่องราวยาวนานกว่า 19 ปี ที่ทำให้โค้ชสายเลือดโสมขาวรายนี้มีหัวใจเป็นไทยแท้ จนตัดสินใจขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทยด้วยเหตุผลที่น่าประทับใจสำหรับคนไทยทั้งประเทศ เพราะโค้ชเชต้องการที่จะเป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาไทยสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งเขาไม่ได้มองแค่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังมองถึงคนไทยทั้งประเทศ

ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของทั้งตัวโค้ชเช ยอง ซ็อก รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศที่ต้องการได้เห็นความสำเร็จเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์อีกครั้ง หลังจากที่ทัพนักกีฬาไทยไม่เคยได้สัมผัสเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์มายาวนานถึง 13 ปีแล้ว

The post เปิดอกคุย ‘เช ยอง ซ็อก’ โค้ชโสมขาวหัวใจไทยแท้ appeared first on มติชนออนไลน์.

คอลัมน์ ตามรอยพ่อไปชิม : ส้มตำเจ๊โส โดยปิ่นโตเถาเล็ก

$
0
0

ย่านสีลม ศาลาแดง สาทรคือแหล่งรวมของมนุษย์ทำงาน จะคึกคักเป็นพิเศษในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ จึงมีร้านอาหารเจ้าเล็กเจ้าน้อยตามมาเปิดขายอยู่ทั่วทุกตรอกซอกซอย

แน่นอนว่าอาหารประจำชาติที่สาวๆ ปากแดงหน้าตาจิ้มลิ้มชื่นชอบเป็นพิเศษย่อมต้องเป็นส้มตำ ไก่ย่าง คราวนี้จึงขอแนะนำร้านอาหารอีสานแท้ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ชื่อว่าซอยพิพัฒน์ 2 ขึ้นชื่อเรื่องความแซ่บ โด่งดังขนาดที่ว่าอยู่ในทำเลซอยรองด้านหลัง แต่ก็ยังมีผู้คนรู้จักไปเข้าคิวอุดหนุนจนแน่นขนัด ร้านนี้มีชื่อว่าส้มตำเจ๊โส

ช่วงที่เน้นการเวิร์กฟรอมโฮม ทำงานอยู่ที่บ้านแบบนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ปิ่นโตเถาเล็กจะตามไปชิมร้านนี้ แต่ก็ไม่ประมาทรีบไปตั้งแต่ตอนเปิดร้านประมาณ 10 โมงครึ่งเพราะถึงอย่างไรตอนเที่ยงก็มีหนุ่มสาวมาอุดหนุนกันเต็มทุกโต๊ะ แม้กระทั่งฝรั่งมังค่าที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมานานก็ยังมาที่ร้านนี้ด้วย

เจ๊โส หรือคุณโสภา หอกคำ ในวัย 55 ปี มีพื้นเพเป็นคนยโสธร จากอำเภอคำเขื่อนแก้ว เคยทำงานอยู่บริษัทยา หลังจากช่วงฟองสบู่แตก จึงออกมาทำร้านรถเข็นเล็กๆ ขายส้มตำ ก่อนขยับขยายกลายเป็นร้านอาหารอีสานชั้นเดียว 1 คูหา เปิดมานานกว่า 15 ปีแล้ว ในช่วงที่ยังไม่มีสถานการณ์โควิดถึงขนาดต้องเช่าบ้านข้างๆ ตั้งโต๊ะเพิ่มอีกด้วย (ตอนนี้ทำแค่ห้องเดียวไปก่อน)

ร้านนี้ทำกันในครอบครัว เจ๊โสเป็นมือตำส้มตำ มีพี่สาวเจ๊โสทำลาบน้ำตก ส่วนสามีเจ๊โสประจำสถานีปิ้งย่าง ส่วนหลานๆเป็นคนเสิร์ฟ

ถ้าใครนำรถมาขอบอกว่าที่จอดในซอยหน้าร้านนั้นน้อยมาก ทางที่ดีให้ไปจอดตามตึกต่างๆ ริมถนนสีลมบริเวณปากซอยคอนแวนต์จนถึงปากซอยสีลม 3 หรือมารถไฟฟ้าสถานีศาลาแดงดีที่สุด

แต่ถ้าให้รถมาส่งถึงหน้าร้าน ให้มาจากถนนสีลม (หรือเข้าจากสาทรก็ได้) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนคอนแวนต์ พอเห็นโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ทางด้านซ้าย ให้เลี้ยวขวาเข้าซอยพิพัฒน์ 2 ซึ่งเป็นเส้นวันเวย์ไปออกซอยสีลม 3 ร้านส้มตำเจ๊โสจะอยู่ราวกลางซอยทางด้านขวามือ มีป้ายชื่อร้านเล็กๆ อยู่

เวลามาร้านนี้ มีขั้นตอนการสั่งทั้งคนที่ซื้อกลับบ้านและคนนั่งกินที่ร้าน คือให้เขียนสั่งในเมนูกระดาษฉีกหน้าร้านให้เรียบร้อย บอกจำนวนที่ต้องการในแต่ละเมนู บอกเบอร์โต๊ะ (กรณีกินที่ร้าน) และที่สำคัญให้เขียนชื่อเล่นของเราลงไปด้วย เพราะที่นี่ในยามคนแน่นตอนใกล้เที่ยง จะใช้ระบบบริการตัวเอง รอเงี่ยหูฟังขานชื่อ แล้วเดินมารับอาหารเอง เห็นน้องๆ ที่มาอุดหนุนช่วยกันหยิบจานชามน้ำแข็งเครื่องดื่มกันเองอย่างคุ้นเคยอีกด้วย

เจ๊โสบอกว่าร้านนี้ทำพริกป่น ข้าวคั่ว ดองปูจืด (ต้มน้ำเกลือใส่ตะไคร้) และต้มปลาร้าเอง วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เมนูดังที่มาแล้วห้ามพลาดเป็นอันขาด เริ่มจากปีกไก่ย่าง (ไม้ละ 20 บาท) สะโพกไก่ย่าง(70 บาท) หรือจะสั่งไก่ย่างทั้งตัวก็ได้ (200 บาท) ช่างเป็นไก่ย่างที่หอมอร่อยมาก ยิ่งถ้าสั่งเป็นสะโพกไก่ย่างจะหนังกรอบนอกเนื้อนุ่มในจริงๆ โดยเจ๊โสจะหมักกับกระเทียม พริกไทย ซอสปรุงรส น้ำตาล น้ำมันหอย นมข้นจืด (เจ๊โสบอกว่าคือเคล็ดลับความกรอบนอกนุ่มใน) โดยจะหมักไม่เกินชั่วโมงเพื่อไม่ให้เค็มเข้าเนื้อจนเกินไป ระหว่างรออาหารให้นั่งดูสามีเจ๊โสย่างไก่เพลินๆ ไปก่อน มีเตาถ่านตั้งเรียงรายถึง 5 เตา

นอกจากนี้ ของย่างที่อร่อยจนฝันถึงก็คือปลาดุกย่าง (ตัวละ 50 บาท) ที่หอมอร่อยเป็นอันมาก ไม่มีกลิ่นคาวเลย กรรมวิธีทำจะยัดไส้ปลาดุกด้วยตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม พริกไทย ปรุงด้วยซอสปรุงรส ส่วนคอหมูย่าง (65 บาท) ก็ต้องลองชิมให้จงได้ หมักแบบเดียวกับไก่ย่างแต่ไม่ใส่กระเทียมพริกไทย แต่ช่วงเน้นทำงานที่บ้านนี้คนยังน้อยเลย เจ๊โสบอกว่าเลยงดทำเมนูปลานิลเผาไปก่อน

ต่อกันด้วยส้มตำฝีมือเจ๊โส ห้ามพลาดตำปูปลาร้า (50 บาท) ใส่น้ำปลาร้ารสนัวกลมกล่อมมาก โรยหน้าด้วยเม็ดกระถินจัดเต็ม เจ๊โสบอกว่าตอนนี้ส้มตำที่มาแรงคือตำไหลบัวกรอบๆ (70-80 บาท) จะสั่งเป็นตำไหลบัวกุ้งสดก็ได้ (100 บาท) และยังมีตำป่า (70 บาท) ใส่หน่อไม้ หอยเชอรี่ ผักชีฝรั่ง ปูนาดอง และเม็ดกระถิน

ถ้าชอบตำผลไม้ให้สั่งตำข้าวโพด (70 บาท) ใส่องุ่นกับมะเขือเทศราชินี ตำอื่นๆ มีมากมายเช่น ตำไทย ตำไทยไข่เค็ม ตำปลากรอบ ตำโคราช ตำซั่วตำหมูยอ ตำแตง ตำถั่ว ตำหอยดอง ตำทะเล เป็นต้น

ลาบเป็ด (70 บาท) ฝีมือพี่สาวเจ๊โสก็สุดยอด ห้ามพลาดเช่นกัน ใส่ทั้งหนังเป็ดติดมันนิดๆ นุ่มชุ่มฉ่ำ อร่อยจนต้องสั่งเพิ่มอีกจาน ส่วนตับหวาน (หมู) ก็สดนุ่ม (65 บาท) แซ่บอีหลี เมนูอื่นๆ มีอีกหลากหลาย เช่น ซุปหน่อไม้ (45 บาท) น้ำตกหมู (65 บาท) น้ำตกคอหมู (70 บาท) ต้มแซ่บกระดูกหมู (65 บาท) ตอนนี้ไม่มีเมนูอ่ออมแล้วเพราะการทำจุกจิก ทำไม่ทันช่วงคนแน่น

ร้านส้มตำเจ๊โสเปิดบริการตั้งแต่ 10 โมงครึ่งจนถึงบ่าย 5 โมงครึ่ง หยุดทุกวันอาทิตย์ โทร 08-5999-4225 นอกจากนี้ ยังมีลูกชายทำร้านสาขาสองใช้ชื่อว่า ตั้มแซ่บซ่า อยู่แถววัดบางสะแกใน ตรงข้ามเดอะมอลล์ท่าพระอีกด้วย ใครสนใจอยากสั่งไปออกร้านนอกสถานที่ เจ๊โสรับออกงานในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยนะจ๊ะ

ข้อมูลร้าน

ส้มตำเจ๊โส

โดย คุณโสภา หอกคำ

ที่ตั้ง 146 ซอยพิพัฒน์ 2 ถ.สีลม สีลม บางรัก กรุงเทพฯ 10500

โทร 08-5999-4225

เปิดบริการ 10.30-17.30 น. จันทร์-เสาร์

หยุด อาทิตย์

แนะนำ ปีกไก่ย่าง สะโพกไก่ย่าง ปลาดุกย่าง คอหมูย่าง ตำปูปลาร้า ตำไหลบัว ตำข้าวโพด ลาบเป็ด ตับหวาน

Facebook ส้มตำเจ๊โส

The post คอลัมน์ ตามรอยพ่อไปชิม : ส้มตำเจ๊โส โดยปิ่นโตเถาเล็ก appeared first on มติชนออนไลน์.

‘เพ ลา เพลิน’ ดินแดนปลูก-ผลิตกัญชาครบวงจร เดินหน้าทำระบบ‘คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง’ เปิดช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย

$
0
0

เป็นเวลาปีเศษแล้ว ที่ต้นกัญชาของ “วิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน” ยังคงออกดอกสวยงามในฟาร์มปลูกระบบปิดที่ได้มาตรฐาน และสามารถเก็บเกี่ยวตัวช่อดอกอย่างต่อเนื่องส่งขายให้กับโรงพยาบาลคูเมือง ซึ่งเป็นโรงผลิตยาสมุนไพรที่ได้รับมาตรฐานจาก GMP แห่งเดียวใน จ.บุรีรัมย์

สร้างความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดในการผลักดัน “กัญชาทางการแพทย์” โดยสามารถพัฒนาต่อยอด สกัดเป็นยาน้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเริ่มกระจายให้กับคลินิกและสาธารณสุขจังหวัดได้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชัก โรคมะเร็ง และอีกหลากหลายโรค เรียกได้ว่าก้าวผ่านความสำเร็จไปอีกขั้นของการปลูกและสกัดน้ำมันกัญชา ตามแผน “บุรีรัมย์โมเดล” สู่เมืองหลวงของกัญชา เพื่อการแพทย์ของประเทศ

คุณพรทิพย์ อัษฎาธร ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพ ลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ ได้พูดคุยถึงความสำเร็จที่พร้อมส่งต่อเรื่องราวของการปลูก “กัญชา-กัญชงเพื่อการแพทย์” ให้กับผู้ที่สนใจทั่วประเทศ โดยจะใช้โมเดลปลูกกัญชาด้วยมาตรฐานการปลูกแบบ “เมดิคัล เกรด (Medical Grade)” เป็นต้นแบบการผลิตและเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ พร้อมทั้งช่วยในเรื่องของการชำกิ่งหรือโคลนนิ่งต้นกัญชา การแจกเมล็ดกัญชงให้กับ
ผู้ขออนุญาต/สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ได้นำไปปลูกแล้วรับซื้อเมล็ดคืน รวมไปถึงการทำระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง

“ในไทยคนที่ปลูก Charlotte’s Angel แล้วได้ CBD สูง ก็จะมีองค์การเภสัชกรรม แบ่งปลูกที่ เพ ลา เพลิน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี และที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งทำระบบปิดเหมือนกันกับเพ ลา เพลิน โดยเพ ลา เพลินสามารถปลูกได้เปอร์เซ็นต์สารสำคัญ CBD อยู่ที่ 13%”

คุณพรทิพย์เล่าว่า เพ ลา เพลินได้เน้นปลูกกัญชาเฉพาะสายพันธุ์ Charlotte’s Angel เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีระดับสาร CBD ที่สูง และมีส่วนผสมของ THC น้อย แต่ก็มีข้อเสียคือ เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ไม่ทนร้อน หากเติบโตในอากาศร้อน ปริมาณ THC ของเฮมพ์ที่ปลูกก็จะสูง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เพ ลา เพลินเลือกปลูกอยู่ในระบบปิด

“อยู่ที่เป้าหมายว่าเราจะเอาไปใช้ทำอะไร ถ้าเน้นเอา THC หาได้ง่ายในสายพันธุ์ไทย เช่น หางกระรอก ตะนาวศรี แต่ถ้าเน้น CBD ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังต้องนำเข้าสายพันธุ์ต่างประเทศ และยังต้องพัฒนาสายพันธุ์กันอยู่ อย่างน้อย 3-5 ปี ถึงจะได้เห็นสายพันธุ์ไทยที่ CBD สูง ที่ทนร้อน และปลูกแบบ Outdoor ได้”

ปัจจุบันที่เพ ลา เพลินมีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้ามาทำร่วมกันประมาณ 10-15 คน โดยจะเน้นปลูกสมุนไพรและผักเป็นหลัก ส่วนกัญชาที่ไม่ได้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ปลูกแค่ 300-400 ต้น/รอบ ก็จะใช้คนดูแลแค่ 4-5 คน เนื่องจากเป็นระบบควบคุม สามารถใช้แอพพ์เข้ามาช่วยในเรื่องของการให้น้ำให้ปุ๋ยได้ ซึ่งคุณพรทิพย์ก็ได้ย้ำว่า ถ้าจะใช้แบบเมดิคัล เกรด สารในดิน น้ำต้องผ่านการตรวจ ช่อดอกแห้งต้องตรวจผ่าน Lab ก่อนถึงจะขายได้ เพราะหากพบเชื้อราจะเอาไปใช้ในเชิงการแพทย์ไม่ได้ ตรวจเจอต้องทิ้งหมด โดยราคาขายก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสาร CBD เฉลี่ยกิโลกรัมละ 20,000-50,000 บาท (CBD ต้องได้ 18%)

“แม้แต่การปลูกสายพันธุ์เดียวกัน ปลูกคนละรอบ คนละห้อง ถ้าควบคุมน้ำ ดิน ปุ๋ย ไม่ได้ หรือควบคุมแสงสว่างไม่ดีพอ อาจจะเกิดอาการเหลือง หรือให้สาร CBD ไม่เท่ากัน ดังนั้นต้องมีการตรวจทุกรอบ”

ลำต้น ราก ใบ “กัญชา-กัญชง” ใช้ได้หมด

ตอนนี้ลำต้น ราก ใบ ขายได้ ใบกัญชาที่อยู่ใต้โคนช่อดอก ส่งให้กับ ม.นเรศวร ทำวิจัยเพื่อจะทำคอสเมติก ส่วนที่เป็นใบเลยก็นำไปใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ทำ “CBD กะเม็ง” ”CBD เบต้ากลูแคน” พยายามให้ทุกขั้นตอนผ่านการตรวจจาก Lab มีการรับรองและใส่เปอร์เซ็นต์สารสำคัญที่เหมาะสม หรือใบส่วนที่เป็น West ก็อาจจะไปสู่การเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้ เป็นต้น

ส่วนรากกัญชา มีส่งให้กับศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ตรวจหาสารสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีการปลดล็อก ลำต้น ราก ใบ ต้องทำลายทิ้ง ซึ่งรากอาจจะเอาไปใช้ทำยาไทย ยาสีฟัน ลดการบวมของเหงือก อย่างยาสีฟันเทพไทยก็จะเข้ามาหาเราวันที่ 7 มีนาคมนี้ด้วย

“มีหลายแบรนด์ในไทยที่จะเข้ามาคุยกับเรา ขอให้หาแหล่งปลูกช่วย โดยให้เราช่วยหาผู้ที่สนใจจะปลูกและได้คุณภาพแบบเรา เขาก็จะขอรับซื้อในราคาที่เขากำหนด เนื่องจากการปลูกระบบปิดมีการลงทุนค่อนข้างสูง ถ้ามารับซื้อเราปีเดียวแล้วราคาตก การคุ้มทุนจะไม่มี ซึ่งเรากำลังคุยกับกรมวิชาการเกษตร จับมือกันพัฒนาสายพันธุ์ที่ให้ CBD ที่เป็นที่ต้องการของทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าถึงการปลูกมากขึ้นและมีรายได้จากส่วนนี้”

ขณะที่ลำต้น ราก ใบ ของกัญชง ทุกส่วนมีเปอร์เซ็นต์สารต่างกันหมด นอกจากปลูกเพื่อนำใยไฟเบอร์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิดแล้ว เมล็ดหลังจากที่สกัดเอาน้ำมันโอเมก้า 3-6-9 เสร็จ เนื้อเมล็ดที่เหลือสามารถเอามาทำเป็น “สแน็กบาร์-เฮลท์ตี้บาร์” ได้ น้ำมันก็สกัดออกมาใช้เป็นคอสเมติกได้ (หรือทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เนย ชีส เต้าหู้ นมกัญชง หรือใช้ในการปรุงอาหาร) อันนี้ก็เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ส่วนใบสดเรายังเน้นขายให้กับคนที่เอาไปทำวิจัย กิโลกรัมละ 500 บาท ซึ่งเอาไปทำคอสเมติกได้ หรือเอาไปทำยาแผนไทยก็ได้เช่นกัน

“สำคัญเลยก็คือ ต้องรู้ว่าสัดส่วนที่จะใส่คืออะไร ถ้าเราไม่วิเคราะห์ เอามาเข้าสูตรยา หรือมาใส่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เราก็ไม่รู้ว่าตรงไหนจะให้ข้อดีอะไร อย่างเมล็ดกัญชงที่จะทำเอนเนอร์จี้บาร์ ยังต้องวิเคราะห์กับสถาบันอาหาร หาว่าสารสำคัญที่มีอยู่ช่วยอะไรได้บ้าง”

แต่ที่เป็นปัญหาของบ้านเราตอนนี้เลยก็คือ ยังมีเมล็ดพันธุ์กัญชงที่ไม่เพียงพอที่จะไปสกัดเป็นน้ำมันจากเมล็ดได้ ยังต้องอยู่ในเฟสการขยายพันธุ์ก่อนในช่วงปีแรก ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ คอสเมติก สปา ยาสีฟัน ต่างก็กำลังมองหาฟาร์มปลูก คิดว่ามหกรรมงาน “กัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” 5-7 มีนาคมนี้ ที่สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์ จะเป็นอีกงานสำคัญ ที่จะได้เห็นระบบ “คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง” เรื่องกัญชงกัญชาเกิดขึ้น

นำร่องโครงการ “SEED TO SALE”

ขณะนี้มีโครงการ SEED TO SALE ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มองหาแหล่งปลูก ซึ่งมีศักยภาพในการทำโมเดล 60-100 ต้น ได้ทำงานร่วมกันกับเกษตรกรในลักษณะ “คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง” ซึ่งจะเริ่มปลูก-ผลิต ในพื้นที่เพ ลาเพลินเป็นที่แรก

“เราต้องการเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพ ที่มีออเดอร์ ต้องการเอาไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในอนาคต ให้เขามาเจอกับคนที่อยากจะปลูก เพราะคนที่อยากจะปลูกเขาก็มาคุยกับเรา และเราก็ต้องวิเคราะห์ให้เขาด้วยว่าเจ้าไหนมีศักยภาพ ถ้าปลูกแบบไร้ทิศทางก็ไม่อยากแนะนำ แล้วต้องประกันรับซื้อให้ผู้ปลูกด้วย โดยเราจะเป็นตัวกลางให้”

กัญชากัญชงปลูกได้! อยู่ที่การแจ้งครอบครอง

คุณพรทิพย์บอกว่า กัญชาหากเป็นสายพันธุ์ไทย เน้น THC ชาวบ้านปลูกได้เลยตามที่ขอจดแจ้งกับ สสจ. และสามารถเอามาทำเป็นอาหารได้ ตอนนี้ก็เริ่มเอาไปทำได้แล้ว อย่างปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นของโนนมาลัยโมเดล ซึ่งเราก็ไปช่วยในเรื่องการปักชำ และเน้นให้ปลูกเพื่อเอาไปทำอาหาร ทำยาไทย สูตรสมุนไพรไทย แต่ถ้าจะปลูก-ผลิตเพื่อไปทำยา ก็ต้องมีออเดอร์จากเรา เราถึงให้ปลูก อยากให้หาคู่พาร์ตเนอร์ในการปลูก ไม่ใช่ปลูกมาแล้วไม่รู้จะขายให้ใคร

“ถ้าทำระบบปิดดีๆ ทำแบบไม่เสียหาย คืนทุนได้ 2-3 ปี แต่ถ้าจะทำกรีนเฮาส์ ดีที่สุดที่จะทำได้ก็ไม่เกิน 2 รอบปลูก อันนี้ที่ผ่านมาเราให้ความรู้อยู่แล้ว มีศูนย์เรียนรู้ เราเปิดกว้างเรื่องการทำงาน การปลูก การทำโคลนต้นกัญชา อีกทั้งยังเตรียมเมล็ดพันธุ์กัญชงจากโครงการเกษตรที่พบพระ จ.ตาก ไว้เพื่อแจกวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มเราเอง 35 คน ที่ยังไม่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในโรงของการปลูกกัญชา ใครที่จดครอบครองได้ให้มาลงชื่อไว้ก่อน เราให้เมล็ดไปปลูกและจะส่งเสริมการรับซื้อเมล็ดกลับคืน”

แน่นอนว่าหากสามารถควบคุมการปลูกได้ดี ก็จะได้สารสำคัญสูง ราคาก็จะสูงตาม กัญชาข้อดีคือไม่ต้องควบคุม THC เพราะราคาขายจะอยู่ที่ CBD ส่วนกัญชงถ้า THC พุ่งสูงเกิน 1% ใบช่อสดต้องทิ้งหมด ต้องคุมสายพันธุ์ให้ดีตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเร็วๆ นี้ ที่เพ ลา เพลินก็จะมีการทดลองปลูกแบบกรีนเฮาส์ด้วย เพื่อลดต้นทุนและให้ชาวบ้านได้เข้าถึงการปลูกกัญชา-กัญชงมากขึ้น

คุณพรทิพย์ยังแนะนำอีกว่า การจะปลูกกัญชากัญชง ถ้าจะให้ดีแหล่งปลูกควรห่างกันถึง 40 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดการเบี่ยงเพศ หรือไม่ทำให้สาร CBD ลดลง หรือ THC พุ่งสูงขึ้น ใครจะปลูกตรงไหน ต้องมีการกำหนดโซนกัน

คลินิกกัญชา ณ เพ ลา เพลิน

นอกจากนี้ที่เพ ลา เพลิน ยังเตรียมเปิด “เอกายาสหคลินิก” ศูนย์ Wellness แห่งแรกใน จ.บุรีรัมย์ ที่พร้อมให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งแพทย์แผนไทย แผนจีน และแผนปัจจุบัน โดยจะมีห้องตรวจ 3 ห้อง และห้องให้หัตถการ 3 ห้อง เพื่อให้เป็นที่สำหรับจ่ายน้ำมันกัญชาร่วมกับ รพ.คูเมือง

เบื้องต้นมีถึง 10-13 หัตถการ อาทิ การนั่งยา เผายา พอกตา รมยา พอกเข่า นวดหน้าทองคำ โดยจะใส่ผลิตภัณฑ์ของเอกายา อย่างครีม CBD กะเม็ง เข้าไปในคอร์สต่างๆ ด้วย ซึ่งจะเปิดทำการทุกวันเวลา 09.00-20.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ เพ ลา เพลินเพื่อชุมชนแล้วร่วมใช้บริการเหล่านี้ได้

ถือว่าเป็นแห่งเดียวที่นำร่องทำครบวงจร ทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ และทำเรื่องเมดิคัล เกรด ปลูกในระบบปิดที่ได้มาตรฐานสูงที่สุด ภายใต้การควบคุมของ รพ.คูเมือง และองค์การเภสัชกรรม

ทั้งหมดนี้เพ ลา เพลินจะยกมาให้สัมผัสกันแบบใกล้ชิดที่งาน “กัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” จะได้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของการปลูกกัญชากัญชง มีเวิร์กช็อปชวนทำอาหารโดยมีส่วนผสมของกัญชา มีคลินิกกัญชาที่ให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญเป็นงานที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายผู้ปลูก ได้เจอกับผู้ประกอบการรายใหญ่อีกด้วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำข้อตกลงซื้อขายผลิตผลต่างๆ ได้ในอนาคต

โอกาสดีๆ มาถึงแล้ว ที่จะได้ปลูกกัญชากัญชงกันแบบถูกกฎหมาย 5-7 มีนาคมนี้ ห้ามพลาด พบกันที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์

The post ‘เพ ลา เพลิน’ ดินแดนปลูก-ผลิตกัญชาครบวงจร เดินหน้าทำระบบ‘คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง’ เปิดช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย appeared first on มติชนออนไลน์.

‘คน’ต้องได้อยู่กับป่า ชีวิตบนเส้นแบ่ง ในกำแพงอำนาจรัฐ

$
0
0

หมึกปากกายังไม่แห้งดี หลังรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ในนาม “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” (พีมูฟ) ลงนามในบันทึกข้อตกลง กับชนพื้นเมืองเชื้อสายกะเหรี่ยง

ให้สัญญาว่าจะเลิกคุกคาม เผาบ้าน ทำลายยุ้งฉางและข้าวของ

ให้ 36 ครอบครัวเดินเท้ากลับหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินที่เคยอยู่กินมาชั่วอายุคน ได้อย่างไม่ต้องระแวดระวัง

แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง เมื่อชาวบางกลอยเดินทางกลับจากการปักหลักหน้าทำเนียบ ก็มีการตั้งด่านสกัดทางขึ้น “ใจแผ่นดิน” อีกครั้ง

5 วันถัดมา 22 กุมภาพันธ์ คือวันที่ยุทธการ “พิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” เกิดขึ้นอีกหน เฮลิคอปเตอร์ขับวนหลายสิบรอบ กวาดกลุ่มชาติพันธุ์ลงมาจากพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากบ้านโป่งลึก บางกลอย บนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อจับมือเซ็นเอกสารของทางการ ที่คาดป้ายไว้แล้วว่า “ผู้ต้องหา”

แม้จะอยู่มาก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติก็ตามที แต่ด้วย “กฎ ระเบียบ นโยบาย” ที่ภาครัฐใช้ในการอนุรักษ์ จัดการ ไร้ความสอดคล้องกับวิถี-ประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าไทย

ด้วยการขับไล่ให้กลายเป็นอื่น

ป่าปลอดคน (จน)

ประวัติศาสตร์อัปยศ ประชาชนเป็น ‘ศัตรู’

“รากเหง้าของปัญหานั้น มีอยู่เพียงประการเดียวคือ ความล้าหลังตกยุคของการจัดการอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ที่ยังคงใช้แนวทางที่วางอยู่บนการใช้ความรุนแรงในการขับไล่และกีดกันชนพื้นเมืองออกจากป่า”

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์

โดยชี้ให้เห็นตัวแบบการจัดการป่าอุทยาน ประเภท เป็นศัตรูกับประชาชน ว่า ไม่มีที่ทางอยู่ในการจัดการป่าอุทยานของโลกอีกต่อไป

แต่กลับเป็นใจกลางสำคัญของวิทยาศาสตร์การจัดการป่าอุทยานในไทย อย่าง “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” แห่งแรกที่ไทยภาคภูมิใจ ได้ลอกเลียนการจัดการ มาจากอุทยาน Yellow Stone ของสหรัฐอเมริกา

ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อัปยศของการขับไล่ชนพื้นเมือง ที่บรรพบุรุษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตป่ามายาวนานไม่น้อยกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 14 ด้วยการใช้กองกำลังทหารบริหารจัดการกว่า 30 ปี ก่อนถ่ายโอนอำนาจให้กับหน่วยงานอุทยาน

เช่นกันกับไทย ที่ “ปิ่นแก้ว” บอกว่า ป่าอุทยานแห่งชาติถือกำเนิดขึ้นโดยรัฐราชการ ที่ใช้อำนาจเผด็จการในการแย่งชิงอำนาจ โดยใช้ประโยชน์จากประชาชนมาไว้ในมือของกลุ่มข้าราชการ เทคโนแครตของกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน ภายใต้แนวคิด ป่าปลอดคน

หากแต่ ปลอดเฉพาะคนจน หรือคนชายขอบ

เพราะในขณะที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากป่า อุทยากลับเปิดทาง อนุญาตให้ชนชั้นกลางได้ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอย่างรื่นรมย์

“ประวัติศาสตร์ของการจัดตั้งป่าอุทยานทั้งในไทย และในที่อื่นๆ ทั่วโลก จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการเบียดขับทางชนชั้นที่เข้มข้นและรุนแรง ซึ่งแน่นอน เต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างไม่ยอมถอยของกลุ่มชนพื้นเมืองที่สูญเสียแผ่นดิน
ของตน” ปิ่นแก้วยืนยัน

ล้าหลัง-สวนกระแส

โลกหนุนชนเผ่า ไทยเอาความรุนแรง

อาจารย์ปิ่นแก้วยังเปิดเผยด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของทิศทางการจัดการอุทยานทั่วโลก คือการประกาศใช้ “กระบวนทัศน์ใหม่” ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ วางอยู่บนหลักการของการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าอนุรักษ์ ให้เขาใช้ประเพณีและความรู้พื้นเมือง ดูแลและจัดการป่า และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อีกด้วย

อย่างใน “ออสเตรเลีย” มีป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมือง Indigenous Protected Areas (IPAs) กว่า 72 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด

“แคนาดา” มีการจัดรูปแบบการจัดการป่าแบบ ICCAs ในหลากหลายลักษณะ ร่วมกันจัดการระหว่างรัฐกับชนพื้นเมือง “ฟินแลนด์” ก็เช่นกัน

คือแนวทางหลักในการจัดการป่าอุทยานของโลกในปัจจุบัน แม้สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของไทย ก็ยังมีความก้าวหน้า ด้วยการการออกกฎหมาย Tribal Self Governance Act (1994) รับรองสิทธิในการจัดการพื้นที่ของชนพื้นเมือง ซึ่งเปิดให้ชนพื้นเมืองสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง เช่น Yosemite, Redwood, Mount Rainier

อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐ Jonathan Jarvis เคยกล่าวไว้ว่า การห้ามมิให้ชนดั้งเดิมในป่าได้ใช้ประโยชน์จากป่านั้นเป็นสิ่งที่ผิด และจำเป็นต้องมีการแก้ไข โฆษกของกรมอุทยานแห่งชาติได้ระบุถึงท่าทีของผู้บริหารกรมอุทยานฯ ว่า

ผู้อำนวยการ Jarvis มีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งในการทำงานในป่าอุทยานที่ซึ่งความผูกพัน ระหว่างชนพื้นเมืองอเมริกันและแผ่นดินที่ปัจจุบันกลายมาเป็นอุทยานฯ ดำเนินมาอย่างไม่เคยขาดสะบั้น ท่านเชื่อว่าการรักษาความผูกพันดังกล่าวไว้ จะสามารถเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า ในขณะที่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า และยังเปิดโอกาสให้กับชาวอเมริกัน ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองอเมริกันได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย” อาจารย์ปิ่นแก้วเล่า

ก่อนย้อนมองกรณีไทย ปรับโฟกัสไปที่ “การใช้กฎหมายล้าหลังของกรมอุทยานแห่งชาติ” และ “การผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากร” เป็นต้นตอที่ทำให้ป่าตกอยู่ในมือของรัฐราชการมาเป็นเวลานาน ถูกทำให้แย่ลงด้วยรัฐประหารซ้ำซาก นำไปสู่การนำแนวทางให้ทหารมาขับไล่และใช้ความรุนแรง

“เป็นการจัดการอุทยานถอยหลังไปยังประวัติศาสตร์ในยุคการล่าอาณานิคมโดยแท้ ในขณะที่ทั่วโลกหันมาใช้แนวทางการคืนสิทธิให้กับชุมชนในการจัดการป่าอุทยาน

นักป่าไม้ไทยกลับสวนกระแสโลกด้วยการรวมศูนย์อำนาจ ยึดเกาะอยู่กับโมเดลป่าปลอดคนของโลกเก่า ทำให้ป่ากลายเป็นพื้นที่แห่งการกดขี่ทางชาติพันธุ์ บ่มเพาะความขัดแย้งทางสังคม ถอนรากถอนโคนชนพื้นเมืองออกจากแผ่นดินที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิต และเป็นพื้นที่แห่งการสืบสานจิตวิญญาณของพวกเขา”

อาจารย์ปิ่นแก้วจึงมองว่า ป่าประเภทนี้ไม่ใช่ป่าอุทยานที่ให้ร่มเงาแก่ชีวิตของผู้คนในความหมายร่วมสมัย หากแต่เป็นป่าช้า และสุสานที่รัฐราชการยัดเยียดให้กับกลุ่มชน

กรณีบางกลอย จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากปฏิบัติการที่สะท้อนวิธีคิดของรัฐไทย ที่มีต่อชนพื้นเมืองชายขอบ

เมื่อก่อน ‘คนอยู่ในป่า’

อย่าปล่อยกำแพงบังตา

“ข้อแรก คุณเป็นถึงรัฐบาล รัฐมนตรี โดยปกติคุณมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนอยู่แล้ว แล้วคุณก็เซ็นลงนามด้วยปากกา ด้วยน้ำหมึกของพวกคุณเอง แต่สุดท้ายคุณก็ลบลายเซ็นที่ให้สัญญากับพี่น้อง สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกก็คือ ‘โกหกประชาชน’ แล้วจะให้เราไว้ใจได้อย่างไรว่ากรณีอื่นๆ พวกเขาจะไม่ทำอย่างนี้อีก คนที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน กลับเป็นคนผิดสัญญาเอง อย่างนี้ก็ไม่มีความเชื่อถืออีกต่อไป ที่รัฐบาล รวมถึงคณะทำงานของรัฐบาลนี้จะอยู่ต่อ”

ณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือ “แก้วใส” นักร้องและมือกีตาร์วงสามัญชน เผยความรู้สึกขณะร่วมเดินทะลุฟ้า กับ “ราษฎร” และเครือข่าย “People go network” ในวันที่ 8 ก่อนจะซัดต่อว่า หลายแห่งชาวบ้านอยู่มาก่อน แต่อุทยานฯ ไปขีดแผนที่ทับ ใช้มาตรการไล่คนออกมาอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการอ้างว่าป่าหายไป แต่ประเด็นคือ เขาอยู่มาก่อน แต่คุณไปขีดทับเขา แล้วคุณก็บังคับเขา

“เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ คนกับป่า อย่ามาอ้างเรื่องทำลายป่า ถามว่าสมัยก่อนใครเป็นคนทำลาย ‘รัฐบาล’ ไปไล่จับคนให้สัมปทานจะดีกว่า เพราะพื้นที่พี่น้องทำกินก่อนหน้านั้นก็ไม่มีอะไร แต่พอจะประกาศเป็นมรดกโลกเท่านั้นแหละ กุลีกุจอไปเอาเขาออกมา บังคับเขาออกมา แล้วการที่เขาต้องลงมาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ก็ไม่สามารถอยู่ได้จริง เขาไม่ได้สบายใจที่จะอยู่ตรงนั้นเลย” แก้วใสเล่า

แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้นำมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2503 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาใช้เป็นแนวทาง ประกอบการวินิจฉัยการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อุทยาน

ก่อนชี้ว่า บางกลอย-ใจแผ่นดิน ถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกากะญอ และพลิกคำตัดสินเดิม ให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีความผิด

แต่จากการลงพื้นที่ “แก้วใส” บอกว่า เห็นชาวบ้านต้องขออนุญาตทุกอย่างหากจะทำอะไร แม้มีบางองค์กรลงไปช่วยเหลือ ก็เป็นเพียงการเอาพระบังหน้า บางองค์กรเข้าไปก็กดเขาไว้ เหมือนตรงนั้นเป็นสวนสัตว์ มีการสร้างพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พยายามให้ดูเป็นพื้นทางวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้า แต่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านจริง จะทำอะไรก็ลำบาก รายได้น้อย สำคัญคือที่นั่นปลูกข้าวได้ยากมาก เอาอะไรไปยัดให้เขาก็ไม่รู้ให้เขาไปปลูกโดยที่ไม่ใช่วิถีของเขา

“ไม่แน่ใจว่าคนเมืองที่ชอบสีเขียวของป่าจะเข้าใจได้หรือไม่ ว่าความเป็นคน ความเป็นมนุษย์มันสำคัญแค่ไหน มากกว่าแค่ต้นไม้ คุณไปละเมิดเขา ไม่แปลกที่พี่น้องต้องออกมาเรียกร้อง สิ่งที่ต้องยืนยันคือ เป็นสิทธิที่เขาควรจะอยู่ได้ แต่รัฐเองเป็นคนตระบัดสัตย์ เป็นคนโกหกประชาชน รัฐเองที่เป็นคนสร้างความไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก นี่คือความเป็นจริง คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นี่คือคนที่มีเลือดเนื้อเหมือนกัน

“คนในประเทศนี้ก็เป็นชาติพันธุ์ทั้งนั้น ในพม่าก็มีหลากหลาย ชาติพันธุ์ก็คือคน ความหมายของคนก็คือ เท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะทำอะไรก็เข้าใจความเป็นคนหน่อย เคารพศักดิ์ศรีกันหน่อย มีหัวจิตหัวใจกันหน่อย ไม่ใช่ว่าอยากจะทำอะไรกับใครก็ได้ กรีดเลือดกรีดเนื้อออกมาก็มีเลือดเหมือนกัน ขอให้มองตรงนี้บ้าง อย่าไปมองแค่ตัวเลขในเชิงเศรษฐกิจ แค่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่คุณจะได้มา อย่ามองเขาเหมือนสัตว์ เหมือนตัวอะไรที่จะฆ่าก็ได้

‘ชาติพันธุ์ก็คือคน’ และ ‘คุณก็คือคน’ ไม่ว่าจะเผ่าพันธุ์ไหน เราก็คือคนเหมือนกันหมด แต่ก่อนคนเราอยู่ในป่า เพียงแค่ความเจริญเข้ามา คนส่วนหนึ่งก็กระโดดจากป่าไปอยู่เมือง ไม่รู้กำแพงอะไรที่มากั้นคนกับคนเอาไว้

เพียงแค่เราอยู่กันคนละพื้นที่ กลับรังเกียจเดียดฉันท์กัน

อย่ามองเขาว่าเป็นคนอื่น ‘คน’ ไม่มีอื่น อย่าแบ่งว่าเขาคือคนป่า คนก็คือคนเหมือนกัน ทำลายกำแพงระหว่างหัวใจคน ทำลายกำแพงความเกลียด ความกลัว ทำลายม่านหมอกที่มันบังตาของเราไว้ ที่ไม่รู้ใครสร้างมาแล้วมาแบ่งพวกเราออกจากกัน แล้วเราจะกลับเข้ามาสู่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคนเหมือนกันที่มองว่า คุณคือคน ฉันคือคน แล้วเราจะเข้าใจกัน จะมีการจัดสรรผลประโยชน์ที่เหมาะสมซึ่งกันและกัน” แก้วใสคิดเช่นนี้

ดังที่บทเพลง “ชีวิตสัมพันธ์” มักถูกขับขานโดยเหล่านักรักธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง

คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน

ต้นไม้งาม คนงดงาม งามน้ำใจ ไหลเป็นสายธาร

ชุบชีวิต ทุกฝ่ายเบิกบาน

มีคน มีต้นไม้ มีสัตว์ป่า

เหลื่อมล้ำ อำนาจ

วาระแห่งชาติ ที่ต้องทบทวน

เพราะโครงสร้างอำนาจที่เหลื่อมล้ำและผูกขาด จาก “ที่ดิน” ไปถึง “อำนาจรัฐเผด็จการ”

คือเหตุที่ “เพชร” จากองค์กร “Land Watch THAI” หนึ่งในผู้จับตาปัญหาที่ดินทั้งในเขตพื้นที่ที่ดินป่าไม้และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มาร่วมเดินทะลุฟ้าอย่างแน่วแน่

เดินเพื่อพูดความจริง เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหา เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

“เพชร” มองว่า ปัญหาพรากสิทธิที่ดิน ยิ่งวิจัย ยิ่งเก็บเกี่ยว ก็ยิ่งแยกไม่ออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

ใต้คำว่า “สิทธิชุมชน และ สิทธิมนุษยชน”

“เพชร” ชี้ว่า คนไทยกว่า 75% ไม่มีที่ดินของตัวเอง อีก 15% มีที่ดินไม่ถึง 10 ไร่ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินมหาศาล หลักหมื่น-แสนไร่

ในขณะที่ชาวนาผู้ผลิตข้าว สร้างชื่อเสียงให้กับคนไทย แทบไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตจากที่ดิน

จำกัดการอยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่หลายๆ ที่ แต่กลับให้พื้นที่เดียวกันในแบบนี้สามารถระเบิดภูเขา สร้างที่พักสวยงามบนยอด

“เราอยู่ในสังคมที่เราไม่มีแม้กระทั่งโอกาสกำหนดสีผังเมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตตัวเอง คนที่มีส่วนในกำหนดคือรัฐบาลกับนายทุนที่จูบปากกันแล้วก็หาประโยชน์ใส่กระเป๋าตัวเอง

เราอยู่ในเมืองที่ราคาที่ดินสูงลิบลิ่ว คนมนุษย์เงินเดือนหรือชนชั้นกลางทั่วไปต้องอยู่อาศัยหรือซื้อคอนโดในราคามหาศาล ตั้งคณะมาแก้ไขปัญหาแบบวนอ่างอยู่ร่ำไป

ผมคิดว่ามันต้องทบทวนกันใหม่ เป็นวาระสำคัญของประเทศชาติ ที่จะต้องจำกัดการถือครองที่ดิน จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า” เพชรเสนอแนะ

อธิษฐาน จันทร์กลม

The post ‘คน’ต้องได้อยู่กับป่า ชีวิตบนเส้นแบ่ง ในกำแพงอำนาจรัฐ appeared first on มติชนออนไลน์.


จากเมล็ดพันธุ์ถึงผลิตภัณฑ์ ทุกมิติในงานเดียว ‘กัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน’

$
0
0

นับเป็นอีเวนต์ครบรสชาติอย่างจริงแท้ สำหรับงาน “กัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 9 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์เตรียมจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคมนี้ ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ รวบรวมสาระความรู้เรื่องของกัญชากัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ครอบคลุมทุกมิติเพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

มากมายด้วยกิจกรรมขานรับการปลดล็อกป้าย “ยาเสพติด” ออกจากพืชทั้ง 2 ชนิด นับแต่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จรดปากกาลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลทำให้ส่วนของพืชกัญชากัญชงที่ปลดล็อก ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย สารสกัดที่มีสารซีบีดี (CBD) เป็นส่วนประกอบ รวมถึงกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งจะต้องมีสารทีเอชซี (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2, เมล็ดกัญชง น้ำมัน และสารสกัดจากเมล็ดกัญชง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนทั่วไปยังสามารถใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชากัญชงไปใช้ในการประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค อีกทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ด้วย

ข้อมูลสาระความรู้จึงเป็นวัตถุดิบที่จะฉายภาพมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับกัญชากัญชงได้เป็นอย่างดี

จากต้นถึงปลายน้ำ จากภาครัฐสู่ประชาชน

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะผู้รับผิดชอบการดำเนินการจัดงาน กล่าวถึงภาพรวมของมหกรรมดังกล่าวว่า งานกัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน ถือเป็นงานกระทรวงสาธารณสุขสัญจร ที่ทุกกรมในกระทรวงมาร่วมจัด โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อย. ซึ่งอยากให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน โดยมีไฮไลต์เรื่องกัญชา 6 ต้น การปลดล็อกกัญชง ขั้นตอนการขอปลูกกัญชากัญชงต้องทำอย่างไร ปลูกแล้วใช้ทำอะไรได้บ้าง เป็นสิ่งใหม่ ใครมางานนี้จะรู้ทันที ส่วนใครอยากรู้วิธีปลูกก็มาดูได้ว่าปลูกอย่างไร กระทั่งเรื่องของอาหาร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำหรือมีส่วนประกอบจากกัญชากัญชงก็มีให้ชม ชิม ช้อป และเรียนรู้

“ในส่วนงานวิชาการก็มีสัมมนา และการบรรยายความรู้เรื่องของกัญชาทางการแพทย์ กัญชงเพื่อเศรษฐกิจ เรามีงานวิจัยใหม่ๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และผลเป็นอย่างไร เราจะเอาผลที่ทำมาโชว์ให้เห็น วิทยากรที่เชิญมาดีที่สุดของประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ นอกจากนั้นก็ยังมีเวิร์กช็อปกัญชากัญชงหลายรายการน่าสนใจ ใครอยากจะดูการสกัดน้ำมันกัญชง การสกัดกัญชาทางการแพทย์ และเนื้อหาต่างๆ ทั้งกัญชาและกัญชง มีในบูธนิทรรศการของภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ร่วมนำเสนอผลงาน รวมถึงมีคลินิกกัญชาที่ประชาชนสามารถเข้ารับบริการกัญชาทางการแพทย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาหลายเดือนยังไม่มีงานที่สามารถทำให้ชาวบ้านเข้าถึงได้เลย งานนี้จะทำให้ทุกคนได้เข้าถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมร่วมงานด้วยความมั่นใจ เนื่องจากเรามีมาตรการความปลอดภัยเรื่องการป้องกันโควิดเข้มข้น ผู้เข้างานต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ และการเว้นระยะห่าง” นายแพทย์วิทิตอธิบาย

ชมนิทรรศการ เปิดงานวิจัย สแกนหลากนวัตกรรม’กัญชากัญชง’

สำหรับไฮไลต์ในมหกรรมแบ่งเป็น 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ นิทรรศการ เวทีเสวนา คลินิกกัญชา และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เริ่มไฮไลต์แรกที่ นิทรรศการกัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน พบกับการเผยแพร่ผลงานจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่นำเสนอองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในทุกมิติ ตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุญาตปลูกกัญชากัญชง ซื้อเมล็ดพันธุ์ ขั้นตอนการปลูก การนำไปใช้ ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่า อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ความรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์กัญชารักษาโรค องค์การเภสัชกรรม มาในคอนเซ็ปต์จากกัญชาทางการแพทย์สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจไทย โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ CBD และหลักเกณฑ์ความร่วมมือเข้าร่วมปลูกและจำหน่ายช่อดอกกัญชาแห้งให้องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง และสถาบันมะเร็งอุดรธานี นำเสนอความรู้และผลิตภัณฑ์กัญชา รวมถึงสมุนไพรอีกหลายรายการ

ในขณะที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำเสนอเรื่องของชุดทดสอบกัญชา และการใช้ชุดตรวจวัดปริมาณสาร THC และ CBD กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ความรู้เรื่องน้ำมันกัญชาทางการแพทย์แผนไทย เมตตาโอสถ การุณย์โอสถ ชิมชาชงกัญชา ตามกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย เรียนรู้ทำสบู่กัญชา และพิมเสนกัญชา สถาบันกัญชาทางการแพทย์ และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชวนพบกับ “กัญชา” อภัยภูเบศรโมเดล ทำความเข้าใจเรื่องกัญชาในส่วนที่ปลดล็อก ดินปลูกกัญชา เทคนิคการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย สปากัญชา ผลิตภัณฑ์กัญชาต้นแบบหลายรายการ พร้อมชิมและแจกสูตรอาหาร เครื่องดื่ม ขนม จากกัญชา

ยกห้องแล็บ คุยกูรู ส่งต่อความรู้จาก‘วิสาหกิจชุมชน’

นอกจากนี้ ยังมีส่วนงานสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนส่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมกัญชากัญชงมาร่วมโชว์มากมาย อาทิ อิฐบล็อก แผ่นไม้จากกัญชง ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี การรักษาออฟฟิศซินโดรม sport medicine โดยน้ำมันกัญชา อาหารและเครื่องดื่มกัญชา จากมหาวิทยาลัยรังสิต นวัตกรรมการสกัดกัญชา โดยบริษัท พาราไซแอนติฟิค จำกัด ที่ยกห้องแล็บพร้อมผู้เชี่ยวชาญมาสาธิตขั้นตอนต่างๆ ให้ชม รวมถึงเรื่องของ เส้นใยกัญชง
ที่บริษัท ก้องเกียรติ เท็กซ์ไทล์ จำกัด พัฒนาเป็นเป็นผืนผ้าในแบบที่ไม่ซ้ำใคร ไปจนถึงการเจาะข้อมูลให้รู้ลึกเรื่องชากัญชงกับบริษัท ยาสึดะ จำกัด ในบรรยากาศของร้านชา

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องราวความสำเร็จของหลากหลายวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชากัญชง โดยแต่ละแห่งต่างจัดเต็ม นำผลิตภัณฑ์มาเปิดตัวครั้งแรกภายในงาน เป็นการแลกเปลี่ยนและส่งต่อความรู้ด้านการปลูก การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง อาทิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จ.แม่ฮ่องสอน นำเสนอเครื่องสกัด CO2 โมเดลโรงปลูก และความรู้ที่พร้อมส่งต่อด้านกัญชากัญชงครบวงจร, วิสาหกิจชุมชนผลิตสมุนไพรเพื่อการแพทย์ อำเภอคูเมือง จ.บุรีรัมย์ โชว์วิธีการปลูกกัญชา พร้อมผลิตภัณฑ์สมุนไพร, วิสาหกิจชุมชนเกษตรนอกกรอบเพื่อรอยยิ้มที่ยั่งยืน นำเสนอเทคโนโลยีการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ วิสาหกิจโนนมาลัย แนะนำการปลูกกัญชา 6 ต้นในบ้าน และการสร้างมูลค่าจากการทำน้ำอ้อยผสมกัญชา และน้ำพริกจิ้งหรีดทอดผสมกัญชา, วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอินทรีย์เพื่อสุขภาพละหานทราย นำผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลายชนิดมาโชว์, วิสาหกิจชุมชน เพ ลา เพลิน นำเสนอผลิตภัณฑ์จากกัญชากัญชง อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ขนม และภาชนะใส่อาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม ทำจากเยื่อกัญชง ก็มาเปิดตัวครั้งแรกในงาน รวมถึงแนะนำวิธีการปลูก จากประสบการณ์และความสำเร็จในฐานะวิสาหกิจชุมชนรายแรกๆ ของประเทศอีกด้วย

ดีที่สุด มากที่สุด วิทยากรระดับชาติร่วมเวทีสัมมนา

ทุกมิติ‘กัญชา-กัญชง’

แค่ไฮไลต์แรกก็เข้มข้นเกินบรรยาย เช่นเดียวกับไฮไลต์ที่ 2 นั่นคือเวทีสัมมนาวิชาการระดับประเทศ ภายใต้หัวข้อด้านกัญชากัญชงที่ดีที่สุด พร้อมด้วยวิทยากรต้นเรื่องผู้สร้างผลงานระดับประเทศมารวมอยู่ในงานมากที่สุดใน 2 ห้องสัมมนาต่อเนื่องตลอด 3 วัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. อาทิ “บ้านละ 6 ต้น ฝันที่เป็นจริง” โดย นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ – “จากใต้ดินสู่บนดิน” โดย อาจารย์เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ “การกำกับดูแลและการนำกัญชาและกัญชงไปใช้ประโยชน์ ภายใต้กฎหมายใหม่” โดย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.พรสุรีย์ ศรีสว่าง เภสัชกรชำนาญการพิเศษ ภก.สัญชัย จันทร์โต เภสัชกรชำนาญการ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กัญชาครบวงจรกับอภัยภูเบศร โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดห้องให้คำปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำ และปรึกษาเกี่ยวกับการยื่นคำขอรับอนุญาตเกี่ยวกับกัญชากัญชงภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนและแบบฟอร์มในการยื่น ข้อปฏิบัติที่ควรทราบ และข้อแนะนำต่างๆ เจ้าหน้าที่จากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย

คลินิกกัญชา เวิร์กช็อปสร้างอาชีพ ชม ชิม ช้อป ฟินทุกแง่มุม

มาถึงอีก 3 ไฮไลต์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ คลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ที่เปิดให้บริการตรวจรักษาฟรี โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรม มีบริการทั้งแพทย์แผนไทยและแผน
ปัจจจุบัน รักษาด้วยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ พร้อมให้คำปรึกษา และให้ยาในรายที่มีข้อบ่งชี้

 

 

 

 

 

 

ตามมาด้วยการเรียนจริง ปฏิบัติจริงกับคอร์ส เวิร์กช็อปกัญชากัญชง โดยสถาบันกัญชาทางการแพทย์ และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่มีโปรแกรมน่าสนใจให้เลือกเรียนฟรีหลายหลักสูตร ได้แก่ การทำสบู่กัญชาและพิมเสนกัญชา กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, ข้าวเกรียบกัญชง โดยเพ ลา เพลิน, “ไทยลั้นลา เครื่องดื่ม ผสมกัญชา” “Craft Soda” “ข้าวยำกัญ” “ขนมถ้วยฟูกัญชา” “ช็อกบอลกัญชา” “ซีอิ๋วหมักใบกัญชา” “บาล์มกัญชา”กับอภัยภูเบศร, “รสดีเด็ด” ก๋วยเตี๋ยวเรือรสเด็ดในตำนาน โดย คุณสิทธิฉันท์ วุฒิพรกุล หรือเฮียนพ

ส่วนไฮไลต์สุดท้าย พลาดไม่ได้กับการ ชม ชิม ช้อป สินค้ากัญชากัญชงนานาชนิด ทั้งเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์จากกัญชงจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรห้วยทราย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม : ISMED บริษัท เฮมพ์ไทย จำกัด ไฟปลูกต้นไม้ ELITE TRADING 2020 ผลิตภัณฑ์ ตำรับยาที่สกัดจากกัญชา วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผลิตภัณฑ์ขนมผสมกัญชา เครื่องสำอาง เป็นต้น

ไม่ใช่แค่อีเวนต์พลาดไม่ได้ หากแต่เป็นมหกรรมยิ่งใหญ่ที่ต้องถูกบันทึกไว้ซึ่งการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจไทยจากโฉมหน้าใหม่ของพืชที่เคยขึ้นชื่อว่ายาเสพติด

 

The post จากเมล็ดพันธุ์ถึงผลิตภัณฑ์ ทุกมิติในงานเดียว ‘กัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน’ appeared first on มติชนออนไลน์.

เปิดสูตรจานเด็ดต้นตำรับ 4 เชฟร้านดังในตำนาน ครั้งแรกบนออนไลน์

$
0
0

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จู่ๆ ร้านตำนานที่ไหนจะยอมเปิดเผยสูตรลับที่สืบทอดเฉพาะคนในครอบครัวให้คนนอกรู้ บางคนเรียกว่ายอมให้ตายไปกับตัวยังดีกว่าให้สูตรลับรั่วไหล

แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่ซ้ำเติมผู้คนอยู่ในเวลานี้ ทำให้ 4 ร้านดังในกรุงเทพฯตัดสินใจเปิดเผยสูตรเด็ดบนออนไลน์เป็นครั้งแรกกับ “มติชน อคาเดมี” ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน ด้วยหวังว่าวิชาที่ถ่ายทอดให้นั้นจะมีประโยชน์ต่อคนที่กำลังสู้ชีวิตไม่มากก็น้อย

สำหรับอาหารจานเด็ดที่ทั้ง 4 ร้านคัดเลือกมา รับรองต้องว้าว เพราะแต่ละจานล้วนเป็นเมนูซิกเนเจอร์ทั้งสิ้น สูตรที่นำมาสอนก็เป็นสูตรเดียวกับที่ร้านเป๊ะๆ นี่จึงเป็นโอกาสดีสำหรับคนรักอาหารจีน หรือผู้ประกอบการที่กำลังหาเมนูเสริมร้านตัวเอง หรือจะนำไปขายเดี่ยวๆ เป็นสตรีทฟู้ดก็น่าสนใจไม่น้อย

สำหรับ 4 ร้านดังที่พร้อมเปิดสูตรในครั้งนี้เริ่มจาก “จก โต๊ะเดียว” มาพร้อมกับ “ข้าวผัดโบราณ” เมนูที่เพื่อนพ้องทุกวงการต่างยกนิ้วโป้งส่งเสียงพร้อมเพรียงกันว่าเยี่ยมจริงๆ

“เฮียหน่อย” จาก “ตั้งจั๊วหลี” มากับสูตร “หัวปลาหม้อไฟ” เมนูฮิตติดท็อปไฟว์ตลอดกาลของที่ร้าน รสชาติกลมกล่อมกับวัตถุดิบสดๆ คือ หัวใจของเมนูนี้

“เฮียทอมมี่” จาก “สมบูรณ์ลาภ หรือ ส.บ.ล.” มาสอนเมนูดั้งเดิมของร้าน “ผัดหมี่แต้จิ๋ว” สูตรโบราณไม่เปลี่ยนแปลง ความอร่อยคงทนถาวร คนรักเส้นได้ชิมแล้วจะเลิฟ

สุดท้าย “คุณชัยวุฒิ” จาก “ลิ้มกวงเม้ง” มาพร้อมกับซิกเนเจอร์ที่โดดเด่น “บะหมี่ขาห่าน” ที่ผ่านกรรมวิธีสุดแสนจะพิถีพิถันทั้งต้ม ทอด ตุ๋น จนเนื้อหนังทั้งนิ่มและล่อน ความฟินสุดคือจานนี้

สำหรับเมนู “ข้าวผัดโบราณ” ของคุณ “สมชาย ตั้งสินพูลชัย” หรือเฮียจก โต๊ะเดียวนั้น ต้องพูดตรงๆ ว่า มีที่มาจากวงเหล้า ระหว่างที่กินดื่มกันอยู่นั้น เพื่อนคนหนึ่งแนะให้ลองทำข้าวผัดสูตรอากงของเขาเพื่อแก้แฮ้ง
ซึ่งตัวอากงที่ว่านี้เคยเป็นกุ๊กอยู่ที่ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา ภัตตาคารชื่อดังเก่าแก่ในอดีต

สูตรนี้เมื่อเฮียจกได้ฟังปุ๊บ ก็ลุกขึ้นไปตั้งกระทะทำออกมาให้พรรคพวกได้ชิมกันทันที ปรากฏว่าอร่อยเกินคาดรสชาติไม่ธรรมดา จนน้ำมาใส่ไว้ในเมนูของร้านในภายหลังด้วย

“เมนูนี้ที่ดีเพราะมีกุนเชียงตับเป็ด กุนเชียงหมูแดง หมูรมควัน หมูแดง และพริกขี้หนู แครอต ต้นหอม อะไรแบบนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดการทำเป็นขั้นเป็นตอน ต้องเรียงลำดับ รสชาติจะออกมาเป็นชั้นๆ”

เฮียจกบอกว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มาสอนคอร์สออนไลน์ ตอบตกลงผู้บริหารมติชน เพราะยุคนี้โควิดเห็นใจมาก หลายคนชีวิตลำบากจากกิจการที่ค้าขายได้ก็ขายไม่ได้ จึงอยากให้เพื่อนฝูงพี่น้องลองมาฝึกจากสูตรตนดู ถ้าชำนาญก็ปรับเป็นสูตรตัวเองได้

“ที่อยากให้คนนำไปปรับเป็นสูตรตัวเอง เพราะมองว่าทำอะไรถ้าเอาใจตัวเองก็จะชนะคนเดียว ดังนั้น สำคัญที่สุดคือคุณอยู่ที่ไหนให้ทำรสชาติของพื้นที่นั้น แล้วคุณจะชนะทุกอย่าง เช่น ถ้าผมมีเพื่อนภาคใต้จะใส่พริกเยอะหน่อย ถ้าเพื่อนภาคเหนือจะออกหวานหน่อย ทางอีสานจะนำเค็มหน่อย สิ่งสำคัญที่สุดต้องดูว่าวัฒนธรรมพื้นที่ของคุณชอบอะไร ต้องทำให้เขาถูกใจ”

ต่อมา เมนู “หัวปลาหม้อไฟ” จาก “ตั้งจั๊วหลี” ร้านเก่าแก่ 70 ปี โดย “เฮียหน่อย-ประสพ ทีปะนาถ” ผู้บริหารร้านเจน 3 เปิดเผยว่า เมนูเด็ดของที่ร้านเป็นอาหารจีนสไตล์แต้จิ๋วทางซัวเถา เช่น หัวปลาหม้อไฟ ออส่วน ฮือแซ หรือปลาดิบ หอยจ๊อ ปลิงผัดกะเพรา กระเพาะปลาน้ำแดง เป็ดสลัด เปาะเปี๊ยะ กะลอจี๊ โดยสูตรต่างๆ ทั้งหมดมีคุณปู่เป็นคนคิดค้นขึ้นมา

ส่วนเมนูที่นำมาสอนที่ “มติชน อคาเดมี” ครั้งนี้คือ หัวปลาหม้อไฟต้มเผือก ถือเป็นซิกเนเจอร์ของที่ร้าน ทีเด็ดของจานนี้คือ น้ำซุป และวัตถุดิบต้องสดและสะอาด จะใช้ปลา 2 แบบคือ ปลาจีน และกะพง แบบดั้งเดิมเลยใช้ปลาจีน แต่ตอนหลังเอาปลากะพงมาใช้ด้วย เพราะบางคนกินปลาจีนไม่เป็น ชอบปลาทะเลมากกว่า ซึ่งทั้ง 2 ปลา มีความโดดเด่นทั้งคู่ แต่ปลาจีนจะเป็นสูตรโบราณของที่ร้าน

“ผมอยากเชิญชวนให้ผู้ที่อยากประกอบอาชีพ หรือทำรับประทานที่บ้าน ได้มาศึกษาและทดลองทำ ทั้งทานเอง หรือประกอบวิชาชีพในอนาคต รสชาติเด็ดครับรับรอง”

สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าสูตรเด็ดเหล่านี้เปิดเผยเคล็ดลับจริงไหม
“โกนี-ปราณี ทีปะนาถ” ผู้เป็นน้าของคุณหน่อย ได้ยืนยันว่า มาครั้งนี้เปิดเผยสูตรจริง เพราะจำคำสอนของพ่อว่า หากคิดจะถ่ายทอดเราต้องเอาของจริงมาบอก พ่อสอนว่าทำอะไรให้พูดตรง ทำอะไรให้ตรงๆ คำว่าช่วยก็ต้องทำแบบตรง อย่าไปเบี้ยวไปเบี้ยวมา ไม่มีประโยชน์

เฮียหน่อย-ประสพ ทีปะนาถ

ต่อมา “บะหมี่แต้จิ๋ว” จาก สมบูรณ์ลาภ (ส.บ.ล.) ภัตตาคารดังย่านวังบูรพา โดยมีรุ่น 2 คุณทอมมี่-วรัตถ์ ปิยะนุวัฒน์ชัย ได้นำสูตรผัดหมี่แต้จิ๋ว หรือผัดหมี่โบราณ มาเปิดเผย พร้อมวิธีทำจากกุ๊กมือฉมังของร้าน

“คนจีนเวลาเขากินงานวันเกิด เขาจะทำหมี่ เพราะเขาถือว่าให้มีความสุข ชีวิตยืนยาวเหมือนกับเส้นบะหมี่”

การสอนออนไลน์ของคอร์สนี้ เป็นการสอนผัดหมี่ 3 แบบ 3 รสชาติ ได้แก่ หมี่เตี๊ยว หมี่ฮ่องกง และหมี่สด โดยหมี่แต่ละตัวมันมีความพิเศษของมัน

“ทั้งสามจานนี้ เวลากินรสชาติจะไม่เหมือนกัน ทั้งที่ใส่เครื่องปรุงเหมือนกันหมดนะ แต่รสชาติมันจะหอมคนละอย่าง”

คุณทอมมี่บอกว่า รู้ดีว่าสภาพตอนนี้ทุกคนลำบากหมดจากสถานการณ์โควิด เพราะฉะนั้นของพวกนี้เอาไปทำขายได้ แล้วตรงไหนไม่เข้าใจก็ยังกลับมาถามได้ โดยติดต่อทางทีมงานมติชนได้

เหตุที่คุณทอมมี่ นำผัดหมี่มาสอน เพราะมองว่าลงทุนน้อย กำไรเยอะ ขอเพียงเลือกทำเลที่ดี ดังนั้น อย่าเพิ่งหมดหวัง โควิดมาเดี๋ยวก็ไป ตัวเราเองอยู่ก็ต้องดิ้นสู้ต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน

คุณทอมมี่-วรัตถ์ ปิยะนุวัฒน์ชัย

มาถึงเมนูสุดท้าย “บะหมี่ขาห่าน” จาก “ลิ้มกวงเม้ง” โดย คุณชัยวุฒิ สิมธาราแก้ว ผู้บริหารรุ่นที่ 3 “ลิ้มกวงเม้ง” ตำนาน 70 ปีแล้ว

คุณชัยวุฒิบอกว่า ลิ้มกวงเม้งเป็นสาขาที่เปิดเพิ่มจากเยาวราชร้านนิวกวงเม้ง เป็นพี่น้องกัน เรามาทำที่สามย่านได้ 22 ปีแล้ว สูตรอาหารเกินครึ่งยังเป็นสูตรดั้งเดิมตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว

บะหมี่ขาห่าน ‘ลิ้มกวงเม้ง’

“ขาห่านก็เหมือนตัวสร้างชื่อ ลูกค้านิยม ความพิเศษ คือเราคัดขาห่านไซซ์ใหญ่ที่ยุโรปส่งมาที่จีน และฮ่องกง เราไปซื้อมาอีกที กระบวนการขั้นตอนการทำเยอะมาก เช่น การทอดก่อน ต้มอยู่ในน้ำพะโล้กว่า 3 ชั่วโมง จนนิ่ม แล้วค่อยเก็บเข้าตู้เย็น มีส่วนช่วยให้เนื้อหนังมันล่อนจากกระดูกมากขึ้น พอตอนเราอบอาจใช้เครื่องปรุง ข่า กระเทียม น้ำมันงา น้ำพะโล้เพื่อชูความหอมเข้มข้น ทำเสร็จเราทาน ล่อนในปาก ละลายในปาก ดูดนิดเดียวเนื้อหนังก็ล่อนจากกระดูกได้เลย” คุณชัยวุฒิกล่าวรวบรัด

คุณชัยวุฒิ สิมธาราแก้ว

สำหรับผู้ที่สนใจจะเรียนคอร์สดังในตำนานทั้ง 4 จานนี้ กำลังจะเปิดเรียนออนไลน์เร็วๆ นี้ สามารถติดต่อได้ที่มติชน อคาเดมี โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 มือถือ 08-2993-9097, 08-2993-9105

4 ร้านดัง

‘จก โต๊ะเดียว’

ชื่อร้าน “จก โต๊ะเดียว” นั้นมาจากชื่อเล่นจิ้งจก คุณ “สมชาย ตั้งสินพูลชัย” ด้วยฝีมือทำอาหารฉกาจฉกรรจ์ จากการทำกินเฉพาะพรรคพวกเพื่อนฝูงหลายวงการที่มาเป็นแขกหมุนเวียนกันมา ก็กลายเป็นเปิดร้าน โดยคอลัมนิสต์

ชื่อดัง “พี่ชาลี” จากพลอยแกมเพชรเป็นผู้ตั้งชื่อให้

“ที่ทำโต๊ะเดียวไม่ใช่อะไรนะครับ ผมทำสนุกของผม แต่ทำด้วยความจริงใจ รสชาติมันจึงแกร่ง”

ภายหลังจากชื่อเสียงขจรขจาย จากโต๊ะเดียวก็ค่อยๆ ขยายเป็น 2 โต๊ะ 3 โต๊ะ 4 โต๊ะ 5 โต๊ะ ตามลำดับอย่างทุกวันนี้ เคยมีช่วงพีคในระดับที่คนจองโต๊ะกันข้ามเดือนข้ามปีเลยทีเดียว

‘ตั้งจั๊วหลี’

เป็นร้านเก่าแก่ 70 ปี ตั้งแต่สมัย “คุณปู่จั๊ว แซ่ตั้ง” จนถึงปัจจุบันนี้ ผู้บริหารเป็นเจน 3 แล้ว เมนูเด็ดของที่ร้านเป็นอาหารจีนสไตล์แต้จิ๋ว ผ่านมา 3 รุ่น รสชาติเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน เน้นที่สุดคือ คัดวัตถุดิบ เล่ากันว่าคุณปู่จั๊วนั้นเป็นคนทำอะไรตรงไปตรงมา เคยมีว่าได้วัตถุดิบไม่ดีมา วันนั้นจะไม่ขายเลย

และวันนี้รุ่น 3 ก็ดำเนินรอยตามรุ่นแรกไม่ผิดเพี้ยน

‘สมบูรณ์ลาภ (ส.บ.ล.)’

เป็นร้านเก่าแก่ 70 ปีเช่นกัน เริ่มจากกิจการขายสุกี้ และข้าวมันไก่ พอตอนหลังเปลี่ยนเป็นภัตตาคารก็มีอาหารหลากหลายขึ้น ส.บ.ล.นั้นถือว่าโด่งดังมากตั้งแต่ยุคกินโต๊ะแชร์รุ่งเรือง อาหารแต่ละอย่างรสชาติจัดจ้านปรับปรุงให้ถูกปากคนไทย ไม่ทำจืดแบบอาหารจีนฮ่องกง อย่างซอส XO ที่ร้านทำเอง รสชาติจัดจ้านเพราะมีพริกคั่ว

มีเมนูที่เคยโด่งดังมากคือ “ปลาหิมะต้มเกี้ยวบ๊วย” และอีกสารพัดเมนูที่คิดพัฒนาต่อ

ยอดจากของเก่า ทำให้ ส.บ.ล. ยังยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง

‘ลิ้มกวงเม้ง’

ร้านเก่าแก่ 70 ปีอีกเช่นกัน ตั้งแต่ยุคสมัยอากง อาม่า หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเมืองไทย ตั้งต้นจากร้านกาแฟ แล้วเปลี่ยนเป็นภัตตาคาร ดั้งเดิมตั้งอยู่เยาวราชชื่อร้านนิวกวงเม้ง ขณะที่ “ลิ้มกวงเม้ง” เป็นสาขาที่เปิดเพิ่มจากเยาวราช เป็นรุ่นที่ 3 เปิดมาได้ 22 ปีแล้ว

จุดเด่นคือ รสชาติอาหารดั้งเดิมมาตลอด สูตรอาการเกินครึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมแบบเดียวกับ 70 ปีที่แล้ว มีเมนูสร้างชื่อคือ หูฉลามน้ำใส หมูหัน ขาห่าน ปลาดิบ ฮือแซ

The post เปิดสูตรจานเด็ดต้นตำรับ 4 เชฟร้านดังในตำนาน ครั้งแรกบนออนไลน์ appeared first on มติชนออนไลน์.

‘ศูนย์ค้ำคูณ’ สวนผักแห่งความหวัง ในวันที่ผู้พิการยังเผชิญความเหลื่อมล้ำ

$
0
0

จากข้อมูลสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ประจำปี 2564 ของกองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ รายงานว่าสถานประกอบการทั่วประเทศยังมีสัดส่วนของผู้พิการที่จะต้องจัดจ้างเป็นแรงงานในระบบอีกกว่า 79,458 คน คิดเป็น 99.59% นั่นเท่ากับว่ายังมีผู้พิการทั่วประเทศจำนวนมากที่ยังไม่ถูกจ้างงาน แม้ว่าสถานะผู้พิการกับโอกาสทางสังคมเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอ และมีการสนับสนุนสิทธิของคนพิการในหลายด้าน แต่ในด้านของตลาดแรงงาน ยังพบความเหลื่อมล้ำอย่างมาก แน่นอนว่า ความสมบูรณ์ของร่างกาย คืออุปสรรคใหญ่ของผู้พิการซึ่งทำให้ “โอกาสของอาชีพ” ลดน้อยลง

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีฯตระหนักว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนนั้น นอกเหนือจากการหายเจ็บป่วยแล้ว การดำรงชีพในชีวิตประจำวันนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จึงให้การช่วยเหลือให้ผู้พิการได้มีอาชีพ โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล ผ่านการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลชุมชน โดยมีการก่อตั้ง “ศูนย์ค้ำคูณ” แปลงผักอินทรีย์ปลอดสารพิษนานาชนิดที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวันในพื้นที่ชายป่าอันอุดมสมบูรณ์ ขนาด 64 ไร่ รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น หนึ่งใน 23 โรงพยาบาลชุมชน ที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ให้การช่วยเหลือทุนทรัพย์ในโครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน

ต้นแบบใช้ชีวิตสมดุลธรรมชาติ

โรงเรียนเกษตรผสาน สร้างงานผู้ด้อยโอกาส

นายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร

นายแพทย์อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์และผู้ก่อตั้งศูนย์ค้ำคูณ ร่วมกับ แพทย์หญิงทานทิพย์ ธำรงวรางกูร ภรรยาคู่ชีวิต ย้อนเล่าว่า สมัยที่เรียนจบจากรั้วรามาธิบดี ได้สอบบรรจุมาอยู่ที่ รพ.อุบลรัตน์แห่งนี้พร้อมกับภรรยาซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ เริ่มเห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่มารักษาเป็นโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ก็เริ่มคิดว่าตัวเองจะทำอย่างไรได้บ้างนอกจากการรักษาตามตำราแพทย์

“ความเจ็บป่วยที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ โดยเริ่มต้นที่การเลือกทานอาหารที่ดี อยู่ในที่ที่ดี และทำจิตใจให้ดี พอมีความเครียดน้อยลงโอกาสที่จะเกิดโรคก็น้อยลงไปด้วย เลยช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้คนสุขภาพดีขึ้นเพื่อลดการเข้าโรงพยาบาลแลให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เลยเกิดเป็นแนวคิดของการสร้างศูนย์ค้ำคูณขึ้นมา เพื่อให้เป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล กินผักให้เป็นยา ให้ผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลได้ทานผักปลอดสารพิษจริงๆ ให้เป็นโรงเรียนสอนการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนได้ และยังเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ด้อยโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ศูนย์ค้ำคูณแห่งนี้ประกอบไปด้วยเกษตรกรมืออาชีพกว่า 50 คน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนพิการภายใต้ “โครงการจ้างงานคนพิการปลูกผักปลอดสารพิษ” ของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ผักทุกต้นที่เกิดจากความเอาใจใส่ของเหล่าเกษตรกรนักสู้และส่งตรงให้กับโรงครัวของโรงพยาบาลอุบลรัตน์เพื่อให้พ่อครัวแม่ครัวปรุงเป็นอาหารสดใหม่เสิร์ฟให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยได้รับประทานอย่างสุขใจเพราะล้วนเป็นผักปลอดสารพิษทั้งสิ้น สวนแห่งนี้จึงเป็นมากกว่าแปลงผักอินทรีย์แต่ยังเป็นพื้นที่สร้างโอกาสและรายได้ที่มั่นคงให้แก่ผู้พิการสมกับชื่อ ศูนย์ค้ำคูณ ซึ่งหมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และการพึ่งพาตัวเอง

จากคนปกติสู่ผู้พิการ

ชีวิตหลังมรสุมสู่ความหมายที่ยั่งยืน

นัฐพล โภชภัณฑ์

จากมุมมองของนายแพทย์ มาคุยกับผู้พิการตัวจริง อย่าง ตี้-นัฐพลโภชภัณฑ์ ชายหนุ่มวัย 24 ที่เกิดมามีร่างกายสมบูรณ์และเคยใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผันในช่วงที่เขากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ด้วยอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนส่งผลให้สมองได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงและร่างกายครึ่งขวากลายเป็นอัมพาต กลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเกือบสิบปีแต่ยังจดจำเรื่องราวต่างๆได้ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้

“รู้สึกเหมือนตัวเองตายไปแล้วตอนที่ฟื้นขึ้นมา ช่วงแรกจำอะไรไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หมอเล่าให้ฟังว่าผมสลบไปหลายวันและอาการก็อยู่ในขั้นโคม่า พอฟื้นขึ้นมาได้คนรอบข้างก็พูดว่าปาฏิหาริย์มาก แต่เชื่อไหมว่าความรู้สึกแรกตอนที่ผมรู้ว่าร่างกายจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปผมกลับอยากตายไปจริงๆ มากกว่า”

เมื่อออกจากโรงพยาบาลตี้ต้องทำกายภาพบำบัด ฝึกเดิน ฝึกพูด ฝึกการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่เขายังไม่คุ้นเคย จนเวลาผ่านไปตี้จึงค่อยๆ ทำใจยอมรับสถานะใหม่ที่เขาไม่เคยต้องการมาก่อน ด้วยร่างกายที่ไม่เหมือนเดิมทำให้ตี้ไม่ได้เรียนต่อ แต่ครั้นจะอยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่อยากรู้สึกเป็นภาระให้กับครอบครัว ตี้จึงเริ่มมองหาอาชีพที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการอย่างเขาสามารถทำงานได้เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง

“ผมพยายามหางานทำอยู่เรื่อยๆ นะ เพราะไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ พอว่างแล้วมันจะคิดมาก ใครใช้ให้ทำอะไรก็ไปทำหมดที่ทำให้เรามีรายได้มาช่วยที่บ้านบ้าง แต่งานสำหรับคนพิการเป็นสิ่งที่หายากมาก เพราะร่างกายเราไม่ได้สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เชื่อไหมว่าผมเคยคิดสั้นด้วยนะ เพราะน้อยใจโชคชะตาตัวเอง แต่ไม่รู้ว่ายังไม่ถึงเวลาตายรึเปล่าเพราะเชือกที่ผูกเอาไว้ดันหลุดออกเลยทำให้ผมยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ แต่ผมจะไม่กลับไปคิดสั้นอีกแล้วเพราะตอนนี้ผมรู้แล้วว่าแค่ร่างกายเราไม่เหมือนเดิมไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีคุณค่า ทุกวันนี้ผมยังใช้ความสามารถของผมหาเงินได้อยู่และยังเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกด้วย” ตี้เปิดใจ

ปัจจุบันตี้ทำหน้าที่ดูแลแปลงผักภายในสวนค้ำคูณมาแล้วเกือบ 2 ปี ทุกวันต้องตื่นเช้าและเดินทางออกจากบ้านมากว่า 20 กิโลเมตร โดยมีน้องชายช่วยขี่รถจักรยานยนต์มาส่งที่สวนแห่งนี้ ภายในสวนจะมีการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบกันอย่างเป็นระเบียบ ทุกวันตี้จะทำหน้าที่ดูแลตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ดพันธุ์ รดน้ำใส่ปุ๋ยและเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยแต่ละเดือนตี้จะมีรายได้ประจำที่ทางโรงพยาบาลจ่ายให้เป็นค่าแรงในการดูแลสวนผักเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท นอกจากนี้ ผลผลิตที่ปลูกภายในสวนเขายังสามารถนำกลับไปประกอบอาหารในครอบครัวได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นอาชีพที่มั่นคง

จากวิถีการดำเนินชีวิตแบบปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบผลสำเร็จที่ถ่ายทอดเป็นความรู้แก่คนในชุมชน เกิดเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น

แนวคิดนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ “โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน” ที่สนับสนุนให้โรงพยาบาลเป็นมากกว่าการรักษาผู้ป่วยแต่ยังร่วมกระจายความช่วยเหลือให้คนในชุมชนมีสุขภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตัวอย่างได้อย่างยั่งยืน

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

The post ‘ศูนย์ค้ำคูณ’ สวนผักแห่งความหวัง ในวันที่ผู้พิการยังเผชิญความเหลื่อมล้ำ appeared first on มติชนออนไลน์.

เถียงกันไม่รู้จบ‘ผงชูรส’กับข้อมูลอีกด้าน พลิกความเชื่อยอดนิยมตลอดกาล?

$
0
0

ถือเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบตั้งแต่ในครัว จนถึงห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเรื่องราวของ “ผงชูรส” ที่มีภาพจำว่า แม้ช่วยให้อาหารอร่อยชวนลิ้มรส ทว่า ไม่ดีงามต่อสุขภาพ
ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการหลายราย มาร่วมไขข้อสงสัย ที่เคยมีต่อผงชูรส ผ่านวิดีโอซีรีส์ ศาสตร์และศิลป์แห่งอูมามิ ที่มีชื่อว่า Art & Science of Umami โดยการบอกเล่าข้อเท็จจริงและคุณประโยชน์ของรสชาติพื้นฐานที่ห้าอย่างรสอูมามิผ่านคำแนะนำจากบุคคลต่างๆ อาทิ นายแพทย์ดิษกุลประสิทธิ์เรืองสุข หรือหมอตั้ม มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย มิกกี้ นนท์-อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกาย และภัทร-ภัทรียา สิงห์จันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย โดยวิดีโอซีรีส์ ศาสตร์และศิลป์แห่งอูมามิทั้ง 4 ตอน สามารถรับชมได้ผ่านเฟซบุ๊กเพจ Let’s Umami

นายแพทย์ดิษกุล กล่าวว่า ในฐานะแพทย์หน้าที่คือการช่วยขจัดความกลัว และให้ข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมาอันมีหลักวิทยาศาสตร์และงานวิจัยมารองรับ

“สำหรับผมนอกจากอาชีพหลักคือการเป็นหมอแล้ว ผมยังชื่นชอบในการทำอาหารเป็นอย่างมาก โดยได้ทำการศึกษาค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญนี้ จะช่วยให้ความรู้ความเช้าใจที่ถูกต้องและเปลี่ยนมุมมองให้ทุกคนได้คิดใหม่ว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้น ไม่จำเป็นต้องไร้รสชาติเสมอไป การใช้คุณประโยชน์ของรสอูมามิที่ได้จากกลูตาเมตมาปรุงอาหารเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับรสชาติอาหารของเรา”

วิดีโอซีรีส์ ศาสตร์และศิลป์แห่งอูมามิ Art & Science of Umami ตีแผ่เรื่องราวของกลูตาเมต ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่มีส่วนช่วยในเรื่องรสชาติอร่อยกลมกล่อมหรือรสอูมามิ โดยกลูตาเมตนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและพบได้ในวัตถุดิบหลากหลายชนิดที่รับประทานกันอยู่ทุกวัน รวมถึงอาหารที่ผ่านการบ่มหรือหมัก เช่น ชีส ซอสถั่วเหลือง กะปิ น้ำปลา รวมถึงมะเขือเทศ และเห็ด ตรงกันข้ามกับความเชื่อยอดนิยม ผงชูรสมีโซเดียมน้อยกว่าเกลือแกงถึง 2 ใน 3 โดยสามารถลดโซเดียมในอาหารได้ถึง 40% โดยไม่เสียรสชาติ นอกจากนี้ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากจากองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกได้ข้อพิสูจน์แล้วว่าการบริโภคผงชูรสปลอดภัยสำหรับการบริโภค

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ประวัติศาสตร์ผงชูรส เริ่มต้นเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว ศาสตราจารย์ ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ นักเคมีชาวญี่ปุ่น ค้นพบสิ่งที่เรียกในปัจจุบันว่าผงชูรสให้นิยาม “รสชาติพื้นฐานที่ 5” เพิ่มเติมจากรสเปรี้ยว รสหวาน รสเค็ม และรสขม ซึ่งนำไปสู่การผลิตกลูตาเมตในรูปแบบของอุตสาหกรรม ก่อเกิดเป็นบริษัทผลิตเครื่องปรุงรสแห่งแรกของโลก ในประเทศญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ” เมื่อปี พ.ศ.2452 เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ความอร่อยและส่งเสริม “การกินดี มีสุข”

ทั้งนี้ นอกจากในประเทศไทยแล้ว แคมเปญศาสตร์และศิลป์แห่งอูมามิ จะจัดขึ้นในอีกสี่ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อีกด้วย

The post เถียงกันไม่รู้จบ‘ผงชูรส’กับข้อมูลอีกด้าน พลิกความเชื่อยอดนิยมตลอดกาล? appeared first on มติชนออนไลน์.

การเมืองเบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ

$
0
0

ถ้าบอกว่าสมัยหนึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ผู้อ่านหลายท่านคงนึกได้ทันทีว่าเป็นช่วงรัชกาลที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่นอกจากจะมี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติแล้ว ยังมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ได้ทรงเป็นแค่ “วังหน้า” หากมีการสถาปนาเป็น “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ที่น่าสนใจ และติดตามต่อไปคือ ทำไม “เวลานั้น” ประเทศต้องมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์?, ทำไมขุนนางราชสำนักจึงเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎ ที่ทรงผนวชอยู่มาครองราชย์?, ทำไมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตัดสินพระราชหฤทัยสถาปนากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระปิ่นเกล้าฯ? ทำไม…?

ส่วนคำตอบในประเด็นข้างต้นนั้น กำพล จำปาพันธ์ รวบรวมข้อมูลต่างๆ และเขียนอธิบายไว้ในบทความของเขาที่ชื่อว่า “การเมืองเบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม 2564

เริ่มจากสถานการณ์บ้านเมือง ช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีกลุ่มขั้วอำนาจสำคัญอยู่ 4 กลุ่ม คือ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

1.เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก ที่รัชกาลที่ 3 ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่งตรัสเรียก “พี่บดินทร์” ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพใหญ่ในสงครามไทย-เวียดนาม ที่เรียกว่า “อานามสยามยุทธ์” จึงมีที่มั่นอยู่ในหัวเมืองตะวันออก

2.เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) ไปตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี สร้างเมืองจันทบุรีใหม่ขึ้นที่เขาเนินวง

3.หลวงรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) ไปตั้งมั่นอยู่ที่ฉะเชิงเทรา ย้ายเมืองฉะเชิงเทราจากย่านบางคล้ามาสร้างป้อมปราการอยู่ที่บ้านเสาทอน (โสธร)

4.กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็มีสายสัมพันธ์กับลาวพนัสนิคม

ดูรวมก็เป็นการคานอำนาจทางการเมืองของเจ้านายกับขุนนางที่ดี แต่วันหนึ่งที่เกิดเสียสมดุลขึ้นมา

เมื่อกรมหลวงรักษรณเรศ ที่ไปตั้งมั่นอยู่ที่ฉะเชิงเทราขยายอิทธิพลมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกำลังไพร่, การกุมชัยภูมิทางการเมืองได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่สำคัญคือ แสดงตัวเป็นกลุ่มที่จะสถาปนารัชกาลใหม่ และเมื่อถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม กรมหลวงรักษรณเรศจึงต้องถูกกำจัด ในปี 2375

ต่อมาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ก็ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันด้วยอหิวาตกโรคในปี 2392 และไม่มีทายาทที่เข้มแข็งพอจะมาสืบทอดอำนาจได้

ปี 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรใกล้จะสวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ที่มีท่าทีสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ กังวลว่ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ชิงราชสมบัติ จึงให้บุตรชาย-พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เดินทางลงไปยังป้อมปากน้ำสมุทรปราการ นำเรือกำปั่นรบขนบรรทุกกำลังไพร่พลพร้อมเครื่องอาวุธปืนครบมือ เข้าจอดเทียบท่าแล้วกระจายไปปิดล้อมฝ่ายกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ และยื่นคำขาดให้สลายการชุมนุมเสีย สุดท้ายขุนนางบุนนาคก็คุมสถานการณ์ได้

ทั้งยังสร้างความวิตกแก่เจ้าฟ้ามงกุฎหรือพระวชิรญาณภิกขุ พระองค์ต้องทรงพิจารณาหากำลังสนับสนุนที่สามารถคานอำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาค และเพิ่มหลักประกันความมั่นคงในราชบัลลังก์ของพระองค์

ดังนั้น เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) กราบบังคมทูลถวายราชสมบัติแด่พระวชิรญาณภิกขุ ตามมติที่ประชุมขุนนาง จึงเกิดการต่อรองเกิดขึ้น ในพระนิพนธ์ความทรงจำ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าถึงเหตุผลของเรื่องนี้ว่า

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงศึกษาโหราศาสตร์ ทรงเชื่อตำราพยากรณ์อยู่มาก ตรัสว่าถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ด้วย เพราะสมเด็จพระอนุชาดวงพระชาตาดีวิเศษถึงฐานที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าถวายราชสมบัติแก่พระองค์เกรงจะเสด็จอยู่ไม่ได้เท่าใด

ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าพระยาพระคลังก็ลงเรือไปเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ที่พระราชวังเดิม ทูลความตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภนั้นให้ทรงทราบ ความที่กล่าวมานี้เป็นมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระมหาอุปราชให้ทรงศักดิ์พิเศษเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สอง Second King ทรงพระนามว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เทียบเยี่ยงอย่างสมเด็จพระเอกาทศรถครั้งรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ภาพลายเส้นทหารปืนใหญ่ของกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ภาพลายเส้นในหนังสือ Narrative of a Residence in Siam)

หากในบันทึกของ มัลคอล์ม อาร์เธอร์ สมิธ (Malcolm Arthur Smith) หรือ “หมอสมิธ” แพทย์หลวงชาวอังกฤษประจำราชสำนักรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5 ให้ข้อมูลต่างไปว่า

“ผลปรากฏว่าพระองค์ทรงลังเลพระทัยเนื่องจากทรงห่างเหินจากงานราชการบ้านเมืองมาเป็นเวลานาน พระองค์ทรงเกรงว่าจะไม่สามารถแบกรับพระราชภารกิจอันใหญ่หลวงนี้ได้โดยลำพัง แต่ถ้าหากได้มีการสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองด้วยแล้ว พระองค์ก็จะทรงยอมรับในราชสมบัติ ที่ประชุมจึงเป็นอันตกลงตามข้อเสนอดังกล่าว”

ขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค) ให้เหตุผลที่แตกต่างออกไปว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ก็ทรงพระปรีชารอบรู้การในพระนครแลการต่างประเทศแลขนบธรรมเนียมต่างๆ แลศิลปศาสตร์ในการรณรงค์สงครามเป็นอันมาก พระบรมวงษานุวงษ์แลเสนาบดีทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยก็นิยมยินดีนับถือมาก เมื่อกระทำสัตย์สาบาลถวายก็ได้ออกพระนามทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระไทยสนิทเสน่หายิ่งนัก มีการรณรงค์สงครามคับขันมาประการใดจะได้ให้เสด็จไปเป็นจอมพยุหโยธาหารทั้งปวง ปราบปัจจามิตรฆ่าศึกศัตรู มีพระเดชานุภาพจะได้เหมือนสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรเหมือนกัน”

ภาพถ่ายทางเครื่องบิน เมื่อ พ.ศ.2489 บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยความสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวไปนั้น จึงสร้างความน้อยพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ไม่น้อย ดังที่มีพระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) กับจมื่นสรรเพธภักดี เมื่อ พ.ศ.2401 ระบายความอัดอั้นพระราชหฤทัยไว้ว่า

“…ขุนหลวงวังหลวงแก่ชราคร่ำคร่าผอมโซเอาราชการไม่ได้ ไม่แขงแรงโง่เขลา ได้เปนขุนหลวงเพราะเปนพี่วังหน้า ราชการแผ่นดินสิทธิ์ขาดแก่วังหน้าหมดทั้งนั้น

ถึงการทำสนธิสัญญาด้วยอังกฤษทะนุบำรุงบ้านเมืองก็ดีแต่งทูตไปก็ดี เปนความคิดวังหน้าหมด วังหลวงเปนแต่อืออือแอแอพยักเพยิดอยู่เปล่าๆ

เมื่อแขกเมืองเข้ามาหา วังหน้าต้องแอบข้างหลังสอนให้พูดจึ่งพูดกับแขกเมืองได้ วังหน้าเปนหนุ่มแขงแรง ขี่ช้างน้ำมันขี่ม้าเทศสูงสามศอกเศษ ยิงปืนทุกวัน ชอบการทหารมาก มีวิทยาอาคมดี ฤๅษีมุนีแพทย์หมอมีวิทยานับถือเข้าอยู่ด้วยมาก…

ท่านเสด็จไปทั่วบ้านด่านเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที ไปสระบุรีก็ได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปนครราชสีมาก็ได้ลาวมากว่า 9 คน 10 คน ไปพนัศก็ได้ลูกสาวพระปลัดมา ไปราชบุรีเมื่อเดือนหกนี้ ก็ได้ลูกสาวใครไม่ทราบเลยเข้ามา

แต่ข้าพเจ้าไปไหนมันก็ว่าชรา ไม่มีใครให้ลูกสาวเลย ต้องกลับมาแผลงรัง เพราะว่าคร่ำคร่าชราภาพ ผมไม่สู้ดกถึงบางยังมีอยู่บ้าง ดำอยู่บ้าง แต่หาได้จับกระเหม่าไม่ แลไกลก็เห็นเปนล้านโล้งโต้งไปข้าพเจ้าเก็บแก๊บเขาใส่ อุตส่าห์ขี่ม้าเที่ยวเล่นจะให้มันว่าหนุ่ม มันก็ว่าแก่อยู่นั้นเอง ไม่มีใครยกลูกสาวให้…”

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นแค่บางส่วนที่ กำพล จำปาพันธ์ เขียนไว้ ขอได้โปรดติดตามอ่านเรื่องราวทั้งหมด ใน “ศิลปวัฒนธรรม” เดือนมีนาคมนี้ ว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริง ในการสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อ 170 ปีก่อน

วิภา จิรภาไพศาล
wipha_ch@yahoo.com

The post การเมืองเบื้องหลังสถาปนาพระปิ่นเกล้าฯ appeared first on มติชนออนไลน์.

Viewing all 6405 articles
Browse latest View live